- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- มุมมองดร.ภาวิช ทองโรจน์ กับการเปิด-ปิดภาคเรียนให้ตรงกับอาเซียน
มุมมองดร.ภาวิช ทองโรจน์ กับการเปิด-ปิดภาคเรียนให้ตรงกับอาเซียน
"ผมเห็น ด้วยกับมติที่ประชุม ทปอ. ว่า การเปิด-ปิดภาคเรียนตรงกับอาเซียน จะส่งผลที่เหมาะสมกว่าในระยะยาว เราต้องคิดอาเซียนก็ดี ระบบการศึกษาไทยก็ดี จะไม่อยู่เพียงแค่นี้ แต่ต้องมีพัฒนาการต่อไป เช่น การเรียนการสอนข้ามประเทศ นักศึกษาแลกเปลี่ยน หากเกิดขึ้นภาพรวมจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาเอง และการเชื่อมต่อธุรกิจ"
แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับเสียงให้ทบทวนมติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ให้เปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เพราะที่ประชุม ทปอ. เคยมีการประชุมเพื่อทบทวนมติ มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปลายปี 2558 ก่อนจะยืนยัน “เดินหน้า” เปิดปิดภาคเรียนตามประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป
มาเน้นย้ำหนักแน่นอีกครั้งจาก ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธาน ทปอ.คนปัจจุบันว่า ทปอ.คงไม่ทบทวนเรื่องนี้อีก เพราะได้พิจารณาแล้วอย่างรอบคอบแล้ว
“การเปิด-ปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มอาเซียน ผมว่า ที่ประชุม ทปอ.มองไกล” ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา โดยแสดงความเห็นว่า การเปิด-ปิดภาคเรียนให้ตรงกับอาเซียนนั้นไม่สำคัญ อยู่ที่ว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะเอาอย่างไร ต้องตกลงกันให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่การยึกยักๆ กันแบบนี้
เมื่อเป็นมติ ทปอ. ก็ต้องว่าไปตามนั้น ดร.ภาวิช เชื่อว่า ทปอ.เขาคิดมาดีแล้ว อีกทั้ง ทปอ.ก็มีความชอบธรรมระดับหนึ่ง
ดร.ภาวิช กล่าวถึงการที่ที่ประชุม ทปอ.มีมติออกมาแล้วทางใดทางหนึ่ง ตามกติกา เราจะต้องยอมรับมติร่วมกันอยู่แล้ว แม้ปัจจุบันแต่ละมหาวิทยาลัยเอกเทศ จะปฏิบัติอย่างไรก็ได้อยู่แล้ว อย่างทุกวันนี้ บางแห่งเรียน 2 เทอม บางแห่งเรียน 3 เทอม มีบางหลักสูตรก็ไม่ตรงกับเวลาส่วนใหญ่ก็มีให้เห็น
การเปิด-ปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยไม่ตรงกัน ขาดเอกภาพแบบนี้ผลเสียจะตกแก่นักศึกษา สังคม เขามองว่า ในระบบของสังคมควรมีอะไรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสวน หากเปิดไม่พร้อมกัน การสำเร็จการศึกษาก็จะไม่พร้อมกัน มีผลต่อการหางานทำต่อไป
"ผมเห็นด้วยกับมติที่ประชุม ทปอ. ว่า การเปิด-ปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มอาเซียน จะส่งผลที่เหมาะสมกว่าในระยะยาว เราต้องคิดว่า อาเซียนก็ดี ระบบการศึกษาไทยก็ดี จะไม่อยู่เพียงแค่นี้ แต่ต้องมีพัฒนาการต่อไป เช่น การเรียนการสอนข้ามประเทศ นักศึกษาแลกเปลี่ยน หากเกิดขึ้นภาพรวมจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาเอง และการเชื่อมต่อธุรกิจ เป็นต้น
การเปิด-ปิด ห้วงเวลาเดียวกัน ผมว่ามีประโยชน์ เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในทวีปยุโรป ทุกมหาวิทยาลัยในยุโรป เขาจะมี European programme หากใครเรียนโปรแกรมนี้ จะมีข้อกำหนดเลยว่า อย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา หรือ 1 ปีการศึกษา นักศึกษาจะต้องไปเรียนในประเทศอื่นในยุโรป ฉะนั้น การจัดการศึกษาแบบนี้เป็นประโยชน์ ซึ่งประเทศในยุโรปเปิด-ปิดภาคเรียนตรงกัน สอดคล้องเรื่องเวลา และมีมาตรฐานเดียวกันด้วย
ย้อนกลับมาการศึกษาในอาเซียน ก็ต้องมีมาตรฐานการศึกษาที่สูงเหมือนกันด้วย เรื่องนี้ ผมเห็นด้วยกับที่ประชุม ทปอ.ที่ว่า ในเมื่อเป็นอาเซียนแล้วก็ต้องคิดร่วมกัน มีระบบต่างๆ มีความสอดคล้องกัน"
เมื่อถามว่า สถาบันการศึกษาใน 10 ประเทศของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แทบจะยังไม่มีประเทศใดปรับช่วงเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนให้สอดคล้องตรงกันเลย
ดร.ภาวิช เห็นว่า เป็นเรื่องในอนาคตที่ชาติในอาเซียนต้องพูดกัน เชื่อว่า กำลังคุยกันอยู่ และมีแนวทางพัฒนาไปให้เป็นไปทิศทางกัน
“ก็ไม่เห็นเลวร้ายนิ หากประเทศไทยจะปรับเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนให้ตรงอาเซียน และทำก่อนคนอื่น ผมว่าเราต้องคิดไปในทิศทางเดียวกันนี้แหละ”
ส่วนกรณีปัญหาการออกภาคสนามของนิสิตนักศึกษา ไม่เหมาะกับสภาพอากาศนั้น นักวิชาการด้านการศึกษา ชี้ว่า ก็สามารถจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับสภาพอากาศ ภูมิอากาศได้ ไม่มีใครห้าม ไม่ได้หมายความว่า ไปจำกัดเฉพาะเรื่องเปิดเทอม ปิดเทอม
สำหรับนักศึกษาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เปิด-ปิดภาคเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ตรงกับโรงเรียน ก็ไปฝึกสอนตอนที่โรงเรียนปิด ผมก็ไม่เห็นว่า จะเป็นปัญหาแต่อย่างใด
กรณีมีการแสดงความเห็นห่วง รอยต่อ ระบบการเปิด-ปิดเรียนของไทย ขณะนี้ยังคงเป็น 2 ระบบอยู่ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐานเปิด-ปิดระบบเดิม แต่ระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่เป็นแบบเดียวกับอาเซียน ทำให้นักเรียนชั้น ม.6 หรืออาชีวศึกษาที่จะเรียนต่อระดับอุดมศึกษา มีรอยต่อนาน 6 เดือน กว่ามหาวิทยาลัยจะเปิดเทอม
รวมถึงอาจเกิดการแย่งกันรับเด็กกันระหว่างมหาวิทยาลัยใหญ่กับมหาวิทยาลัยเล็กๆ นั้น
อดีตเลขาธิการ กกอ. ยืนยัน นี่คือข้อเสียของการทิ้งระยะเวลานานขึ้นกว่าจะเข้ามหาวิทยาลัย หากจะนับการเรียนตั้งแต่ ม.1- มหาวิทยาลัย จากที่เคยใช้เวลา 10 ปี ทำแบบนี้ก็กลายเป็น 10ปีครึ่ง มีเวลาทิ้งช่วงเกือบครึ่งปี
แม้นี่คือข้อเสีย แต่ข้อเสียนี้จะหมดไป หากโรงเรียนมาขยับการเปิด-ปิดภาคเรียน ให้เข้ามาใกล้มหาวิทยาลัยมากขึ้น
“การเปิด-ปิดภาคเรียนให้ตรงกับอาเซียน มหาวิทยาลัยทำ เขาก็อยากให้โรงเรียน การศึกษาระดับพื้นฐานทำด้วย แต่ด้วยเหตุผลอะไรไม่รู้ สพฐ. ก็ประกาศไม่ทำ ไม่รู้เอาเหตุอะไรมาพูดกัน แต่เข้าใจใช้ความชอบไม่ชอบ อยากทำไม่อยากทำมากกว่า”
การที่สถาบันอุดมศึกษา เปิด-ปิดเรียนตรงกับอาเซียน แล้วทำให้ ม.6 มีช่วงเวลาว่างนาน ก็มีข้อดีเช่นกัน ทำให้กระบวนการคัดเลือกคนเข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้น มีเวลาแล้ว ซึ่งเมื่อมหาวิทยาลัยมีเวลาคัดเลือกเด็กแล้ว อย่ามาคัดเลือกเด็กนอกเวลา (สอบตรง รับตรง ลงไปรับตรงระดับคณะ) อีก
“การเปิดสอบตรงเอง มีการสอบเกือบทุกเดือน กลายเป็นว่า ไปรวนเรื่องการเรียนของเด็กในชั้น ม.6 ระบาดไปรับระหว่างที่เด็กกำลังเรียน ซึ่งมหาวิทยาลัยที่มีสำนึกต่อสังคมไม่ควรทำอย่างยิ่ง
การรับตรงของมหาวิทยาลัยทำให้ระบบเสียหายมาก 1. ทำลายระบบการศึกษาพื้นฐาน 2.สร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 3.ทำลายเรื่องของการเปิดโอกาส เนื่องจากสมัยก่อนการรับตรง ให้ทำได้เฉพาะมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด และเป็นโควตาของเด็กในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะรับตรง รับได้เฉพาะเด็กที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ ที่เหลือรับตรงกลาง แต่หลักการนี้ทุกวันนี้หายไปหมดแล้ว” ดร.ภาวิช เน้นน้ำ พร้อมกับมองว่า เรื่องนี้สร้างความเสียหายมาก นี่คือ การแย่งรับเด็กกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่ควรทำ ต้องคิดถึงส่วนรวม
ทั้งนี้ ดร.ภาวิช ได้ยกตัวอย่าง การสอบรับตรง บางทีก็ทำอย่างไม่มีเหตุผล เช่น คณะหนึ่งจะรับเด็ก 200 คน แทนที่จะรับทีเดียว แต่จัดสอบหลายครั้ง ครั้งที่ 1 รับไว้ 20-30 คน ครั้งที่ 2 รับไว้ 20-30 คน “ไม่รู้ทำทำไม เด็กก็กลุ่มเดิมที่ไปสอบ ยังมีอีกเด็กที่เรียนเก่งๆ สอบได้ทีเดียว 4-5 แห่ง ก็กั๊กไว้ก่อน จนไปตัดสินใจวันสุดท้าย กลายเป็นว่า เบียดบังโอกาสของเด็กไม่มีเงิน”
สุดท้ายมุมมองต่อระบบการศึกษาไทย ดร.ภาวิช แสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า การศึกษาไทยไม่เป็นผู้นำในอาเซียนอีกต่อไปแล้ว เราเสียรังวัดไปเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยไทยจากที่เคยดีที่สุดในอาเซียน เดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่ สิงคโปร์มีมหาวิทยาลัยขึ้นระดับโลกไปแล้ว ฉะนั้น การศึกษาไทยจะอยู่เฉพาะในกะลาครอบไม่ได้...
ที่มาภาพ:http://www.qlf.or.th