- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์:กฎหมายจีเอ็มโอมีรูรั่วมากมาย
ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์:กฎหมายจีเอ็มโอมีรูรั่วมากมาย
"การทำความสะอาดเพื่อให้ปราศจากจีเอ็มโอ หลังปนเปื้อนไปแล้ว เป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เงินมหาศาล ตรงนี้เป็นการตัดสินใจ ครั้งหนึ่งหากพลาด คือการฆ่าตัวตายทันที"
"เรากำลังเดินมาสู่บทโศกเศร้าของภาคเกษตรของไทย" ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นนำ ก่อนวิเคราะห์ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และสถานการณ์ในปัจจุบัน
รวมถึงอธิบายถึงความจำเป็นที่คนไทยต้องลุกขึ้นมาปกป้องรากฐานด้านการเกษตรของไทยไว้ในเวทีที่สภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และกลุ่มได้รับผลกระทบ จัดประชุมด่วนเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายจีเอ็มโอ ณ เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับการศึกษาพันธุกรรมท้องถิ่นของพืชท้องถิ่นหลายๆ ชนิด สิ่งที่เห็นคือ เรายังมีอัญมณีทางพันธุกรรมซ่อนอยู่มากมาย ซึ่งอัญมณีบางส่วนยังไม่เคยถูกขุดขึ้นมาเจียระไนเลย
"ผมเศร้าใจทำไมที่ผ่านมาระบบการศึกษาวิจัย หรือการให้ค่าของหน่วยงานของรัฐ ทำไมไม่เคยมีแว่นขยายอันเฉียบคมสอดส่องให้เห็นอัญมณีพันธุกรรมเหล่านี้เลย เรามีการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ความแปรผันทางพันธุกรรม ลักษณะความโดดเด่นทางพันธุกรรม ลักษณะทางพันธุศาสตร์ นำไปสู่คุณค่าทางอาหาร"
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ยืนยันว่า คุณค่าทางพันธุกรรม คือความมั่นคงทางอาหาร ถือเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของความมั่นคงชาติ โดยในความเป็นจริงรัฐควรให้ความใส่ใจ ให้ความสำคัญ ปกป้องรากฐานความมั่นคงของชาตินี้ แต่วันนี้เรากำลังผ่านบทเศร้าที่คณะรัฐมนตรีได้ผ่านกฎหมายจีเอ็มโอ ที่มีรูรั่วมากมาย กฎหมายนี้จะทำลายรากฐานทางทรัพยากรทางพันธุกรรม
พูดตรงๆ คือ ทำลายความมั่นคงทางอาหารของไทยอย่างสิ้นเชิง
"มิน่าเชื่อว่า รัฐบาลที่ต้องปกป้องความมั่นคงของชาติ กลับสะดุดขาตัวเองทำลายความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นความมั่นคงของชาติถาวร หลายคนคงเคยได้ยิน เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาคือของจริง นี่คือความมั่นคงอย่างถาวร"
และจากการไปศึกษาความสัมพันธ์ทางด้านพันธุกรรม นักวิชาการจุฬาฯ ยืนยันว่า พืชแต่ละชนิดมีโอกาสผสมข้ามพันธุ์ แม้กระทั่งข้าว พืชผสมตัวเอง โดยพร้อมผสมข้ามพันธุ์ 4% ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ
"การผสมข้ามพันธุ์หากอุบัติขึ้นเราจะเรียกว่า เหตุสุดวิสัยหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเกิดความล่มสลายทางพันธุกรรมท้องถิ่นทันที"
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชี้ว่า ประเทศไทยมีข้าวที่เป็นพันธุกรรมท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 300-400 สายพันธุ์ มีข้าวโพดหลายพันธุ์ ปัจจุบันชาวบ้านครอบครองพันธุกรรมเหล่านี้ แต่หากวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อมีการทดสอบข้าวโพด GMO ที่หลุดรอดออกไป โอกาสรักษาฐานทรัพยากรเหล่านี้จะสูญสิ้นไปทันที แล้วกระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ย้อนกลับไม่ได้เลย
"การทำความสะอาดเพื่อให้ปราศจากจีเอ็มโอ หลังปนเปื้อนไปแล้ว เป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เงินมหาศาล ตรงนี้เป็นการตัดสินใจ ครั้งหนึ่งหากพลาด คือการฆ่าตัวตายทันที"
ฉะนั้น เขาเห็นว่า ภาครัฐอาจเดินด้วยความรู้ไม่ถึง ความไม่รู้ เข้าใจผิด หรือผิดพลาดบางกรณี ว่าเขากำลังเดินนโยบายนำพาประเทศไปสู่การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางด้านเกษตรกรรม ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องใหญ่มาก
"เรามีสนช.ไปดูงานต่างประเทศ เขาอาจดีใจให้เห็นเทคโนโลยี แต่ผมอยากให้สนช.ไปเดินไปกอดคอ กับพ่อ กับผู้ใหญ่ เดินไปดูชุมชน ท้องถิ่น ดูอัญมณีทางพันธุกรรม ซึ่งจะได้เห็นทางกลับกันทำไมอัญมณีเหล่านี้จึงเชื่อมโยงกับปากท้อง และความมั่นคงทางอาหาร เมื่อแลกกับสิ่งที่เป็นผงเข้าตาในปัจจุบัน
ผมเสียใจกับการตัดสินใจบุ่มบ่ามครั้งนี้ของรัฐบาล ยังปราศจากการเตรียมตัวในกระบวนการที่เราต้องนำภาคเกษตรกรรมทั้งหมดไปรองรับ ถามว่า ภาครัฐเตรียมการอย่างอื่นหรือไม่
เมื่อรอบประเทศยังไม่มีใครต้อนรับจีเอ็มโอ เมื่อภาครัฐตัดสินใจเช่นนี้ สิ่งที่ตามมาทันที ภาคการส่งออกต้องถูกตรวจสอบวิเคราะห์อาหาร ต้นทุนเหล่านี้ใครเป็นคนแบก สุดท้ายก็ย้อนกลับไปหาต้นทาง คือเกษตรกรทางอ้อมโดยปฏิเสธไม่ได้
ปัจจุบันห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็ปที่ตรวจวิเคราะห์อาหารเพื่อรับรองมีน้อยมาก และห้องแล็ปก็ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญอย่างมากมารองรับ ผมกล้าพูดบางแล็ปตรวจได้ เป็นหรือไม่เป็นจีเอ็มโอ แต่เมื่อภาครัฐอนุญาตให้มีการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอโดยเปิดเผยอย่างหน้าด้านๆ ท่านต้องการคนที่มีองค์ความรู้ลึกไปกว่านั้น ไม่ใช่ตรวจผิวเผินเฉพาะมีหรือไม่มีจีเอ็มโอ แต่ต้องลงลึกถึงยีนส์ สายพันธุ์ไหน ผลกระทบของยีนส์แต่ละตัวที่ไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปนในห่วงโซ่อาหารในระดับความรุนแรงที่ไม่เท่ากันเลย"
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ตั้งคำถามให้คิด เรามีบุคลากรเพียงพอแล้วหรือไม่ เรามีห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องไม้เครื่องมือเพียงพอหรือไม่ ขณะที่รัฐกำลังบุ่มบ่ามเดินหน้าเพื่อแลกกับอะไรบางอย่าง
"thesis ปริญญาเอกผมดัดแปลงพันธุกรรม ผมมีโอกาสไปตรวจวิเคราะห์พืชจีเอ็มโอ ผมเห็นข้อมูล 2 ด้าน กล้าพูด เราได้ไม่คุ้มเสีย สำหรับประเทศไทย ยิ่งหากผลกระทบหลุดไปสู่สิ่งแวดล้อมเรามีนักสิ่งแวดล้อม มีคนเข้าใจหรือไม่ มีนักกฎหมายที่เป็นวิทยาศาสตร์ และเชี่ยวชาญสิทธิบัตรหรือไม่ บุคลากรที่มารองรับเมื่อปัญหาเกิดขึ้น เราก็ไม่มี เรากำลังดิ้นรนหากไม่เกาะรถไฟขบวนนี้ เราจะตกรถไฟขบวนนี้แล้ว ซึ่งแลกกันไม่ได้"
อ่านประกอบ:กรีนพีซฯ เรียกร้อง สนช.ยุติพิจารณาร่าง กม.จีเอ็มโอ
เปิด 4 ความเห็น สภาพัฒน์ฯ ต่อร่างกฎหมายจีเอ็มโอ
สภาเกษตรกรฯ จี้รัฐทบทวนร่างกม.จีเอ็มโอ หวั่นไม่เพียงทุบหม้อข้าว ยังเผาบ้านตัวเอง
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ:เงื่อนงำชัดเจนดันร่างกม.จีเอ็มโอผ่าน ครม.
พ.ร.บ.ตัดแต่งพันธุกรรมกำลังกลับมาอาละวาดอีกที.....
ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ....
เอ็นจีโอ ชี้ 'ประยุทธ์ มองให้ออก GMO ปัญหาความมั่นคงชาติ ทำลายเกษตรกรรายย่อย
ปลุกผู้บริโภคตื่นรู้ ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ ชี้พืช GMOs กระทบฐานผลิตระบบอาหาร