- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- อานันท์ ปันยารชุน: "เรายังไม่พยายามค้นหาเหตุที่แท้จริงของความแตกแยกในเมืองไทย"
อานันท์ ปันยารชุน: "เรายังไม่พยายามค้นหาเหตุที่แท้จริงของความแตกแยกในเมืองไทย"
"...ขออย่างเดียวเมื่อยึดมาแล้วให้ทำจริง ทำทุกอย่างเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง จะใช้เวลานานเท่าไหร่ไม่รู้ แต่อย่ายืดเวลาให้ตัวเองมากเกินไป และหากมีคอร์รัปชันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แล้วไม่แก้ปัญหาอย่างแท้จริง..."
วันที่ 16 มิถุนายน 2558 นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล SVN AWARD ประจำปี 2557 ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายในเนื้อแท้ของการดำเนินกิจการและเชิดชูองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ สร้างผลดีให้กับสังคม ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ
นายอานันท์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีสถานการณ์ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ อยู่ในระยะอันตรายมาก ผมอายุจะ 83 ปีแล้ว ยังไม่เคยเห็นวิกฤตที่รุนแรง ลึกซึ้ง แผ่ขยายไปทั่วสังคมมากเท่านี้ เรากำลังอยู่ในภาวะ ‘งงงัน’ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากความคิดและนโยบายของคนบางกลุ่ม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนพอใช้ จนทำให้เกิดการปะทะ โจมตี โดยไม่คำนึงถึงความจริง สร้างความแตกแยก
เพราะฉะนั้นเกือบ 1 ปี ที่ผ่านมา คนไทยรู้สึกใจหดหู่ มีความหวาดกลัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยนำสถาบันอันเป็นที่เคารพของคนไทยส่วนใหญ่มาใช้เป็นเครื่องมือของทั้งสองฝ่าย ทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไทย คือ ความโลภ ความหลง และความไม่พอเพียง เป็นปัจจัยทำให้เรื่องความคิดและนโยบายเลยเถิดไปเกินขอบเขต ยากจะเยียวยา
“คนมีความหวาดกลัวและความเบื่อหน่ายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นประจำวัน จนกระทั่งทำให้คนดีและคนไม่ดีต้องสูญเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย ครั้งนั้นเมืองไทยถึงตาจน และมีความพยายามก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญหรือระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เจอจุดตันต่าง ๆ จนกระทั่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างที่ทราบกัน”
ในทางทฤษฎีไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำซาก แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจริงจัง เป็นเพียงเหล้าขวดเก่า ซึ่งเติมน้ำเหล้าใหม่ใส่แทน ทั้งที่ขวดเก่ายังสกปรก และเป็นขวดที่คนเบื่อระอา หลายครั้งเราพยายามทำและสุดท้ายก็กลับไปรูปแบบเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะกล่าวได้ว่า สิ่งที่ทำไปผิดหรือถูก แต่สิ่งที่ผมแน่ใจ คือ คนจำนวนไม่น้อยเบื่อระอา และมีความดีใจอย่างเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบางสิ่งบางอย่างในเมืองไทยที่ให้โอกาสใหม่กับคนไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเวลาผ่านมาหลายเดือนแล้ว รัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจดีและพยายามอยู่
ขณะเดียวกัน หลายสิ่งหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายหรือการเมือง รู้สึกว่า คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่พูดไม่ได้ มีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัด ผมไม่พูดถึงเรื่องจะเสียของ และไม่พูดถึงสาเหตุยังไม่เกิดความปรองดอง แต่สิ่งหนึ่ง คือ เรายังไม่พยายามค้นหาเหตุที่แท้จริงของความแตกแยกในเมืองไทย"
นายอานันท์ ยังขยายความถึงสาเหตุความแตกแยกว่า "ตัวบุคคลก็คงมีส่วนบ้าง แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล และหลายสิ่งหลายอย่างไม่เกี่ยวกับนโยบายที่รัฐบาลในอดีตและปัจจุบันกำลังทำ ไม่ใช่เรื่องการต่อสู้ระหว่างคนที่นิยมประชาธิปไตยหรือไม่นิยมประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องของความไม่ยุติธรรมในสังคม ความเหลื่อมล้ำ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ"
"การที่คนส่วนใหญ่ถูกปิดปากก็ดี พูดไม่ได้ก็ดี ชุมนุมไม่ได้ก็ดี เพิ่มความอึดอัดเป็นทวีคูณเหมือนกัน"
อดีตนายกรัฐมนตรี ยังมองว่า ขณะนี้เหตุการณ์สงบ แต่เป็นเพียงผิวเผิน สังคมจะอยู่ไม่ได้ในอนาคต หากความสงบเกิดจากกฎหมายเข้มงวด มีมาตรการทำให้คนพูดไม่ออกหรือพูดไม่ได้ เป็นสังคมปิดอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ความโปร่งใสก็ไม่เกิดขึ้น ขาดหลักธรรมาภิบาล ไม่มีการแสดงความรับผิด และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยแท้จริง
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แล้วปัจจุบันจะเดินไปทางไหน
"ผมอยากเป็นพวกเสรีนิยม โดยคราวนี้ถือเป็นโอกาสอย่างมาก แต่ไม่ใช่โอกาสครั้งสุดท้ายของเมืองไทย ถ้าเผื่อเปลี่ยนแปลงแท้จริง ด้านโครงสร้างเชิงอำนาจ ทำให้ประชาชนหรือองค์กรภาคประชาชนเข้มแข็งยิ่งขึ้น จัดระเบียบใหม่ระหว่างผู้ปกครองกับราษฎร สร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของรัฐกับอำนาจของประชาชน สร้างความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม เริ่มต้นตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ระบบราชการ ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ สร้างโอกาสให้กับคนชายขอบมากขึ้น ลดอำนาจรัฐ หน่วยงานของรัฐ และหลายกระทรวงต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง"
พร้อมกันนี้ นายอานันท์ ได้ยกตัวอย่าง ‘กระทรวงศึกษาธิการ’ ต้องปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมด
"ผมเคยพูดขำ ๆ กับเพื่อน ๆ ว่าสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ต้องยุบกระทรวงศึกษาธิการ แต่หลักความจริงหมายถึงต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง ไม่ใช่ไปยุ่งทุกเรื่อง มีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเป็นหมื่นเป็นแสนแห่ง จำเป็นหรือไม่ต้องไปดูแล ใครเป็นอาจารย์ใหญ่หรือหลักสูตรเป็นอย่างไร และอาจรวมถึงกระทรวงสาธารณสุขด้วย"
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวิธีคิดของคนไทยที่เป็นอุปสรรค จำเป็นต้องมีการปรับ "เราเรียกร้องให้มีระบอบประชาธิปไตย ฝรั่งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง เรามีการยึดอำนาจคนไทย ทำในเมืองไทย กระทบกระเทือนชีวิตคนไทย กระทบกระเทือนระบบการเมืองไทย ฝรั่งบอกไม่ดี ไม่น่าคบ อย่าไปเชื่อฝรั่ง เป็นความเห็นแก่ตัวของฝรั่งตะวันตก"
นายอานันท์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่กล่าวหาเราทำไม่ดี ฝรั่งทำไม่ดีมาแล้ว 200 ปีอย่างน้อย แม้แต่ประเทศที่ฝรั่งไปปกครองก็ยุให้แตกแยกกัน ทุกประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศนั้น ๆ ยังแตกแยกตลอดมา ดังเช่น พม่า หรือมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองหรือการปกครองในปานามา นิคารากัว เอกวาดอร์ ชิลี บราซิล อาร์เจนตินา อัฟกานิสถาน อิหร่าน
"การเข้าไปแทรกแซงประเทศอื่น หรือไปช่วยรัฐประหารในประเทศอื่น จุ้นจ้านไปทุกแห่ง ในยูเครน อียิปต์ ซึ่งก็มีการรัฐประหารแน่นอน ด้วยการอุดหนุนและส่งเสริมมหาอำนาจ แต่เนื่องจากผลประโยชน์ในประเทศมีค่อนข้างมาก จึงบอกว่านั่นไม่ใช่รัฐประหาร ฝรั่งจึงไม่ดี แต่เราก็ไม่ดีนัก ฝรั่งค่อนข้างเลวกว่า เพราะไปยุ่งประเทศอื่น แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้"
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า หากเรายังหมกมุ่นเรื่องในอดีต ทะเลาะเบาะแว้งกับฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เหตุแห่งรากเหง้า โดยขณะนี้ทุกประเทศพูดถึงความยุติธรรมในสังคม ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีประเทศไหนที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ของคนในประเทศ ไม่ใช่เฉพาะคนส่วนใหญ่เท่านั้น
ทั้งนี้ ยังเสนอแนะควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับคนยากจน คนขาดโอกาส คนทุพพลภาพ คนแก่ เด็ก เพราะเราเกิดมาตั้งแต่แรก ความแตกต่างมีอยู่แล้ว จากการที่ครอบครัวหนึ่งส่งลูกไปโรงเรียนที่มีคุณภาพ ไปจนขั้นมหาวิทยาลัย ทุกประเทศกำลังเรียกร้อง และหากปฏิรูปต้องมีเป้าหมายแน่นอน พูดเปรย ๆ ไม่ได้ ซึ่งการปฏิรูปตำรวจถือเป็นหัวใจสำคัญ เริ่มแตกแยกกันแล้ว
ดังนั้น จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยหลายสิ่งหลายอย่างขึ้นอยู่กับการศึกษา แบ่งเป็น
1.การเปลี่ยนแปลงต้องธำรงไว้ซึ่งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
2.การเปลี่ยนแปลงต้องทำให้คนทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกภาษา ทุกศาสนา ได้รับผลประโยชน์ทัดเทียมกัน และเกิดการมีส่วนร่วม
3.การเปลี่ยนแปลงต้องทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปกครองหลักนิติธรรม ไม่ใช่กฎหมาย
“ผมไม่ขอให้ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา เพราะไทยไม่เคยมีประชาธิปไตย แต่ต้องทำให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แตกต่าง สังคมไทยพูดไม่จริงตลอดเวลา ถ้าเผื่อเป็นสังคมต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น และประชาชนเข้าถึงความรู้”
ทั้งนี้ ผู้มีอำนาจในเมืองไทยต้องไม่ตกหลุม สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่มี ฉะนั้นต้องเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ใช้โอกาสนี้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั่วถึงกัน โดยไม่คำนึงถึงเพศ ศาสนา หรือความเชื่อถือ และพยายามสร้างเสาหลักของประชาธิปไตย
การเลือกตั้งนั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ในระบบปกครอง เห็นได้ชัดวิกฤตที่เกิดขึ้นในสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) ขณะนี้
“ขออย่างเดียวเมื่อยึดมาแล้วให้ทำจริง ทำทุกอย่างเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง จะใช้เวลานานเท่าไหร่ไม่รู้ แต่อย่ายืดเวลาให้ตัวเองมากเกินไป และหากมีคอร์รัปชันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แล้วไม่แก้ปัญหาอย่างแท้จริง ความน่าเชื่อถือหรือความนิยมที่คนมีในขณะนี้จะหายไป เมื่อถึงตอนนั้นแล้วการปฏิรูปจะไม่เกิดประโยชน์” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่สุด .