- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- ภารกิจเข็นครก รักษ์ป่าน่าน ปีที่ 2 "เจ้าสัวบัณฑูร" บอกวันนี้ยังไม่ชนะ-ไม่แพ้
ภารกิจเข็นครก รักษ์ป่าน่าน ปีที่ 2 "เจ้าสัวบัณฑูร" บอกวันนี้ยังไม่ชนะ-ไม่แพ้
"ระบบชลประทาน ในแต่ละพื้นที่ของ จ.น่าน มีระบบชลประทานใช้ก็จริง แต่ไม่ได้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี นี่คือช่องโหว่ ไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม หากตื่นเช้าขึ้นมา ไม่มีน้ำ แพ้เหมือนกัน”
บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นบุคคลหนึ่งที่มีแนวคิดและมุมมองก้าวไกล ทันสมัย จนสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการธนาคารเสมอ
ปัจจุบัน "เจ้าสัวบัณฑูร" ย้ายสำมะโนครัวมมาอยู่ที่จังหวัดน่าน เรียกได้ว่า เป็นพลเมืองน่านเต็มตัว พร้อมกับหอบความมุ่งมั่นจะฟื้นฟู 'ป่าน่าน' ให้กลับคืนมาเหมือนเดิมให้เร็วที่สุด
โครงการ ‘รักษ์ป่าน่าน’ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2557 โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีผู้บริหารแบงก์รวงข้าว เป็นหนึ่งในโต้โผคนสำคัญขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้
สูงมาก ค่าเช่าเวลาให้ได้ภาพถ่ายดาวเทียม
ในโอกาสครบรอบ 1 ขวบปี ของการดำเนินงาน ผลเป็นอย่างไรนั้น ในการประชุมสัมมนา ‘รักษ์ป่าน่าน ปี 2’ ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.เมือง จ.น่าน เจ้าสัวบัณฑูร นำเสนอผลการดำเนินงาน ผ่านการบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘รู้รักษ์ป่า รู้รักษ์น้ำ’ โดยเริ่มต้นนำเสนอภาพสรุปว่า จ.น่าน มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ร้อยละ 85 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขา นับเป็นลักษณะพิเศษที่หาไม่เจอในจังหวัดอื่น
ก่อนจะชวนผู้เข้าร่วมสัมมนาดูแผนที่ขนาดใหญ่ปรากฏบนจอภาพ พร้อมกับชี้ไปยังจุดสีน้ำตาลปรากฏเป็นหย่อม ๆ
"จริง ๆ แล้วไม่น่าจะเป็นจุดสีน้ำตาล แต่ที่เป็นเพราะป่าไม่มีแล้ว กลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ ซึ่งล้วนมาจากความจำเป็นของผู้อยู่อาศัยที่ต้องหาพื้นที่ปลูกเพื่อการดำรงชีพ
วันนี้ป่าไม่เป็นป่าอีกแล้ว เพราะพื้นที่ป่าหายไปร้อยละ 20 ถือว่าอยู่ในอัตราที่ดูแล้วน่ากลัว”
เขายังชวนมองย้อนกลับไปดูสถิติหลายสิบปีก่อน ซึ่งมีการเก็บสถิติจากดาวเทียม เห็นได้ว่า พื้นที่ป่า จ.น่าน สูญเสียไปปีละ 5 หมื่นไร่ เวลาผ่านไป โดยเฉพาะ 5 ปีหลัง อัตราการสูญเสียเร็วมากขึ้น เฉลี่ยปีละ 1.5 แสนไร่
"ส่วน 1 ปีที่ผ่านมา กับความพยายามที่ทำกัน สถานการณ์ความสูญเสียพื้นที่ป่าดีขึ้นหรือไม่ ยอมรับว่า จริง ๆ แล้ว ไม่แน่ใจว่าดีขึ้น แย่ลง หรือเท่าเดิม เพราะสิ่งที่ต้องการค้นพบ คือ ตัวเลขจากดาวเทียม ยังมีข้อจำกัด คือ การอ่านพื้นที่ป่าจากภาพดาวเทียมในแต่ละวันไม่เหมือนกัน เพราะสภาพอากาศแตกต่างกัน บางวันอาจมีเมฆมาก บางวันอาจไม่มีเมฆ เราจึงไม่ได้รับตัวเลขของพื้นที่ป่าทุกวัน"
อีกทั้ง การได้มาของตัวเลขจากภาพถ่ายดาวเทียมนั้น ต้องอาศัยค่าใช้จ่ายในการเช่าเวลาของดาวเทียมที่สูงมาก เพราะฉะนั้นการมีงบประมาณที่จำกัด ทำให้ได้รับภาพเป็นระยะ ๆ อาจเจอวันฟ้าใส หรือมีเมฆ ตัวเลขต่าง ๆ จึงไม่นิ่ง
หากวัดกันในเชิงสถิติศาสตร์ เขาถือว่าการวัดผล 1 ปี น้อยเกินไป จำเป็นต้องดูในระยะยาว อย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป
ดังนั้น การทำงานขวบปีแรก ที่ได้ติดตามผลการฟื้นฟูและรักษาป่าด้วยคณิตศาสตร์ (จากดาวเทียม) จึงไม่สามารถประเมินได้ว่า การทำงานรักษาป่าน่าน กำลังเดินหน้าได้ดี ถอยหลัง ชนะ-แพ้
ขณะที่การกำหนดหน่วยรับผิดชอบในระดับตำบล แบ่งการทำงาน คือ เจ้าของพื้นที่:ผู้บริหาร 99 ตำบล จาก 15 อำเภอ กำหนดว่าตำบลนั้นเป็นเขตภูมิศาสตร์ที่น่าจะกระชับ จับต้อง และวัดผลได้ มอบภารกิจให้กับกำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และประธานสภาองค์กรชุมชน
ความรู้เชิงเทคนิคเป็นอีกหนึ่งสิ่งจำเป็นต้องมี เขาเห็นว่า ไม่ใช่ทุกชุมชนจะแก้ปัญหาเชิงเทคนิคต่าง ๆ ได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีหน่วยงานภาครัฐ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องป่า ให้ความรู้ด้านการบริหารดิน น้ำ พันธุกรรมพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เช่นเดียวกับการตลาด เพื่อมีรายได้มาควบคุมจัดการชุมชนให้อยู่ได้ มีสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ดี เช่น มีน้ำสะอาด มีการศึกษา ปลอดยาเสพติด เป็นต้น
ทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นสำคัญในชุมชนชนบท ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ต้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความตั้งใจจะไม่ทำลายสภาพแวดล้อมบ้านเมืองในระยะยาว
ถ้าคนมีพอกินพอใช้ จะไม่ตัดป่า
เจ้าสัวบัณฑูร เล่าถึงการได้มีโอกาสเดินทางไปยังตำบลต่าง ๆ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบมีการตัดป่าเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และใส่สารเคมีเร่งผลผลิต ใส่จนกระทั่งน้ำในชุมชนบริโภคกันเองไม่ได้ ถึงขนาดมีบางอำเภอที่มีพื้นที่ป่าสูญเสียไปร้อยละ 50 มีอัตราการใช้สารเคมีเพิ่มผลผลิตสูงมาก
ในที่สุดระบบน้ำใต้ดินใช้ไม่ได้ ทุกวันนี้บางชุมชนต้องซื้อน้ำขวดบริโภค แทนการใช้ตามธรรมชาติ
ปัญหาที่สำคัญ ประชาชนจำนวนไม่น้อยหนี้ท่วมหัว โจทย์นี้แม้รัฐบาลพยายามแก้ไขแล้วในทุกพื้นที่ แต่หากประชาชนไม่สามารถหารายได้ให้คุ้มค่ากับรายจ่าย อนาคตจะมีหนี้เพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสกลายเป็นประเด็นสังคมและการเมืองในอนาคต
ผู้บริหารแบงก์กสิกรไทย แนะนำให้หน่วยงานภาครัฐควรเข้ามามีบทบาท ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดน่าน กองทัพบก ตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งหน่วยงานหลังสุดถือเป็นกองกำลังที่ช่วยไทยอย่างมากในระดับชนบท
"เรื่องพืชผลทางการเกษตร จากที่เคยมีตลาดรองรับ มีคนมารับซื้อให้ราคาดี กลายเป็นรายได้ง่าย ๆ นั้น อย่างพวก ข้าวโพด ยางพารา ปัจจุบันราคาพืชผลทางการเกษตรเป็นสิ่งที่ทำนายไม่ได้แล้ว จะเข้าข้างชนบทหรือไม่
ราคาข้าวโพด ยางพารา โดยกลไกของตลาดโลกพืชผลมีราคาตกต่ำลง กลายเป็นประเด็นของทั้งประเทศ มิหนำซ้ำบางพื้นที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าจ.น่าน ยกตัวอย่างข้าวโพดในประเทศลาว ซึ่งมีการรับซื้อในราคาถูกกว่า เป็นเหตุผลหนึ่งฉุดราคาตกต่ำ ต่อให้มีผลผลิต เผลอ ๆ ก็ไม่คุ้มทุนแล้ว"
ผู้บริหารแบงก์รวงข้าว ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงในพื้นที่นี้ ได้กลายเป็นประเด็นบีบคั้นด้านคณิตศาสตร์ที่ชัดเจน คนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เมื่อมีไม่เพียงพอก็ต้องกู้เงิน เพื่อนำมาลงทุนในรอบการผลิตต่อไป
"หลายชุมชนชนบทมักไม่คำนวณตัวเลข ขอลงไปก่อน แล้วไปตายเอาดาบหน้า สุดท้ายราคาพืชผลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่สามารถสร้างคุณค่าทางการเงินให้แก่สินค้าที่ตัวเองมีอยู่ได้
สมมติฐานที่มีการพูดคุยกันมาในหลายภาคส่วนนั้น ต่างมองว่า ถ้าคนมีพอกินพอใช้ จะไม่ตัดป่า สาเหตุที่ตัดป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ไม่ใช่นำไม้ไปขาย หากเปรียบเทียบกับโรงงาน เมื่อกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น ต้องหาพื้นที่สร้างโรงงานเพิ่ม
โจรตัดไม้มีเหมือนกัน แต่จำนวนน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากคนในท้องถิ่นที่มีความจำเป็นในชีวิต มีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานทางภูมิศาสตร์จึงมีความท้าทายต่อการทำมาหากิน เพราะพื้นที่ราบริมน้ำมีน้อย”
ทำไมน่านระบบชลประทานดี แต่ไม่มีน้ำใช้ตลอดปี
ส่วนเรื่องระบบชลประทาน ในแต่ละพื้นที่ของ จ.น่าน มีระบบชลประทานใช้ก็จริง แต่ไม่ได้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี นี่คือช่องโหว่ ที่ "เจ้าสัวบัณฑูร" ค้นพบ ต่อให้มีระบบชลประทานที่ดีเพียงใด หลายพื้นที่ก็ยังไม่มีน้ำใช้ตลอดปีอยู่ดี
“ไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม หากตื่นเช้าขึ้นมา ไม่มีน้ำ แพ้เหมือนกัน”
ด้วยภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ทำให้แม่น้ำน่านไหลลงเร็วมาก หากยังปล่อยให้มีการไหลตามธรรมชาติ เขาชี้ว่า ก็จะมีน้ำใช้เพียงครึ่งปี ดังนั้น ต้องกักเก็บน้ำไว้ ซึ่งนับเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดระบบชลประทาน โดยโครงการกักเก็บน้ำแบ่งได้ 4 ระดับ คือ โครงการขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และจิ๋ว
การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ บัณฑูร มองว่า บริบทปัจจุบันดำเนินการไม่ได้แล้ว เพราะโครงการไม่มีทางผ่านการประท้วงทั้งหลายได้ ประกอบกับปัจจัยของโลกสมัยใหม่ ซึ่งคัดค้าน ยิ่งทำให้ประเทศไทยไม่มีโอกาสสร้างสร้างเขื่อนได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะสร้างกั้นแม่น้ำน่านตอนไหนก็ตาม
ส่วนโครงการระดับกลาง ประเภท อ่างกักเก็บน้ำ และฝาย ต้องกักเก็บน้ำไว้ในโครงการที่มีพื้นที่กว้างพอสมควร ทำให้จังหวัดต่อยอดไปสู่โครงการระดับเล็กและจิ๋วได้ ถึงจะเรียกว่า มีน้ำส่งถึงในชนบทใช้ได้ทั้งปี จะได้ไม่ต้องมีความรู้สึกจำเป็นว่า ต้องไปตัดต้นไม้เพิ่ม เพื่อเพิ่มพื้นที่การผลิต
“ขณะนี้แผนงานของกรมชลประทานมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จ.น่าน ทั้งสิ้น 17 โครงการ ซึ่งหากได้พื้นที่ปริมาณกักเก็บ 1 ล้านลบ.ม. จะดีมาก เพื่อฝายระดับเล็ก และจิ๋วจะได้รับช่วงต่อไปยังชุมชนต่าง ๆ”
แต่เมื่อไปตรวจสอบความคืบหน้า "เจ้าสัวบัณฑูร" กลับพบปัญหารัฐเจรจาตกลงกับชุมชนไม่ได้ เพราะโครงการทับพื้นที่ของชาวบ้าน จึงไม่มีข้อสรุป และกลายเป็นปัญหาใหญ่ของระบบชลประทาน คือ รัฐมีปัญหากับประชาชน ท้ายสุดประเทศไทยก็จะแพ้
"สาเหตุที่โครงการดำเนินงานไม่ได้ เนื่องจากกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับชุมชน ซึ่งมีข้อขัดแย้ง แต่เมื่อตรวจสอบจริง ๆ กลับพบไม่มีเจ้าภาพลงไปเจรจาที่ชัดเจนในแต่ละวัน จะหาทางออกอย่างไร เรื่องจึงได้ติดค้าง ไม่ทราบว่า เมื่อโครงการทั้งหมดประสบความสำเร็จ จ.น่านจะมีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปีหรือไม่ เพราะเรายังไม่เคยทำโจทย์ทางคณิตศาสตร์เลยว่า ความจริงแล้วควรมีโครงสร้างอ่างเก็บน้ำในระดับกลาง เล็ก และจิ๋ว เท่าไหร่"
พร้อมกันนี้ ได้เสนอตัวเลขขึ้นมาเพื่อให้เป็นตุ๊กตา ว่า
โครงการระดับกลาง ให้มีอ่างเก็บน้ำ ทั้งสิ้น 15 อำเภอ ๆ ละ 3 แห่ง
โครงการระดับเล็ก ทั้งสิ้น 99 ตำบล ๆ ละ 6 แห่ง
และโครงการระดับจิ๋ว ทั้งสิ้น 99 ตำบล ๆ ละ 9 แห่ง
รวมทั้งสิ้น 1,530 แห่ง
"การจะสร้างอะไรได้ ‘น้ำต้องมาก่อน’ ดังนั้นโครงการเกี่ยวกับน้ำต้องทำให้เสร็จ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและชุมชน เพื่อให้โครงสร้างเกิดขึ้นอย่างถาวร ทำให้ชุมชนชนบทมีน้ำใช้อย่างน้อย 9-10 เดือน และจะเพิ่มแนวทางเพิ่มคุณค่าผลผลิตทางการเกษตร เพื่อนำไปสู่รายได้ที่เพียงพอกับชีวิต อีกทั้ง สร้างยี่ห้อสินค้า ขายความเป็น ‘น่าน’ เพื่อให้แน่ใจว่าตลาดอยู่กับเรา แต่สินค้าจะต้องดีจริง ให้ตลาดโลกยอมรับได้ว่า ของเมืองน่านควรซื้อในราคาที่ดี"
ช่วงท้าย บัณฑูร ล่ำซำ ชวนให้ดูภาพ ‘ตะบันน้ำ’ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่ใช้หลักกลศาสตร์ เพื่อนำน้ำขึ้นไปใช้บนภูเขา ใช้งบประมาณ 2-3 แสนบาท ซึ่งท้องถิ่นไม่มีงบประมาณส่วนนี้แน่นอน
แต่เขาเห็นว่า พื้นที่ทำได้ และต้องทำต่อไป เพื่อ จ.น่าน จะได้มีความชุ่มชื้นในการปลูกพืชผลให้มีความกินดีอยู่ดีได้ “อะไรที่ยาก ๆ เปรียบเหมือน ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’ แต่สำหรับจังหวัดน่าน สิ่งที่ยาก คือ ‘ตะบันน้ำขึ้นภูเขา’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:สมเด็จพระเทพฯ เปิดงาน ‘รักษ์ป่าน่าน ปี 2’ ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม