- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- 'ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด' กับฉากทัศน์ชีวิตคนไทย 2576
'ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด' กับฉากทัศน์ชีวิตคนไทย 2576
วันที่ 30 ตุลาคม 2557 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 ครั้งที่ 37 เรื่อง Sustaining Thailand:ก้าวอย่างไรให้ประเทศไทยยั่งยืน ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมี ‘ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด’ ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ปาฐกถาพิเศษ ‘ฉากทัศน์ชีวิตคนไทย พ.ศ.2576’
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า รายงานเรื่อง ฉากทัศน์ชีวิตคนไทย พ.ศ.2576 จัดทำขึ้นเพื่อประมวลและจัดการความรู้เพื่อจัดการประเทศไทย โดยมุ่งเน้นนำเสนอประเด็นนโยบายสาธารณะที่ดีในอนาคต ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุม ดังต่อไปนี้
-ประเทศไทยวันนี้โชติช่วง แต่ไม่ชัชวาล
เราพบว่าไทยมีความสามารถทางการแข่งขันเป็นอันดับที่ 31 ของโลก ขณะที่จีนอยู่อันดับที่ 2 ของโลกในด้านเศรษฐกิจ และที่ 1 ของโลกในด้านกองทุนสำรอง ซึ่งนอกจากจะมีตำแหน่งทางการแข่งขันไม่ดีแล้ว ไทยยังติดกับดักทางรายได้ปานกลาง เพราะสืบเนื่องจากปรากฏการณ์ประเทศที่เคยพัฒนาสูงและตกลงต่ำ จนไม่มีทีท่าจะขยับตัวสูงขึ้นได้
“ไทยจะก้าวข้ามกับดักทางรายได้ปานกลางได้ภายใน 15 ปี เมื่อมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี แต่ปัจจุบันมีอัตราการเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2 ต่อปี”
ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษาฯ ระบุถึงสาเหตุไทยติดกับดักทางรายได้ปานกลางว่า เกิดการกับดักทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ด้วยที่ผ่านมามีการลงทุนเฉพาะคนที่อยู่ในระบบการศึกษาแค่ 2 ล้านคน แต่อีก 20 ล้านคน ไม่ได้รับการอบรมอย่างต่อเนื่อง และผู้ได้รับการศึกษาทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ แต่เรื่องเหล่านี้มหาวิทยาลัยกลับไม่เคยศึกษาวิจัย หรือทำแล้วนำมาใช้ไม่ได้ หรือมัวสอนหนังสือเพื่อปั๊มใบปริญญาเลยไม่มีเวลาทำ
นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศร่อยหรอลง รายได้จากภาษีที่มีไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาดำเนินโครงการ และภาคเอกชนขาดนวัตกรรมเป็นของตนเอง
ล้วนเป็นสาเหตุทำให้คนไทยติดกับดักทางรายได้ปานกลางทั้งสิ้น
เมื่อมองถึงชีวิตคนไทยปัจจุบัน ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ บอกว่า มีความบริบูรณ์ขึ้น แต่อบอุ่นน้อยลง เพราะต้องอาศัยอยู่ในห้องแคบ กินข้าวจากถุงพลาสติก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ อีกทั้ง เกษตรไม่ใช่รายได้หลักของคนไทยอีกต่อไป เพียงแต่โครงการรับจำนำข้าวทำให้คิดว่า ไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรม รวมถึงครอบครัวแหว่งกลาง ผู้ใหญ่อาศัยอยู่กับเด็ก ค่าใช้จ่ายหมดไปกับสิ่งบันเทิง ยาสูบ มากกว่าการศึกษา และมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษาฯ กล่าวถึงประเด็นสุขภาพของคนไทยจะมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น 74.3 ปี เป็นอันดับ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาเหตุที่ไทยยังมีอันดับต่ำ เพราะในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อเอชไอวีสูงปีละ 5.3 แสนคน
ทั้งนี้ เชื่อว่าอีก 20 ปี เชื้อดังกล่าวจะเริ่มหายไปจากคนไทย เพราะจะหันไปมีเพศสัมพันธ์ในจินตนาการมากขึ้น
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงสิ่งที่น่ากังวล คือ คนไทยจะประสบปัญหาด้านสุขภาพทางจิตมากขึ้น หลายคนพยายามฆ่าตัวตาย แต่อาจจะสำเร็จน้อยลง เพราะปัจจุบันมีเครื่องมือป้องกันตรวจดูแล
สำหรับความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชนบทของประเทศ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ เปรียบเป็นดั่ง "ชีวิตในทวิภพ" จะมีการผสมผสานกันระหว่างสมัยเก่ากับใหม่ และกลายเป็นตลาดใหญ่ของการอุปโภคบริโภค เกิดการขยายตัวทางภาคบริการสูงมาก แรงงานข้ามชาติแทรกซึมทั่วทุกพื้นที่ มีการถือครองที่ดินจากคนเมืองและชาวต่างชาติมากขึ้น แต่คนไทยกลับเข้าไม่ถึง
“เกษตรกรรมดั้งเดิมจะค่อย ๆ เกษียณอายุ กลายเป็นเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าในอีก 20 ปี ข้างหน้า ภาคเอกชนจะมีความยิ่งใหญ่มาก” ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษาฯ กล่าว และว่า ที่น่าสนใจ คือ เกษตรกรรมทางเลือกจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นเกษตรแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องผลักดันนโยบายศึกษาวิจัยด้วย
ประเด็นสุดท้ายในชั้นแรก ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ระบุถึงภาคอุตสาหกรรมผ่านมาและผ่านไป โดยประสบปัญหาค่าแรงสูง จึงเป็นไปได้หรือไม่จะจัดเก็บภาษีแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไทยไม่ตาย แต่เลี้ยงไม่โต ฉะนั้นในฐานะเป็นฐานการผลิตยานยนต์อันดับต้นของโลก ภาครัฐควรผลักดันนโยบายยานยนต์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Ecology Car)
-กระแสโลก
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ อ้างถึงคำกล่าวของศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยยกทฤษฎีบูรพาพยัคฆ์ที่มีจีนเป็นหัวขบวนรถด่วน ฉะนั้นไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทำให้เมืองชายแดนกลายเป็นศูนย์กลาง พร้อมกับมองประเทศเพื่อนบ้านในแง่ความร่วมมือและเสริมสร้างโอกาส ไม่ใช่ศัตรู
ยกตัวอย่างการเตรียมพร้อมของจีน โดยจากวันนี้ต่อเนื่องไป 20 ปี จีนเตรียมให้บริษัท โบอิ้ง ผลิตเครื่องบินจำนวน 6,000 ลำ เพราะรองรับการสร้างสนามบิน 6,000 แห่ง และเปิดรับนักบินอีกราว 2 แสนคน ซึ่งจะนำมาสู่การเชื่อมโยงในไทยด้วย
“จีนและอินเดียกำลังเข้ามาในไทยทุกระดับ และอาจเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่มีนักวิจัยเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับจีนเลย ทว่า จีนรู้เรื่องเกี่ยวกับไทยดีกว่า แล้วจะทันกินได้อย่างไร ฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการ” ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษาฯ กล่าว
-กระแสไทย
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะต้องใช้เงินในกับการดูแลมากขึ้น จึงต้องมาช่วยกันคิดทำอย่างไรให้ ‘อาวุโส โอเค’ ส่วนการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่น่าพูด แต่คงพูดไม่ได้ เพราะอยู่ในช่วงคืนความสุขแก่ประเทศ
-ความท้าทาย
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ระบุว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำถือเป็นความท้าทายของไทย และส่วนตัวสนับสนุนให้รัฐบาลผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากกว่าภาษีมรดก ส่วนด้านการจัดการพลังงานเป็นอีกสิ่งสำคัญ ต้องส่งเสริมให้ประหยัด และสร้างทางเลือกพลังงานใหม่อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้การรวมศูนย์อำนาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและคอร์รัปชันสูง จะต้องส่งเสริมการกระจายอำนาจ ให้มีการจัดเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เพื่อฝึกความเป็นประชาธิปไตยในระดับพื้นที่
-ฉากทัศน์ชีวิตคนไทย 2576 (จินตนาการ)
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ชวนจินตนาการภาพเเรก ซิมโฟนี ปี่พาทย์ ที่เปรียบกับชีวิตของเราต้องอยู่ในกฏระเบียบชัดเจน ทุกคนมีหน้าที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รู้จักบทบาทของตนเอง ทว่า ต้องปฏิบัติตามวาทยกร
ทำให้นึกถึงการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง แต่เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงจะนำมาสู่การกลับมาของรัฐบาลและความขัดแย้งของประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้จะมีความเหลื่อมล้ำ เกิดคนสูงวัยอาศัยอยู่อย่างเดียวดาย จะมีแนวคิดรับไทยใหม่ และชีวิตเสมือนติดกับดักดิจิทัล
สำหรับภาพจินตนาการที่สองนั้น ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษาฯ กล่าวว่า เราจะมีชีวิตอิสระและเสรีภาพมากขึ้น กฎระเบียบต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนประยุกต์เท่าทันสถานการณ์ ท้องถิ่นจะมีความสามารถแตกต่างกันขึ้นอยู่กับผู้นำ และจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่น คนเมืองจะเลือกอาศัยในชนบท ตลอดจนถึงมีแรงงานข้ามชาติได้เป็นคนไทย แต่ปัญหาคนชายขอบกลับยังไม่หมดไป .
หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสาร ฉากทัศน์ชีวิตคนไทย พ.ศ.2576 ฉบับเต็มได้ที่ www.tuhpp.net