- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- สุพจน์ เธียรวุฒิ : ‘5G ที่จะได้ใช้ในปีนี้ แม้จะเร็วขึ้น แต่ไม่ใช่ 5G ที่แท้จริง’
สุพจน์ เธียรวุฒิ : ‘5G ที่จะได้ใช้ในปีนี้ แม้จะเร็วขึ้น แต่ไม่ใช่ 5G ที่แท้จริง’
“…เมื่อย่านความถี่ที่ทุกคนอยากได้ไม่ได้มีการนำมาประมูล ส่วนคลื่น 1800 MHz และ 2600 MHz ที่นำมาประมูลก็น้อยเกินไป เมื่อนำมาให้บริการ 5G จะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างกับ 4G มากนัก…”
ใกล้เข้ามาทุกที กับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz เพื่อให้บริการ 5G ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 ก.พ.2563 ซึ่งล่าสุดมีผู้ประกอบการในกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม เข้ารับซองเอกสารการประมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว 5 ราย
ประกอบด้วย 1.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE
2.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเกชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC
3.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT 4.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และ5.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
โดยสำนักงาน กสทช. คาดว่า หากผู้ประกอบการประมูลคลื่นไปครบทั้งหมด 56 ใบอนุญาต จะทำให้มีเงินรายได้เข้ารัฐเริ่มต้นไม่น้อยกว่า 123,119 ล้านบาท
“ผมไม่คิดว่าการประมูลจะแข่งขันกันรุนแรง เพราะคลื่นที่ทุกคนต้องการ คือ คลื่น 3500 MHz และคลื่นที่ กสทช.นำมาประมูลรอบนี้ เอกชนน่าจะประมูลไม่หมด เพราะแค่ได้คลื่นไปรายละ 1,000 MHz ก็นับว่าเหลือเฟือแล้ว” สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org
สุพจน์ อธิบายว่า คลื่นที่ กสทช.นำมาเปิดประมูล 5G รอบนี้ 3 ย่านความถี่ 4 คลื่น ได้แก่ 1.ย่านความถี่ต่ำ คือ คลื่น 700 MHz จำนวน 3 ชุดๆละ 2X5 MHz 2.ย่านความถี่กลาง คือ คลื่น 1800 MHz จำนวน 7 ชุดๆละ 2X5 MHz คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ชุดๆละ 10 MHz และ3.ย่านความถี่สูง คือ คลื่น 26 GHz จำนวน 27 ชุดๆละ 100 MHz นั้น
จะพบว่าแต่ละคลื่นมีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกัน คือ คลื่น 700 MHz เป็นคลื่นที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายเดิมมีอยู่แล้วรายละ 10 MHz ซึ่งได้จากการจัดสรรคลื่นล่วงหน้าในคราวที่ กสทช.ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แต่คลื่น 700 MHz ยังใช้การไม่ได้จนกว่าจะถึงวันที่ 1 ต.ค.2563 จึงไม่แน่ใจว่าเอกชนยังต้องการคลื่นนี้เพิ่มหรือไม่
ส่วนคลื่น 26 GHz ที่จะนำมาเปิดประมูลถึง 27 ชุดๆละ 100 MHz นั้น จะพบว่าคลื่น 26 GHz แม้ว่าคลื่นนี้จะมีความคมชัดสูง แต่มีข้อเสีย คือ ความสามารถในการทะลุทะลวงกำแพงอาคารทำได้ไม่มาก ไม่ต่างจากสัญญาณไวไฟ หากเอกชนที่ได้คลื่นนี้ไป จะมีภาระลงทุนตั้งเสาสัญญาณหรือจุดปล่อยสัญญาณเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนการลงทุนสูง
สำหรับคลื่น 1800 MHz และคลื่น 2600 MHz แม้ว่าจะไม่ใช่ย่านความถี่หลักที่นำมาให้บริการ 5G แต่ก็ถือว่าเป็นคลื่นที่สามารถนำมาให้บริการ 5G ได้ จะพบว่าปริมาณคลื่นที่นำมาประมูลมีไม่มากนัก และไม่เพียงพอต่อการให้บริการ 5G เพราะการให้บริการ 5G จะต้องปริมาณคลื่นอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 100 MHz
“ย่านความถี่หลัก 5G ที่โอเปอเรเตอร์ทุกรายอยากได้ คือ คลื่น 3500 MHz แต่กสทช.ไม่ได้นำมาประมูล เพราะเป็นคลื่นที่ดาวเทียมไทยคมใช้อยู่ เมื่อย่านความถี่ที่ทุกคนอยากได้ไม่ได้มีการนำมาประมูล ส่วนคลื่น 1800 MHz และ 2600 MHz ที่นำมาประมูลก็น้อยเกินไป เมื่อนำมาให้บริการ 5G จะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างกับ 4G มากนัก” สุพจน์ระบุ
สุพจน์ ยังประเมินด้วยว่า แม้ว่าการเปิดให้บริการ 5G ในประเทศไทยจะเริ่มได้ภายในปีนี้ แต่เชื่อว่าโอเปอเรเตอร์ที่ได้คลื่นไปจะให้บริการ 5G ได้ไม่เต็มรูปแบบ และอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูล (Data) จะไม่ถึง 1-2 Gb/s (กิกะบิต/วินาที) ในขณะที่ความเร็วในการรับส่งข้อมูลของ 5G จะอยู่ที่ 5 Gb/s เพราะการลงทุนอุปกรณ์ 5G ใหม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
เช่น การลงทุนอัพเกรดหรือติดตั้งอุปกรณ์สายสัญญาณและสถานีฐานใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนติดตั้งระบบสวิทชิ่งข้อมูลที่สามารถรับส่งข้อมูลได้เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 100 Gb/s ต่อ 1 สถานีฐาน จากสถานีฐานในระบบ 4G ที่มีการรับส่งข้อมูลเพียง 1-10 Gb/s เท่านั้นเอง
“คลื่น 700 MHz และคลื่น 1800 MHz ที่โอเปอเรเตอร์ใช้ในการบริการ 4G อยู่นั้น เขาสามารถอัพเกรดเป็น 5G ได้อยู่แล้ว ถ้าเขารู้สึกว่า 5G เริ่มเป็นที่นิยมสูง แต่ถ้าจะเปลี่ยนเขาต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ ต้องลงทุนใหม่ และใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งที่ผ่านมาเขาเพิ่งลงทุน 4G ไปยังไม่คืนทุนเลย ถ้าได้คลื่นใหม่มาทำ 5G เชื่อว่าเขาก็ค่อยๆลงทุน
ดังนั้น 5G ที่จะได้ใช้ในปีนี้ แม้จะเร็วขึ้น แต่ไม่ใช่ 5G ที่แท้จริง และสิ่งที่จะได้เห็น คือ โอเปอเรเตอร์จะเคลมว่าเขามี 5G แล้ว แม้ว่าความเร็วจะอยู่ที่ 500 Mb/s ไม่ใช่ 1 Gb/s และออกแพกเกจใหม่ออนท็อป แล้วโฆษณาว่าถ้าอยากได้เร็วกว่า 4G ก็ต้องจ่ายเพิ่ม ตรงนี้อยู่กับผู้บริโภคว่ายินดีจ่ายหรือไม่ แต่ถ้าไม่แบบนี้ ก็น่าห่วงเอกชนเหมือนกัน” สุพจน์ระบุ
สุพจน์ เธียรวุฒิ
สุพจน์ ยังเสนอว่า หากในอนาคต กสทช.นำคลื่น 3500 MHz มาเปิดประมูล ควรกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเช่นในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ได้มีการกันคลื่น 3500 MHz ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ นอกเหนือจากโอเปอเรเตอร์เดิมที่มีอยู่ 3 ราย คือ NTT Docomo, KDDI และ SoftBank
“ญี่ปุ่น เขามีโอเปอเรเตอร์เดิมอยู่แล้ว 3 ราย แต่ปรากฏว่า เรคกูเรเตอร์ที่นั่นเขาจัดสรรคลื่น 3500 MHz ผู้เล่นรายที่ 4 เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น แต่จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าใครบ้างที่จะได้และได้เท่าไหร่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ กสทช.ควรทำ ทุกครั้งที่มีคลื่นใหม่ หรือมีเทคโนโลยีใหม่ ก็ควรให้มีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นในตลาด” สุพจน์กล่าว
นอกจากนี้ ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี และอังกฤษ ต่างก็สนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการ 5G เป็นรายพื้นที่ หรือที่เรียกว่า ‘Local 5G Operator’ หรือ ‘Micro 5G Operator’ และ ‘Private Network’ เพื่อให้บริการระบบ 5G ในพื้นที่เล็กๆ เช่น ในนิคมอุตสาหกรรม และโรงงาน เป็นต้น อย่างญี่ปุ่นเขากันคลื่น 5G ให้รายเล็กถึง 100-200 MHz
“ปีที่แล้วโอเปอเรเตอร์บ่นว่า เพิ่งลง 4G ไป เพิ่งจ่ายค่าคลื่นไป ก็ต้องมาสร้างโครงข่ายใหม่อีก สงสัยจะไม่ไหว อย่างนี้เราก็ควรหาผู้ประกอบการรายย่อยมาให้บริการจะดีกว่าหรือไม่ เช่น การลงทุนระบบ 5G ในระดับโรงงาน ในระดับนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะทำให้มีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นแล้ว ยังช่วยจะลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนด้วย” สุพจน์ระบุ
อย่างไรก็ตาม การสร้าง ‘Local 5G Operator’ ให้เกิดขึ้น กสทช.จะต้องกำกับดูแลค่าบริการในการเชื่อมโยงโครงข่ายฯไม่ให้สูงเกินไป
สุพจน์ ยังกล่าวว่า ในขณะที่ 5G ทำให้เกิด Ultra HD VDO ,Live streaming , VR และ AR ที่มีประสิทธิภาพแล้ว แต่ระบบ 5G ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ก็คือการนำระบบ 5G ไปใช้ในระดับโรงงาน
“โรงงานที่นำระบบออโตเมชั่นมาใช้ ตั้งแต่การควบคุมสายพานการผลิต เครื่องจักร หุ่นยนต์ และรถขนส่ง ต้องใช้ระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องการ 5G เพราะการสื่อสารด้วยไวไฟที่ติดๆดับๆ สัญญาณหาย ซึ่งทำให้ระบบสะดุด เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ดังนั้น 5G จะมีมูลค่ามาก เมื่อนำมาทำสมาร์ทแฟคตอรี่ ถ้าใครทำได้ก่อน การผลิตจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น” สุพจน์กล่าวตอนท้าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/