- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์ 'ฮ่องกง' ทำไมต้องประท้วง
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์ 'ฮ่องกง' ทำไมต้องประท้วง
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์ 'ฮ่องกง' ทำไมต้องประท้วง ลุกลามยาวนานกว่า 2 เดือน ชี้ให้เห็นถึงต้นตอ จุดกำเนิดจากกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน จนมาถึงการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา "ฮ่องกงทำไมต้องประท้วง" ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์
ตอนหนึ่ง ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของจีน ให้มุมมองต่อการประท้วงที่ฮ่องกง และความเข้าใจเรื่องข้อกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง ไว้อย่างน่าสนใจ
ดร.อาร์ม เริ่มต้นอธิบายถึงกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนว่า ก่อนปี 1997 ฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ใช้กฎหมายภายในของอังกฤษ สมมติว่า มีคนทำผิดทางกฎหมาย และหนีมาฮ่องกง โดยทั่วไปจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปประเทศในกลุ่มประเทศที่มีสมเด็จพระราชินีอังกฤษเป็นประมุขอยู่ คือใช้กฎหมายอังกฤษนั่นเอง พอฮ่องกง กลับคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่ มีความพยายามปรับกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของอังกฤษ เป็นกฎหมายภายในของฮ่องกงเอง
"ฮ่องกงเคยมีการออกกฎหมายการส่งผู้รายข้ามแดนฮ่องกง โดยฮ่องกงจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนกรณีมีการตกลงสนธิสัญญากัน ซึ่งที่ผ่านมาฮ่องกงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ 20 ประเทศ และตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา ฮ่องกงส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คน มากที่สุดส่งกลับไปยังประเทศสหรัฐฯ สมมติคนทำผิดกฎหมายที่สหรัฐฯ หนีมาฮ่องกง สหรัฐฯ สามารถเรียกขอตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปได้"
ประเด็นสำคัญ ฮ่องกงเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบ อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีน แต่ฮ่องกงมีระบบกฎหมายที่มีอิสระของตัวเอง ภายใต้ธรรมนูญการปกครอง (basic law) ของฮ่องกง จนกว่าจะมีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีนนั้น ดร.อาร์ม ระบุว่า วันนี้จีนไม่สามารถร้องขอให้ฮ่องกงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปได้ จะเห็นว่า ตั้งแต่ปี 1997 มีความพยายามทำสนธิสัญญานี้มาตลอด แต่ก็ไม่เคยเจรจาสำเร็จ เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ อีกทั้ง แต่เดิมจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ได้เห็นเรื่องนี้สำคัญมากเท่าไหร่ ไม่ได้บอกว่า ต้องมีสนธิสัญญานี้ หรือต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปประเทศจีน
จุดกำเนิดของเรื่องทั้งหมด
สำหรับจุดกำเนิดของเรื่องทั้งหมด ที่ผู้คนนับแสนรวมตัวกันตามท้องถนนบนเกาะฮ่องกง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ในการชุมนุมต่อต้านกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ดร.อาร์ม ให้ข้อมูลว่า มาจากกรณีวัยรุ่นฮ่องกงที่ไปเที่ยวไต้หวันกับแฟน แล้วถูกกล่าวหาว่า ฆ่าแฟนที่ไต้หวัน จากนั้นก็หนีกลับมาที่ฮ่องกง
ในประเด็นการกระทำความผิดเกิดที่ไต้หวัน ขณะที่ศาลฮ่องกงไม่มีเขตอำนาจพิจารณา เพราะฮ่องกงไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวันและจีน ในระบบกฎหมายฮ่องกง ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน ดร.อาร์ม ตั้งเป็นคำถาม คือทำอย่างไรจึงจะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีที่ไต้หวัน
"จะทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวัน ก็ไม่ได้ เพราะฮ่องกงอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีน โดยระบบแล้วไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน หรือให้ไปทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ไม่ได้ เพราะเจรจาตั้งแต่ปี 1997 ไม่เคยสำเร็จ
ฉะนั้น เป็นความสร้างสรรค์ของนักกฎหมาย จึงมีการแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง โดยสามารถให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นกรณีๆ ไป เช่น หากมีคดีเกิดขึ้นมา แล้วประเทศนั้นไม่ได้มีสนธิสัญญากับฮ่องกง เรียกร้องให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฮ่องกงสามารถทำได้ นี่คือต้นตอความคิด การแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก่อนการประท้วงลุกลามบานปลายถึงวันนี้
ดร.อาร์ม แสดงความเห็นอีกว่า คนฮ่องกงโดยทั่วไป ขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีน แม้ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาจะพัฒนามาโดยตลอด มีนักวิชาการฝรั่งพูดด้วยซ้ำว่า กระบวนการยุติธรรมของจีนมากกว่า 90% ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่มีปัญหาทันทีหากเป็นคดีการเมือง คดีที่พรรคคอมมิวนิสต์มีธงชัดเจน
"เราต้องเข้าใจว่าระบบศาลจีนไม่ได้เป็นอิสระ อยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ หากพรรคมีธงมาศาลไม่มีอิสระ นี่คือความกังวลทั่วไปในสังคมฮ่องกงว่า หากใครเป็นศัตรูกับรัฐบาลจีน อาจถูกใช้กลไกนี้ ให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไป ฮ่องกงจำเป็นต้องส่ง"
ทั้งนี้ มีข้อสังเกต กลุ่มคนที่สนับสนุนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน บอกว่า ไม่ได้แปลก หลายประเทศมีสนธิสัญญากับจีน โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาจีนใช้กฎหมายนี้เล่นกับคดีการเมือง
กรณีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นกรณีๆ ไป ขณะที่ศาลฮ่องกง และผู้บริหารเขตฮ่องกงมีอำนาจที่จะพิจารณาส่งหรือไม่ผู้ร้ายข้ามแดนหากเห็นว่า จะมีปัญหา ไม่โปร่งใส สามารถมีดุลยพินิจได้ ความคิดเห็นของกลุ่มไม่เห็นด้วยว่า การเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบ รัฐบาลฮ่องกงจะเป็นไปได้อย่างไรจะปฏิเสธ หากรัฐบาลจีนร้องขอมา
ดร.อาร์ม ชี้ให้เห็นชัดขึ้นถึงความไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของจีน อย่างกรณีล่าสุดที่ออสเตรเลีย มีการทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน สุดท้ายก็ไม่ผ่านรัฐสภาออสเตรเลีย เพราะเรื่องของความเชื่อมั่นนั่นเอง
ส่วนการประท้วงใหญ่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ที่คนออกมาเป็นล้านนั้น ดร.อาร์ม แปลความหมายว่า คนฮ่องกงไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ ทั้งชนชั้นนำ กลุ่มนักธุรกิจ คนไม่ชอบรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งในวันนั้นรัฐบาลฮ่องกงก็ยังเดินหน้าพิจารณาผลักดันกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2562 เกิดมาบุกเข้าล้อมรัฐสภา กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน รัฐบาลจึงยกเลิกการพิจารณากฎหมายนี้ ผ่านมา 2 เดือนก็ยังมีการชุมนุมประท้วงกันอยู่
1 ประเทศ 2 ระบบ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ยังได้ทำความเข้าใจ 1 ประเทศ 2 ระบบของฮ่องกง ต่อว่า เป็นนวัตกรรมของจีนที่บอกว่า เราเป็นหนึ่งอารยธรรม 1 ประเทศ เราสามารถมีระบบเศรษฐกิจ ระบบกฎหมายที่แตกต่างกันได้ ฉะนั้น คือ จีนแผ่นดินใหญ่เป็นสังคมนิยม เป็นระบบตลาด ขณะที่ฮ่องกง เป็นทุนนิยม มีระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law) แบบอังกฤษ การบริหารจัดการฮ่องกง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม เป็นอิสระจากรัฐบาลปักกิ่ง รัฐบาลปักกิ่งจะดูเฉพาะเรื่องการทหาร กับการต่างประเทศ
ดร.อาร์ม ชี้ชัดว่า วันนี้หลายอย่างไม่เหมือนเดิม ทิศทางของจีนคืออนุรักษ์นิยม และมากกว่าเดิมมาก ชาตินิยมมากกว่าเดิม ขณะเดียวกันในฮ่องกงก็มีกลุ่มคนหัวรุนแรง ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่แยกประเทศ ซึ่งมีความไม่เชื่อใจกันแล้วว่า หากรัฐบาลปักกิ่งปล่อยให้มีการเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น หรือนำไปสู่อะไรที่มากกว่านั้นหรือไม่ นี่จึงไม่เกิดการเลือกตั้งเมื่อปี 2017
"ความพิเศษของ 1 ประเทศ 2 ระบบ ก็คือ ความไม่ชัดเจน พยายามประนีประนอมความเห็นของทุกฝ่าย ขณะที่ในกฎหมายธรรมนูญการปกครองฮ่องกง ก็เขียนไว้ใน มาตรา 45 และมาตรา 68 เขียนชัดเจนว่า จุดหมายปลายทาง คือ universal suffrage (ผู้คนมีสิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งผู้บริหารเขตฮ่องกง สภานิติบัญญัติฮ่องกง) แบบค่อยเป็นค่อยไป และพัฒนาไปสู่จุดนั้น ที่บอกว่า ไม่ชัดเจน คือในกฎหมายไม่ได้ให้ระยะเวลา กฎหมายไม่ได้บอกว่า กว่าจะไปถึงตรงนั้นปีไหน"
ดร.อาร์ม บอกว่า ในการเลือกตั้งผู้บริหารเขตฮ่องกง กับการใช้ universal suffrage วันนี้ยังไม่เกิดขึ้น ปี 2017 ยังใช้ระบบเดิม เลือกผ่านตัวคณะกรรมการเลือกตั้ง 2 พันคนจากภาคส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่ปักกิ่งมีอิทธิพลเลือกกรรมการชุดนี้มา ปี 2014 เกิดการประท้วงร่ม หรือปฏิวัติร่ม (Umbrella Revolution) ส่วนการประท้วงครั้งนี้จึงมีประเด็น universal suffrage มีประเด็นให้แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง
"คนฮ่องกงไม่ให้ความเชื่อมั่นตัวกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพราะตัวผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่ง อีกทั้งการยังไม่มีการเลือกตั้ง ต้องเลือกผ่านตัวคณะกรรมการเลือกตั้ง 2 พันคน ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็อาจมีความบิดเบือนได้"
ช่วงท้าย ดร.อาร์มมองการประท้วงที่ฮ่องกง จากปฏิวัติร่ม ถึงการประท้วงครั้งนี้ ว่า เป็นจุดเล็กๆ ที่จุดประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกง สู่การเรียกร้องสัญญาที่จีนแผ่นดินใหญ้ให้ไว้ universal suffrage ในธรรมนูญการปกครองของฮ่องกง
"ฮ่องกงไม่เคยมีการเลือกตั้ง แต่ฮ่องกงมีเสรีภาพค่อนข้างมาก ต่างกับจีนไม่มีเสรีภาพเหล่านี้ ยิ่งหากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นเรื่องการเมือง มาดูที่ระบบเศรษฐกิจ ฮ่องกงเป็นทุนนิยมเต็มตัว เทียบกับสิงคโปร์ ที่คนมักเข้าใจว่า เป็นทุนนิยมมากแบบฮ่องกง แต่จริงๆ สิงคโปร์ระบบประกันสังคมพื้นฐานค่อนข้างดี อย่างน้อยทุกคนต้องมีบ้าน มีระบบประกันสุขภาพ แต่ที่ฮ่องกง เรื่องบ้าน อสังหาริมทรัพย์ คือความกดดัน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สุดท้ายสะท้อนผ่านการประท้วง"