- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- ความโปร่งใส ต้องมาก่อน คุยกับ ‘จิราพร ขาวสวัสดิ์’ กับเหตุผล-ความจำเป็นปรับโครงสร้างปตท.
ความโปร่งใส ต้องมาก่อน คุยกับ ‘จิราพร ขาวสวัสดิ์’ กับเหตุผล-ความจำเป็นปรับโครงสร้างปตท.
“การปรับโครงการ ปตท. ถือเป็นครั้งแรก ที่เอา ‘ยวง’ ปตท.ออกนอกปตท.ตั้งแต่มีการแปรรูปมา แต่ก่อนปตท.ขยายด้วยวิธีไปซื้อ ไปควบรวม หรือไม่ตั้งบริษัทใหม่ ครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้าง ปรับธุรกิจ เอา ‘ยวง’ สำคัญของปตท. ออก เพราะเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันเสรีแล้ว”
หลังจากเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งหนึ่งในนั้นจะมีการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน ให้แก่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ PTTOR
เหตุผลความจำเป็นในการปรับโครงสร้าง ปตท. ความคืบหน้าเรื่องนี้ถึงไหนแล้ว ที่สำคัญการปรับโครงสร้างปตท.จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร เราไปคุยกับ นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ผู้บริหารหญิงคนแรกที่รับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท.
เริ่มต้นเธออธิบายให้เห็นถึงธุรกรรมที่ปตท.ทำอยู่
หน่วยธุรกิจน้ำมันประกอบด้วยการทำธุรกิจครบห่วงโซ่อุปทาน และการจัดจำหน่ายของการตลาดน้ำมันและค้าปลีก ได้แก่ การจัดหา จัดเก็บ ขนส่ง และผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงสำเร็จรูป ทั้งในรูปแบบการขายส่ง ขายโรงงานอุตสาหกรรม ขายให้แก่หน่วยงานราชการรัฐวิสาหกิจ ขายผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยานแก่สายการบิน ขาย LPG และขายปลีก ณ สถานีบริการ โดยมีการขายและการดำเนินงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ตลอดจนทำธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นครบวงจร
ขณะที่หน่วยธุรกิจน้ำมันปตท.ก็มีสินค้าบริการที่หลากหลาย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจ Café Amazon ธุรกิจบริการยานยนต์ Fit Auto ซึ่งเป็นธุรกิจที่ปตท.พัฒนา สร้างขึ้นมาและเป็นเจ้าของแบรนด์เอง ทั้งยังมีธุรกิจที่ปตท.ร่วมกับบริษัทอื่นในรูปแบบต่างๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
“ในภาษาพลังงาน เรียกว่า ผู้ค้ามาตรา 7 ปัจจุบันมีอยู่ 42 ราย ทุกรายเป็นเอกชนหมดเลย ยกเว้น ปตท. ที่เป็นหน่วยงานรัฐ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. ระบุ และมองว่า ในแง่นี้ต่อให้ ปตท.มีสินค้าใหม่อย่างไร หรือมีการพัฒนาความหลากหลาย ปตท.เป็นเจ้าแรกนำตัว Non – oil มีเซเว่น มีร้านกาแฟ มีร้านอาหารเข้าปั๊มน้ำมัน แบรนด์เป็นที่ติดใจส่งผลให้มียอดขายมาที่ 1 มีผลกำไรดี แต่ สังคมก็ยังจะเข้าใจว่า รัฐเอื้อให้ปตท. อยู่ดี ไม่เหมือเอกชนรายอื่นกำไรน้อย รัฐไม่เอื้ออะไรให้
นี่คือเรื่องความโปร่งใส และกลายเป็นเห็นเหตุผลความจำเป็นลำดับแรกๆ ของการปรับโครงสร้างปตท.
กอรปกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 75 วรรค 2 ระบุ “ รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค การจัดทำบริการสาธารณะ”
2 เหตุผล หนึ่ง กำไรที่ปตท.ได้มา ไม่ได้เกิดจากรัฐเอื้อ และสอง เหตุผลตัวรัฐธรรมนูญนี่เองทำให้บอร์ดปตท.เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 พิจารณาธุรกิจที่ทำซ้ำกับเอกชน หรือทำเหมือนเอกชน ควรแยกออกมาเป็นเอกชน
สำหรับจุดเริ่มต้นการปรับโครงสร้างองค์กร นำธุรกรรมที่หน่วยธุรกิจน้ำมันทำอยู่ ทั้งค้าปลีกน้ำมันและค้าปลีก LPG เอาออกจากปตท. มาไว้กับ PTTOR เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. ได้ชี้ให้เห็นสถานะ PTTOR ปตท.ถือหุ้น 100% ปัจจุบัน เป็นบริษัทที่เป็น Holding Company ต่อจากนี้เมื่อจะมีการโอนทรัพย์สิน โอนกิจการ โอนคน แล้วเสร็จ คาดในเดือนพฤศจิกายน 2561 จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และคาดว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ใช้เวลาตรวจสอบรับรอง 165 วัน อาจมีการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในครั้งแรก (IPO) ไตรมาสที่ 3 ปี 2562
“การปรับโครงการ ปตท. ถือเป็นครั้งแรก ที่เอา ‘ยวง’ ปตท.ออกนอกปตท.ตั้งแต่มีการแปรรูปมา แต่ก่อนปตท.ขยายด้วยวิธีไปซื้อ ไปควบรวม หรือไม่ตั้งบริษัทใหม่ ครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้าง ปรับธุรกิจ เอา ‘ยวง’ สำคัญของปตท. ออก เพราะเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันเสรีแล้ว”
เป็นเวลาปีกว่า หลังบอร์ดปตท.อนุมัติการปรับโครงสร้างกิจการปตท. จะต้องผ่านกี่ด่าน หน่วยงานไหนบ้างที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่
1.เริ่มแรกปตท.มองเรื่องนี้เป็นอำนาจของ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพราะปตท.ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง ทีมกฎหมายปตท.จึงทำเรื่องขออนุมัติปรับโครงสร้างไปที่กระทรวงการคลังผ่าน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
สุดท้าย สคร.ตีความว่า การปรับโครงสร้าง เป็นอำนาจของบอร์ด ปตท.
2. จากนั้นปตท.ได้นำเรื่องเหตุผลความจำเป็นการปรับโครงสร้างปตท.และรูปแบบการปรับโครงสร้างให้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นำข้อมูลไปวิเคราะห์ว่า ธุรกรรม PTTOR จะเอาไปทำนั้น มีความได้เปรียบเหนือเอกชนหรือไม่ มีกฎหมายควบคุมหรือไม่
สนพ.มีมติตัดออก 1. คลังก๊าซเขาบ่อยา และคลังก๊าซบ้านโรงโป๊ะ ไม่ให้ PTTOR เอาไป เพราะถือว่า LPG ยังลอยตัวไม่สมบูรณ์ และการขาย LPG ที่โรงแยกก๊าซ ก็ไม่ให้ PTTOR เอาไป ก็เพื่อให้ผู้ค้ามาตรา 7 รายอื่นมาซื้อก็ได้ 2.LPG ที่ซื้อจากแหล่งสิริกิติ์ ซึ่งบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน
จากนั้นสนพ.ยังได้พิจารณาสิ่งที่ PTTOR เอาไปด้วยว่า มีสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ดู 3 เรื่อง 1.ท่อก๊าซ ใช้อำนาจรัฐในการรอนสิทธิ์หรือไม่ 2.ใช้เงินรัฐหรือไม่ 3.ใช้เงินของการปิโตรเลียมหรือไม่
สรุปสนพ.มองว่า PTTOR ไม่ได้เอาสมบัติชาติไป
ขณะที่หน้าที่ที่ปตท.ขายน้ำมันให้กับหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจถึงนั้น สนพ. ก็ระบุ หน้าที่นี้ไม่ให้ไปกับ PTTOR ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีการดูเรื่องคลังน้ำมัน คลังก๊าซ ระบบท่อ มีเครื่องมือควบคุมผู้ค้ามาตรา 7 หรือไม่ด้วย
3.ปตท.นำเสนอการปรับโครงสร้าง ต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งให้ความเห็นว่า การปรับโครงสร้างปตท.ไม่กระทบความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันเสรีแล้ว
4.นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จนบรรจุเป็นวาระครม.รับทราบ
เธอบอกว่า “กว่าจะถึงวาระบรรจุไปถึงครม.ระหว่างทาง ปี 2560 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ก็มีหนังสือทักท้วงขอให้ทบทวนการปรับโครงสร้างปตท. อ้างว่า เป็นการเอาสมบัติชาติไปขาย กอบโกยเงินเข้า แบ่งปันส่วนของประเทศไปให้เอกชน จนนายกฯ ต้องส่งเรื่องไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาและชี้แจง ปรากฏว่า ถึงวันนี้ ( 2561) สตง.ยังไม่ท้วงติงใดๆ มา”
ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ที่จะมีการโอนธุรกรรมของปตท.ไปให้ PTTOR นั้น ปตท.ยังถือหุ้น 100% พอปี 2562 ขายหุ้น IPO ให้ประชาชนทั่วไปเมื่อไหร่ PTTOR จึงเป็นเอกชนเต็มรูปแบบ
“จิราพร” บอกว่า ช่วงนี้ คนตรวจงบการเงิน PTTOR ก็คือ สตง. เราเข้าไปคุยกับสตง.มาตลอด และเชิญเป็นผู้ตรวจงบการเงิน PTTOR รวมทั้งมีการชี้แจงโมเดลการปรับโครงสร้าง ปตท. และมีรายการระหว่างกัน ปตท.กับ PTTOR รายการเหล่านี้เราก็อธิบายกับสตง.ด้วยเช่นกัน”
ปัจจุบันปั๊มน้ำมัน ปตท.มีประมาณ 1,500 แห่ง 80% เป็นของผู้ประกอบการ อีก 20% เป็นของปตท.ดำเนินการเอง ขณะที่ร้านกาแฟอเมซอนเกือบ 2,000 สาขา 90% เป็นแฟรนไชส์ อีก 10% ปตท.ทำเอง เช่น ร้านที่อยู่ตามโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และห้างสรรพสินค้า
เมื่อถามถึงสัดส่วนรายได้ของปตท. ในสถานีบริการน้ำมัน มาจากอะไรมากที่สุด ? เธอยืนยันชัดเจนว่า “ทำธุรกิจน้ำมัน กำไรไม่ได้มาจากน้ำมัน แต่มาจากธุรกิจ Non-oil ปตท.มีกำไรจากปั๊มน้ำมัน รายได้มาจากหัวจ่ายน้ำมัน 30% กำไรจากร้านอเมซอน 35% ที่เหลือจากร้านค้าและการให้เช่าพื้นที่”
อนาคตเมื่อ PTTOR เปลี่ยนเป็นเอกชนเต็มรูปแบบแล้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. ตั้งเป้าเอาไว้ว่า จะขยายธุรกิจ Non-oil มากขึ้น หรือ Retail มากขึ้น มีโรงแรม business hotel บริเวณปั๊มน้ำมัน และสนับสนุนรัฐไทย ด้วยการจับมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทย ทำเรื่อง Logistics ส่งของในพื้นที่ปั๊ม นำสินค้าชุมชนเข้ามา รวมไปถึงจับมือกับบริษัทการบินไทย นำพัฟแอนด์พายลงในร้านอเมซอน
ขณะที่แบรนด์อเมซอน ก็จะโกอินเตอร์ ไปโอมาน ญี่ปุ่น เซี้ยงไฮ้ บราซิล โซนยุโรป และอเมริกา ซึ่งอาจมีการทำกาแฟกระป๋อง โมเดลเดียวกับเครื่องดื่มชูกำลัง แต่ไม่ทิ้งความเป็นร้านกาแฟ
เป้าหมายทั้งหมดนี้ เธอเชื่อว่า จะเกิดขึ้นไม่เกิน 2 ปี
และเมื่อถามถึงเครื่องหมายการค้า “จิราพร” บอกว่า “PTTOR จะใช้เครื่องหมายการค้าใหม่แบบผสม ซึ่งมีรูปเปลวเพลิง เป็นหนึ่งในองค์ประกอบในการดำเนินธุรกิจต่อไป ถูกตีราคามูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ธุรกิจ Cafe Amazon 2.5 พันล้านบาท Customer Profile ตามอายุสัญญาประมาณ 4 พันล้านบาท”
ในฐานะผู้บริหารหญิงที่ลงไปเจรจากับผู้ค้าน้ำมันเอง วันนี้ PTTOR รอเพียงการโอนสัญญาผู้ค้า 1,400 แห่ง (ปั๊ม) กับโอนสัญญาตัวพนักงาน 1,500 คน และการปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ เช่น ให้ PTTOR เป็นผู้ค้ามาตรา 7 ซึ่งเรื่องนี้ได้มาแล้ว
ส่วนกระบวนการการนำ PTTOR เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ขั้นตอนนี้ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. อธิบายเสริมว่า บอร์ดปตท.มีเงื่อนไข ปตท.ต้องถือหุ้นขั้นต่ำ 45% เพื่อให้ปตท.ส่งผ่านนโยบายได้ แต่ต้องไม่เกิน 48% ซึ่งอีก 2% เผื่อให้กองทุนต่างๆ เข้ามาซื้อ
ที่สำคัญ การเสนอขายหุ้นสามัญ PTTOR ต่อประชาชนทั่วไปครั้งนี้ เน้นการกระจายหุ้นให้คนไทยอย่างทั่วถึง เรามองว่า คนที่ให้รายได้กับปั๊มน้ำมัน คือ ประชาชน ฉะนั้น ประชาชนต้องมีสิทธิ์เป็นเจ้าของ การจองหุ้นขั้นต่ำทุกคนที่จองหุ้นต้องได้หุ้น....
จากนักบัญชีสู่ผู้วางแผนธุรกิจน้ำมัน ปตท.
สำหรับประวัติ “ จิราพร ขาวสวัสดิ์” ผู้บริหารหญิงคนแรกที่รับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต (การบัญชี) คณะเศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำเร็จปริญญาโท หลักสูตร Master of Accountancy จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตร MBA –Finance มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังสำเร็จการศึกษาหลักสูตรพิเศษ 2 หลักสูตรได้แก่ หลักสูตร Senior –Executive Program ที่ London Business School ประเทศอังกฤษ และหลักสูตรกรรมการบริษัท สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
เริ่มทำงานที่ปตท.ตั้งแต่ปี 2530 ในตำแหน่งนักบัญชี จากนั้น ปี 2555 ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผนหน่วยธุรกิจน้ำมัน รับผิดชอบดูแลด้านกลยุทธ์และแผนธุรกิจของหน่วยธุรกิจน้ำมันปตท. และปี 2559 นั่งเก้าอี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM)
และล่าสุด เป็นผู้วางแผนธุรกิจน้ำมันของปตท. ในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. ผู้อยู่เบื้องหลังนำ PTTOR เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
เธอยึดหลักการทำงาน เน้นเรื่องความเป็นธรรม โปร่งใส และปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม
แม้เธอจะเรียนบัญชีมา แต่สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจที่ทำงานอยู่ คิดนอกกรอบไม่ใช่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม
ผลงานชิ้นโบว์แดงที่ ทำให้ปตท.ไม่โดนค่าปรับเรื่องภาษี ยกตัวอย่างในอดีตการขายน้ำมันของปตท. ลูกค้าต้องโอนเงินล่วงหน้าให้ปตท.ก่อนออกรถน้ำมัน ซึ่งเสีย 2 อย่าง 1. ลูกค้าเสียเงินให้ปตท. น้ำมันลิตรละ 30 บาท รถ 1 คันบรรทุก 15,000 ลิตร คิดดูว่า ลูกค้าปตท.ที่เป็นปั๊มน้ำมันต้องเสียเงินเท่าไหร่ เพื่อโอนมาให้ปตท.ล่วงหน้า 2.ในมุมปตท.ไม่ออกใบกำกับภาษี คือผิด
เธอเป็นผู้คิดให้ลูกค้าเดินไปเปิดบัญชีบุคแบงก์ไว้ในชื่อตัวเอง แล้วใช้วิธีการไปคุยกับแบงก์ เพื่อผูกกับระบบ โดยลูกค้ามีเงินในบุคแบงก์จะเปิดเพื่อซื้อน้ำมันกับปตท.เท่านั้น เมื่อลูกค้าสั่งน้ำมันมา ปตท.จะมีระบบไปเช็คว่า ลูกค้ามีวงเงินหรือไม่ จากนั้นจะกันเงินลูกค้าไว้ไม่ให้ใช้อย่างอื่น ก่อนส่งรถน้ำมันขนส่งไปให้ลูกค้า และปตท.ก็ออกใบกำกับภาษี ฉะนั้น ปตท.ไม่โดนเบี้ยปรับเงินเพิ่ม กว่าพันล้านบาทต่อปี ขณะที่ลูกค้าเองก็ไม่ต้องเอาเงินมา 'จม หรือกอง' ไว้ที่ปตท.
กว่าจะเปลี่ยนจัดระบบได้ถึงวันนี้ เธอต้องไปคุยกับลูกค้า โดยเฉพาะฝ่ายขายที่ชินกับระบบเดิมๆ และไปคุยกับแบงก์ 8 แห่ง ให้มีระบบรองรับกระบวนการข้างต้น
นี่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ผู้บริหารซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง จะได้ใจผู้ค้าน้ำมันทั่วประเทศ จนยอม Growing Together ไปกับ PTTOR