- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- เปิดใจอธิการบดี ม.นครพนม กับเรื่องร้องเรียนทำซ้ำบทความวิจัย
เปิดใจอธิการบดี ม.นครพนม กับเรื่องร้องเรียนทำซ้ำบทความวิจัย
"ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยนครพนมมีปัญหาขัดแย้งกันภายใน แต่ผมชัดเจน ผมมาไม่มีผลประโยชน์ใดๆ อยากพัฒนามหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น ประวัติผมไม่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน และไม่อยากสร้างความขัดแย้งใหม่ ผมจะไม่มาเล่นการเมืองที่นี่"
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ทำหนังสือถึงลงวันที่ 8 ก.พ.2560 ถึงนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ขอให้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนประเด็น รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม แอบอ้างได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ทั้งที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, จงใจตีพิมพ์ผลงานซ้ำซ้อน, ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ช่วงดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมไปถึงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ช่วงรักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม
จนล่าสุด นายภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนครพนม วันที่ 11 มี.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ถึงประเด็นเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยเฉพาะการเสนอขอ “ศาสตราจารย์” และการตีพิมพ์ซ้ำบทความวิจัย
รศ.ดร.ประวิต ชี้แจงว่า การเสนอขอ "ศาสตราจารย์" นั้น มีมาก่อนการเข้ารับการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งตอนนั้นสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีมติอนุมัติและให้เสนอโปรดเกล้าฯ แต่พอเสนอเรื่องมาที่ สกอ. ทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ไปค้นฐานข้อมูล พบว่า เว็บไซต์วารสารออนไลน์ ไปรีเซตฐานข้อมูล ทำให้มีแต่ บทคัดย่อ (abstract) ไม่มีฉบับเต็ม
จากนั้น ก.พ.อ.ส่งเรื่องไปที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามว่า ไม่ถือว่า บทความวิจัยดังกล่าว ไม่มีการเผยแพร่ เมื่อไม่มีการเผยแพร่ ก็คือให้เผยแพร่ใหม่
“ผมก็เอาหนังสือนี้ของสกอ. หารือกับวารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาว่า เมื่อบทความวิจัยยังไม่มีการเผยแพร่ ผมจะขอตีพิมพ์ใหม่ได้หรือไม่ แต่งานชิ้นนี้ผมเคยตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ ทางมหาวิทยาลัยบูรพาก็ยินดี ผมก็ได้ส่งอีเมล์ไปยังวารสารต่างประเทศว่า ผมไม่สามารถค้นข้อมูลบทความวิจัยฉบับเต็มได้ มีแต่บทคัดย่อ ผมขอถอนการตีพิมพ์ และขอนำไปตีพิมพ์ใหม่ เขาก็มีหนังสืออนุญาต จึงเป็นที่มาที่วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาตีพิมพ์ผลงานให้ ซึ่งไม่ใช่การลอกเลียนผลงาน หรือตีพิมพ์ซ้ำแต่อย่างใด”
รศ.ดร.ประวิต กล่าวถึงข้อร้องเรียนที่กล่าวหาว่า มีการตีพิมพ์บทความวิจัยซ้ำทุกตัวอักษร ในการประชุม สภามหาวิทยาลัยนครพนม ครั้งที่ 5/2559 เมื่อเดือนเม.ย.2559 ได้เคยมีการพิจารณา กรณีการส่งบทความวิจัยเรื่อง “A comparison of Teaching Efficacy ,Commitment to Teaching Profession and Satisfaction with Program Effectiveness of Teacher Students under The 5 Year –Program Curriculum and Those under the 4 +1 year Program Curriculum” ที่เคยตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Social Science ไปตีพิมพ์ซ้ำอีกในวารสารศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยบูรพานั้นว่า ได้รับอนุญาตจากวารสารทั้งสองฉบับแล้ว มติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนครพนม จึงเห็นว่า มิใช่เป็นการนำผลงานทางวิชาการเรื่องเดิมไปตีพิมพ์ซ้ำในวารสาร อันเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงในการเผยแพร่ หรือเป็นการทำผิดจรรยาบรรณ เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ตามที่มีผู้กล่าวอ้างแต่ประการใด และไม่เข้าข่ายกรณีที่ถือว่าขาดจริยธรรมและคุณธรรมทางวิชาการ
ส่วนประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ช่วงดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รศ.ดร.ประวิต ชี้แจงว่า ช่วงที่เป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม “ผมได้เป็นประธานการประเมินอาจารย์คนหนึ่ง และประเมินไม่ต่อสัญญา ประเด็นนี้ที่ประชุมสภามหาวิทยลัยนครพนม ครั้งที่ 5/2559 ก็มีมติว่า เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของผมแล้ว ไม่ได้เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หรือไม่มีคุณธรรมจริยธรรมแต่อย่างใด เพราะดำเนินการเป็นองค์คณะ ไม่ได้ดำเนินการเพียงผู้เดียว พร้อมกันนี้ยังให้มหาวิทยาลัยนครพนม แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งพฤติกรรม อาจารย์คนดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยมหาสารคามให้ดำเนินการทางวินัย ให้ดำเนินการทางกฎหมายทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
จากนั้นมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนครพนม ครั้งที่ 5/2559 ยืนยันขอเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รศ.ดร.ประวิต เป็นรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม
และขณะที่รอโปรดเกล้าฯ ก็ได้ทำหน้าที่รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2559 เป็นต้นมา รศ.ดร.ประวิต เล่าอีกว่า ถัดจากนั้น เดือนพ.ย.2559 สกอ.ก็ได้ทำหนังสือถึงอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นคณบดีคณะหนึ่ง ซึ่งได้ทำหนังสือร้องเรียน ขอคัดค้านกรณีการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม โดยเมื่ออาจารย์ท่านดังกล่าวได้รับหนังสือฉบับนี้จากสกอ. ก็แสดงความแปลกใจ เพราะไม่ได้ทำหนังสือร้องเรียนดังกล่าวเลย ถูกนำชื่อไปแอบอ้าง
“หรือแม้กระทั่งเมื่อผมได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2560 สกอ.ก็มีหนังสือสั่งการมาที่มหาวิทยาลัยนครพนม ขอให้ตรวจสอบกรณี การถูกแอบอ้างชื่อร้องเรียน ปัจจุบันมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว และอาจารย์ท่านดังกล่าวก็แจ้งความดำเนินคดีผู้แอบอ้างแล้วเช่นกัน เพราะการแอบอ้างนั้นทำให้ผู้บังคับบัญชาเข้าใจผิด”
ทั้งนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวถึงการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยนครพนมในปัจจุบัน ก็ยังมีการกล่าวหาอีกว่า ไปตั้งบุคคลภายนอกเป็นรองอธิการบดี นำคนนอกมาเป็นทีมบริหาร ไม่เอาคนใน ซึ่งตามระเบียบนั้นสามารถทำได้ อย่างน้อยกึ่งๆ โดยให้สภามหาวิทยาลัยนครพนมเห็นชอบ
“ช่วงผมเข้ามารักษาราชการอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ผมบริหารงาน ได้เพียง 1 เดือน ก็เกิดเหตุเครื่องบินเล็กของมหาวิทยาลัยนครพนมตก จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ศพ วันนี้ยังอยู่ในกระบวนการสอบสวน มีรองอธิการบดีเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่มีการเสนอแต่งตั้งต่อ”
ในช่วงท้าย รศ.ดร.ประวิต ยืนยันด้วยว่า เรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ช่วงเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประเด็นเดิม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาเป็นที่ยุติแล้ว รวมถึงเรื่องทำซ้ำบทความวิจัย ก็จบไปแล้วด้วย ดังนั้น 2 เรื่องร้องเรียนสภามหาวิทยาลัยนครพนมพิจารณาไปเรียบร้อยแล้ว สกอ.ก็ยืนยันว่า จบไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
“ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยนครพนมมีปัญหาขัดแย้งกันภายใน แต่ผมชัดเจน ผมมาไม่มีผลประโยชน์ใดๆ อยากพัฒนามหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น ประวัติผมไม่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน และไม่อยากสร้างความขัดแย้งใหม่ ผมจะไม่มาเล่นการเมืองที่นี่ แต่พอเข้าไปไล่รื้อการดำเนินงานภายใน ผมเห็นว่า จำเป็นต้องนำคนนอกเข้ามาเป็นผู้บริหารสัดส่วนจำนวนหนึ่ง เพราะมิเช่นนั้นไม่สามารถขจัดความขัดแย้งได้ ผมอยากเคลียร์ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งมีฝ่ายที่ทั้งได้ประโยชน์และเสียประโยชน์”