- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ขายไอเดีย "ขึ้น VAT-ส่งเสริมปลูกต้นไม้" ออมเนิ่นๆรับสังคมสูงวัย
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ขายไอเดีย "ขึ้น VAT-ส่งเสริมปลูกต้นไม้" ออมเนิ่นๆรับสังคมสูงวัย
“เราอย่าหวังพึ่งรัฐ เพราะลำพังรัฐเองก็จะไปไม่รอด ทางออกรับสังคมสูงวัย ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ทุกคนจากนี้ต้องพึ่งตนเองด้วยการออม ออมไว้ใช้เมื่อเราสูงวัยเมื่อเราทำงานไม่ได้ สมการชีวิตต้องเปลี่ยน เดิมเน้นบริโภค มีรายได้ไม่พอก็ผ่อน กู้ นำเงินในอนาคตไปใช้ วันนี้ต้องกลับกัน เรามีรายได้เท่าไหร่ต่อเดือน ต้องเก็บออมไว้ก่อน ที่เหลือจึงบริโภค"
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มหาวิทยาลัยรังสิต สนทนาพิเศษ "การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ การปฏิรูประบบรองรับสังคมสูงวัย" ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ เริ่มต้นทำความเข้าใจถึงคำว่า "สังคมสูงวัย" ที่คนมักจะเข้าใจผิดว่า เป็นสังคมของผู้สูงอายุ แต่ไม่ใช่ คำว่า “สังคมสูงวัย” ไม่ใช่สังคมผู้สูงอายุ แต่เป็นสังคมที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนของคนวัยทำงานลดลงๆ เรื่อยๆ อีก 17-18 ปี ข้างหน้า เราจะมีผู้สูงอายุถึง 1 ใน 3 โดยประมาณ จากจำนวนประชากรกว่า 60 ล้านคน ซึ่งถือว่ามหาศาล
"คุณเดินไปไหน 3 คนจะเจอผู้สูงอายุ 1 คน มีคนวัยทำงาน 1 ใน 3 และจะมีคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ อีก 1 ใน 3" นักเศรษฐศาสตร์ ฉายภาพให้เห็น และตั้งคำถามว่า เมื่อถึงเวลานั้น บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ใครจะจ่ายภาษี
ส่วนที่บอกว่าสังคมไทย กำลังเกิดปัญหาสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วและรุนแรง เขาแปลความเพิ่มเติมให้ว่า อัตราของปัญหาเพิ่มอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ก็มีปัญหาแล้ว แต่ "ดีกรี" ยังไม่แรง แต่อีก 10 ปีข้างหน้าปัญหาจะรุนแรงเฉียบพลันมาก
ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ทิ้งเป็นคำถาม เพื่อให้ช่วยกันหาคำตอบ ประเทศไทยจะจัดการกับปัญหาสังคมสูงวัยนี้ได้หรือไม่ เพราะเป็นปัญหาเรื่องของโครงสร้างประชากรที่สกัดกั้นไม่ได้ ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีขึ้น ตายช้าลง คนเกิดน้อยลง และน้อยลงมานานแล้วจากในอดีต บ้างมีลูกคนเดียว หรือไม่มีเลย และบางคนก็ไม่แต่งงานด้วยซ้ำ
แม้ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่สามารถแก้ไขได้ เขาเห็นว่า สามารถวางระบบรองรับสังคมสูงวัยได้ การส่งเสริมการมีบุตร วันนี้เราก็จะเห็นคนพร้อมกลับไม่มีลูก คนมีลูกเป็นคนที่ไม่พร้อม คุณภาพของเด็กต่อไปจะเป็นอย่างไร
เมื่อดูที่ระบบบำเหน็จบำนาญ ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ บอกว่า เห็นปัญหาของระบบบำเหน็จบำนาญ เมื่อรัฐต้องใช้ภาษีอากรจะมีปัญหาหรือไม่ เนื่องจากคนวัยทำงานมีจำนวนน้อยลง ใครจะจ่ายภาษี หากทุกคนในประเทศหวังสวัสดิการจากรัฐ ถามว่า รัฐเอาอยู่ ทำได้หรือไม่ เมื่อจำนวนผู้สูงอายุเหมือนคลื่นสึนามิ มีจำนวนมหาศาล รัฐจะเอาภาษีจากไหนมาจ่าย ?
“ผมเป็นข้าราชการบำนาญ ที่คนบอกว่า เป็นระบบที่ดีที่สุด รู้หรือไม่ว่า ระบบนี้ไม่ได้วางแผนไว้สำหรับสังคมสูงวัย ปัญหานี้เป็นปัญหาหนักสำหรับคนอายุ 40-50 ปีปัจจุบัน อย่าคิดว่า สังคมสูงวัยเป็นปัญหาสังคมสูงอายุ เป็นปัญหาของคนกลางคนปัจจุบันนี้ที่อีก 10 กว่าปีต้องเจอแน่นอน
กรณีระบบประกันสังคม ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ระบุว่า เป็นการนำเงินมาลงขันใส่เข้าไป โดยไม่ได้ใส่ชื่อใคร โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือ เป็นการหักเงินประกันสังคมแล้วเอาไปใส่ขัน มีทั้งเงินของนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ เมื่อไม่ได้กำหนดเป็นของใคร เงินในขันใครก็ใช้ได้
"รู้หรือไม่ต่อไปในอนาคต คนที่จะควักเงินออกจากขัน ก็คือคนเกษียณอายุ และคนควักเงินประกันสังคม ก็มีจำนวนมหาศาลมากขึ้น ขันจะแตกภายใน 27 ปีข้างหน้า ผมนั่งคำนวณ แตกแปลว่า เกลี้ยง คนที่ถูกหักเงินเดือนใส่ไปในขัน กับคนที่มาเอาเงินในขันไป จนกระทั่งขันแห้ง ระบบประกันสังคมของไทยไม่ได้คิดประเด็นนี้ในอดีต”
ฉะนั้น นักเศรษฐศาสตร์ ยืนยันว่า ระบบประกันสังคมต้องกันเงินออกเป็น 2 ประเภท เงินบำนาญ กับเงินรักษาพยาบาล แยกออกจากกัน และใส่ชื่อซะ เมื่อแยกเป็น 2 กองทุน ปัญหานี้จะเริ่มเบาบางลงในอนาคต
“ขณะนี้มีคนรับราชการ และออกไปทำงานภาคเอกชน หรือทำงานเอกชนแล้วไปรับราชการ หรือออกไปทำงานส่วนตัว หันมาดูระบบบำนาญของไทยก็ยังไม่สามารถย้ายถ่ายโอนกันได้ หากดูระบบตรงนี้เข้าด้วยกันจะดีมาก ผมได้ยินว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดจะทำอยู่ ก็อยากให้กำลังใจ ต้องรีบทำ”
ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ วิพากษ์ระบบกองทุนการออมแห่งชาติ หรือกอช. ว่า แม้จะเข้ามาช่วยแรงงานนอกระบบให้มีเงินออมยามชราภาพ ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่กลายเป็นว่า คนรู้จักกอช.หลักแสนคนเท่านั้น จากประชากรทั้งประเทศ ระบบดี ตัวเองออม รัฐมาเติมส่วนหนึ่ง และใส่ชื่อของเขาไว้ พออายุ 60 ปีแล้วจึงได้คืน ปัจจุบันนี้ชาวบ้านเข้าไม่ถึงเพราะต้องนำเงินไปฝากที่ธนาคาร มองเป็นภาระทั้งการเดินทางไปฝากเงิน เรื่องนี้ต้องรื้อกันใหม่ สร้างระบบการฝากเงินอย่างไรให้ง่าย หรือแม้แต่สามารถไปผูกกับกองทุนชาวบ้านที่มีอยู่ เช่นกองทุนสัจจะออมทรัพย์ กอช.ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ ทำให้คนเข้าใจมากกว่านี้
“การสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัย เราอย่าหวังพึ่งรัฐ เพราะลำพังรัฐเองก็จะไปไม่รอด ทางออกต้องเปลี่ยนวิธีคิด ทุกคนจากนี้ต้องพึ่งตนเองด้วยการออม ทุกคนต้องออมไว้ใช้เมื่อเราสูงวัย เมื่อเราทำงานไม่ได้ ระหว่างที่ยังทำงานได้ต้องออม ซึ่งจะเห็นว่า สังคมสูงวัยเกี่ยวข้องกับคนทำงานทั้งสิ้น ไม่ใช่สังคมผู้สูงอายุเท่านั้น
ฉะนั้น สมการชีวิตต้องเปลี่ยน เดิมเน้นบริโภค มีรายได้ไม่พอก็ผ่อน กู้เงิน และนำเงินในอนาคตไปใช้ วันนี้ต้องกลับกัน เรามีรายได้เท่าไหร่ต่อเดือน ต้องเก็บออมไว้ก่อน ที่เหลือจึงบริโภค อันนี้ต้องช่วยกันรณรงค์ให้ได้ หากเรายังใช้วิธีรายได้ไม่พอกู้ รวมทั้งรัฐบาลไหนๆ ก็อยากกระตุ้นเศรษฐกิจคล้ายๆ กันยุให้คนบริโภค ถามว่า ไปได้หรือไม่กับอนาคต”
ปลูกต้นไม้ ออมรูปแบบหนึ่ง
ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ย้ำชัดเรื่องการออมสำคัญ ขณะที่ชาวบ้านก็สามารถมีรูปแบบการออมแบบอื่นได้ เช่น การส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ยืนต้น ไร่ละ 40-50 ต้น ผ่านไป 30 ปี มูลค่าต้นไม้หลายหมื่นบาท เป็นสวัสดิการตั้งแต่ทำงานอยู่ ปัญหาติดตรงกฎหมายป่าไม้ ปลูกได้ห้ามตัด ซึ่งต้องมานั่งคิดใหม่แล้ว การปลูกต้นไม้เป็นการออมรูปแบบหนึ่ง
อีกวิธีหนึ่ง ที่เขาแนะนำ คนไทยหากให้ออมเงินเองจะยาก อาจเป็นการออมภาคบังคับ เช่น การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7 % เป็น 10 % เหมือนเดิมที่เคยจะเก็บ โดย 3 % ที่เพิ่มขึ้นมานั้นใส่ไปในชื่อของคนที่ซื้อสินค้า ซื้อของ
" 3% ของ VAT ถูกเก็บไว้ให้เราในอนาคตเมื่ออายุ 60 ปี รวมทั้งหมดเท่าไหร่ เฉลี่ยคืนพร้อมดอกเบี้ยด้วยก็ได้ รัฐบาลลองใจถึงๆ อธิบายให้คนเข้าใจว่า ขึ้น VAT จาก 7% เป็น 10% โดย 3% ที่เก็บนั้นไม่ได้เอาไปทำอะไรนะ เก็บในชื่อคุณแต่ละคน ระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบพร้อมเพย์ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ไปเลย"
นอกจากนี้ ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ บอกด้วยว่า เขากำลังศึกษาผู้สูงอายุในเมือง ซึ่งต่างจากผู้สูงอายุในชนบท คิดเบื้องต้น และคิดเร็วๆ เสนอว่า สมัยก่อนเรามีเดย์แคร์สำหรับเด็กเด็ก พ่อแม่ทำงานเอาเด็กมาฝาก ต่อไปอาจต้องเอาพ่อแม่ไปด้วย มีเดย์แคร์ดูแลผู้สูงอายุตามบริษัทใหญ่ๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องปรับทัศนคติ ผู้สูงอายุไม่ใช่เป็นภาระ แต่ผู้สูงอายุคือภูมิปัญญาดั่งเดิม เป็นผู้มีประสบการณ์ อาจให้มีส่วนร่วมทำประโยชน์กับบริษัทนั้นๆ ด้วยก็ได้ หรือแม้แต่แบบที่กทม.ทำที่สวนลุมพินี ให้ผู้สูงอายุร่วมทำกิจกรรม ออกกำลังกาย รวมตัว เป็นต้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี
สุดท้ายเรื่องการขยายอายุการทำงาน เขาเห็นว่า สำคัญมาก รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็เริ่มเห็นปัญหา จึงให้ภาคเอกชนสามารถจ้างคนอายุ 60 ปีขี้นไปทำงาน และนำมาหักภาษีได้ 2 เท่า
"อันนี้ผมสนับสนุน แต่เมื่อไปดูกฎเกณฑ์ที่เขียน ให้แต่เฉพาะลูกจ้างที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท คุณตกใจไหม หมายความว่า คุณกำลังให้หักได้เฉพาะแรงงานไม่มีฝีมือ เกิน15,000 บาท ภาคเอกชนจ้างแล้วหักภาษีไม่ได้ ปรากฏว่า ทำให้นโยบายนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ผมคิดว่า ต้องแก้ไขอย่างใหญ่"...