- Home
- Thaireform
- ข่าวเด่น นโยบายสาธารณะ
- "มีชัย ฤชุพันธุ์" พูดแทนประชาชน อยากให้สื่อทำหน้าที่สมความภาคภูมิ-ไม่โน้มเอียง
"มีชัย ฤชุพันธุ์" พูดแทนประชาชน อยากให้สื่อทำหน้าที่สมความภาคภูมิ-ไม่โน้มเอียง
"สั้นๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ม. 35 บอกในตัวว่า สื่อต้องไปคิดวางจริยธรรมของสื่อเอาเอง โดยที่รัฐไม่ต้องลงไปทำ การที่ไม่ให้รัฐเข้าไปแทรกแซงในเรื่องการเงินการทอง ก็เพื่อให้สื่อปฏิรูปได้โดยไม่ถูกผูกมัดด้วยเงิน ถ้ามองให้ลึกก็จะรู้ว่า รัฐอยากให้สื่อปฏิรูปตัวเองตามที่สื่อคิดว่าควรจะเป็น"
วันที่ 24 พฤศจิกายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อฯ คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดการสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2559 หัวข้อ 'ปฏิรูปสื่อ: ทางออกสังคมไทย?' ณ คณะวารศาสตร์ฯ มธ. โดยในช่วงเช้า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บรรยายพิเศษ หัวข้อ 'การปฏิรูปสื่อกับเจตนารมณ์ของรัฐ'
นายมีชัย กล่าวว่า สื่อคือช่องทางหนึ่งในการเสนอข่าวกับการแสดงความคิดเห็น ซี่งเป็นสิทธิและเสรีภาพอันสมบูรณ์ของประชาชนทุกคน เราไม่มีทางใดที่จะไปกำกับข่าว ให้ข่าวเป็นอย่างที่เราต้องการอยากให้เป็น เพราะข่าวเป็นสิ่งที่ปรากฎขึ้นจริงตามสภาพที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ความคิดเห็นก็เป็นความคิดเห็นของแต่ละคน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเหมือนใคร
"การที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน ไม่ได้แปลว่าใครผิด ไม่ได้แปลว่าใครถูก ความคิดเห็นบางอย่าง ณ วันที่แสดง คนอาจจจะรู้สึกว่า แย่เต็มที แต่วันหนึ่งข้างหน้าความแย่ ความพิศดาร ความแปลกประหลาด ความไม่ยอมรับนับถือ ก็อาจจะกลับมาเป็นของธรรมดา เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับนับถือ และกลายเป็นความจริงก็ได้ เพราะฉะนั้นความคิดเห็นที่แตกต่างกันจึงไม่สามารถจะไปชี้ทันทีทันใดว่า ของใครผิดหรือของใครถูก
สิ่งที่สอนกันในความเป็นมนุษย์ก็คือ การเปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็น เห็นด้วยก็ได้ ไม่เห็นด้วยก็ได้ คนที่ไม่เห็นด้วยก็หาเหตุผลไปชี้แจง คนเห็นด้วยก็ให้เหตุผลสนับสนุน ถ้าทุกอย่างเป็นอย่างนี้ สื่อมวลชนก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ข้อสำคัญคือ สื่อได้ทำอย่างนี้จริงๆ หรือเปล่า คณะวารสารศาสตร์ ฯ ได้เน้นในเรื่องอย่างนี้หรือไม่ หรือเน้นการทำข่าวให้กระตุ้นความสนใจ โดยไม่คำนึงถึงอะไร หรือสอนให้แสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของความไม่จริง ได้มีการทำให้ความตระหนักถึงข้อผิดพลาดเหล่านี้หรือไม่"
นายมีชัย กล่าวว่า แม้ไม่เคยเรียนวารสารศาสตร์ แต่ฟังจากคนที่เรียนกันมา เขาพูดกันว่า ความเห็นกับข่าวต้องแยกกัน เพื่อคนจะได้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น และคนที่ไปเห็นคิดอะไรก็ย้อนกลับมาถามว่า แล้วในสื่อทุกวันนี้แยกหรือไม่ คำตอบก็คือ ทำท่าจะไม่ค่อยได้แยกเท่าไหร่
ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการใส่ความเห็นลงไปในข่าว และความเข้าใจผิดที่เกิดจากการสื่อข่าว ที่ใส่ความเห็น บางทีก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคม เกิดปัญหาขึ้นกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข่าวหรือเป็นคนในข่าว ถ้ายิ่งเป็นเรื่องความคิดเห็น และเป็นความคิดเห็นบนพื้นฐานของความไม่จริง ถ้าความไม่จริงนั้นเป็นเพราะผิดพลาด รีบร้อน พออภัย แต่ถ้าความไม่จริงนั้น เป็นเพราะจงใจ และนำความไม่จริงนั้นไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อ
"ผมถือว่านั่นไม่ใช่สื่อ แต่นั่นคือ คนรับจ้างมาทำ ผมเข้าใจว่า สิ่งนี้ดูจะเป็นที่ตระหนักของคนในวงการสื่อเช่นกัน สื่อดีๆ จึงรวมมือกันเพื่อที่จะหาทางดูแลว่าจะประคับประคองสถาบันนี้ ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกสังคมโลก ยังไงๆ ก็ต้องมีที่ที่คนจะสามารถสื่อถึงกันสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจ เพื่อบอกถึงความหลากหลายในความแตกต่างในทางความคิด เพื่อทุกคนจะได้หยิบเอาไปคิดต่อ สานต่อ หรือทำให้สังคมดีขึ้น แต่ว่าถ้าไม่มีการปรับปรุงหรือพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า ปฏิรูปก็คงยาก และผลสุดท้ายมันจะเกิดอะไรขึ้น"
สื่อเป็นกลาง ค่อยๆ เลื่อนหายไป
นายมีชัย ท้าวความกลับไปยุคก่อนๆ สื่อไม่ได้มากขนาดนี้ และทุกคนที่เข้ามาสู่ความเป็นสื่อมากันก่อนที่จะมีคณะวารสารศาสตร์ในประเทศไทยขณะนั้น คนเหล่านั้นไม่เคยถูกสอนหลักวิชาหลักจรรยาไม่เคยถูกสอนหลักจริยธรรม แต่เข้ามาด้วยใจรักด้วยความตระหนักถึงสิ่งที่เขามีต่อสังคม เพราะฉะนั้น นักสื่อมวลชนอาวุโส เราถึงเห็นประวัติที่เขาต่อสู้มาอย่างฉกาจฉกรรจ์ บางคนถึงกับถูกจับกุมคุมขัง บางคนถึงกับถูกยิงตาย สู้ไม่ถอย
ต่อมาเรามีคณะวารสารศาสตร์เริ่มมากขึ้นๆ แต่เราเคยสังเกตไหมว่า จิตใจที่ต่อสู้เช่นนั้น ค่อยเลือนไป
ถามว่า อะไรทำให้เลือน? "ผมขอสรุปว่า สิ่งที่ทำให้มันเลือน คือ ธุรกิจกับการเมือง กิจการสื่อมวลชนกลายเป็นกิจการร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน"
นายมีชัย ชี้ว่า การเมืองรู้ถึงอิทธิฤทธิ์ของสื่อในการที่จะชี้นำไปในทิศทางที่ตนต้องการ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด สื่อหลายคนยอมตนเข้าไปเพื่อที่จะได้ประโยชน์จากฝ่ายการเมือง เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์นึกถึงค่าโฆษณา นีกถึงประโยชน์ที่รัฐจะเอื้อให้ เพราะฉะนั้นสื่อที่ต้องเป็นกลาง วิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกฝ่าย จึงค่อยๆ เลื่อนหายไป
"มาถึงวันนี้ เราสังเกตหรือไม่ว่า สื่อทุกแขนงมีสองข้าง สุดแต่ว่าใครจะใจอ่อนไปทางด้านไหน ถ้าใจอ่อน เพราะเห็นดีเห็นงามก็พอทำเนา นั่นช่วยไม่ได้ เพราะเป็นความคิดเห็นที่สอดคล้องต้องกัน แต่ถ้าใจอ่อน เพราะอามิสสินจ้าง เพราะค่าโฆษณาที่ทุ่มมา สังคมจะพึ่งได้อย่างไร ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะสื่อประเทศไทย เกือบจะเป็นสื่อทั้งโลก ยิ่งสื่อตัวใหญ่ๆ ระดับนานาชาติ ใครดูการถ่ายทอดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็จะเห็นว่า เข้าอีหรอบเดียวกับประเทศไทยเช่นกัน คือแยกเป็นสองค่าย และแต่ละค่ายก็ทำไม่ยั้ง ทำโดยไม่ได้นึกถึงหน้าที่เลย ไม่ได้นึกถึงความเป็นกลาง ไม่ได้นึกถึงแม้กระทั่งประโยชน์ของประเทศชาติตัวเอง มองดูแล้วเป็นวิวัฒนาการของโลก ที่ดูแล้วคล้ายๆ กัน"
ถามว่าทั้งสองอย่างนั้น ทั้งธุรกิจและการเมือง เราขจัดไม่ให้เข้ามายุ่งกับสื่อได้หรือไม่ นายมีชัย ตอบว่า ยาก เพราะกิจการทำสื่อไม่ใช่ลงทุนกัน 10-20 ล้านบาทเหมือนแต่ก่อน เพราะฉะนั้นธุรกิจก็เป็นส่วนสำคัญที่เราหลีกไม่ได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้พอประคับประคองพอไปกันได้ โดยไม่ถึงกับทำลายซึ่งกันและกัน การเมืองก็หลีกเลี่ยงจากสื่อไม่ได้ เพราะก็ต้องพึ่งพา การเมืองก็ต้องการให้ข่าวแพร่กระจายไป สื่อก็ต้องการแหล่งข่าวจากทางการเมือง แต่จะทำอย่างไรจึงจะรักษาดุลระหว่างกัน ให้รู้จักหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ขอบเขตจำกัดของแต่ละข้าง แต่ละข้างต้องไม่ใช้ประโยชน์จนทำลายหน้าที่และภารกิจของอีกข้างหนึ่ง
"คนที่ทำงานอยู่ในสื่อ คงรู้ดี หลายครั้งฝ่ายการเมืองใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการปล่อยข่าวบางข่าว และสื่อรู้ทั้งรู้ก็ทำ ถามว่า นั่นผิดภารกิจของตัวหรือไม่ เพราะทำทั้งๆ ที่รู้ สื่อต้องการความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง เพื่อหวังจะได้ inside information ที่คนอื่นไม่ได้ เมื่ออยากได้ก็ต้องมีความสนิทคุ้นเคย ความสนิทคุ้นเคยนั้นก็นำไปสู่การปล่อยปละละเลยในบางเรื่องที่ควรต้องถูกเผยแพร่ ฉะนั้น ถ้าดุลทั้งสองข้างไม่ระมัดระวังให้ดี ทั้งสองข้างก็จะทำหน้าที่ของตัวไม่ได้เต็มที่ และสุดท้ายก็นำไปสู่ความไม่เชื่อถือกันในที่สุด"
ปฏิรูปสื่อไม่ใช่การตบมือข้างเดียว
คำถามที่ว่า เราจะปฏิรูปสื่อ เพื่อขจัดสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ นายมีชัย ยืนยันว่า ยาก เพราะไม่ใช่การตบมือข้างเดียว แต่ต้องการคนทั้งประเทศที่จะมองอย่าทิศทางเดียวกันว่า สื่อมีส่วนสำคัญ สื่อเป็นเหมือนลมหายใจ สื่อเป็นเครื่องบอกให้รู้ว่า เกิดอะไรขึ้น สื่อเป็นหลักแหล่งที่จะแสดงความคิดเห็น ฉะนั้นทุกคนจึงต้องร่วมกัน ซึ่งถ้าเรานึกย้อนกลับไปดู สังคมเรามีปัญหาในเกือบจะในทุกแง่ทุกมุม ด้วยต้นต่ออันเดียวคือ ความไม่มีวินัย และความไม่เคารพสิทธิและหน้าที่ของคนแต่ละคน ซึ่งถ้ามีสองอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรก็ไม่ต้องปฏิรูป จะดีไปเอง และจะถูกบังคับไปในตัวให้ต้องอยู่กับร่องกับรอย
"ถ้ามองในแง่ของสื่อที่จะปฏิรูป ในแวดวงของสื่อถามว่า ทำได้ไหม คำตอบก็คือ ทำได้ยาก แม้แต่ในแวดวงของสื่อเองก็ทำได้ยาก เพราะการทำงานในแวดวงสื่อจะบอกว่า เป็นวิชาชีพ ก็ใช่ แต่เป็นวิชาชีพที่ไม่ใช่วิชาชีพ ในความหมายที่ว่า วิชาชีพคือ การทำอาชีพที่ต้องประกอบไปด้วย วิชาความรู้ทางเทคโนโลยีกับวิธีคิด แต่สื่อมีสองส่วน ส่วนหนึ่งคือคนที่ทำงานในสื่อ กับอีกส่วนคือ คนที่มีความคิดแล้วส่งข้อความคิดนั้นลงไปในสื่อ ไปๆ มาๆ คนที่มีความคิดที่ไม่ได้ทำงานกินเงินเดือนสื่อ อาจมีมากกว่าคนที่ทำงานกินเงินเดือนสื่อด้วยซ้ำไป
เราอาจจะออกกฎเกณฑ์เพื่อบังคับคนที่ทำงานในโรงงานในโรงพิมพ์อะไรต่ออะไรได้ แต่เราออกกฎข้อบังคับให้พวกเราที่อยู่ที่นี่ไม่ให้คิด ไม่ให้ส่งบทความไปลงไม่ให้เผยแพร่ความคิดของเราได้หรือ คำตอบคือไม่ได้
ฉะนั้น ถ้าสมมุติว่า จะสร้างองค์กรอะไรขึ้นมาสักองค์กรหนึ่ง เพื่อจะดูแลสื่อ ก็ดูแลได้แต่เฉพาะคนที่ทำอาชีพนั้นๆ จริงๆ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรไปบังคับว่า ถ้าคนนั้นไม่ได้ทำงานในโรงพิมพ์ จะแสดงความคิดเห็นเอาบทความลงในสื่อไม่ได้ ก็ไม่มี ยังไม่ต้องนึกถึงว่า คนที่อยู่อาชีพนั้น พร้อมที่จะเข้ามาอยู่ในวงกรอบอันจำกัดนี้หรือไม่ ก็ไม่พร้อม
มีความพยายามหลายครั้ง ตั้งแต่รัฐ ก็อยากออกกฎหมายดูแลสื่อ ซึ่งสื่อก็รับไม่ได้ เพราะเท่ากับเอาอำนาจรัฐมาบังคับและจำกัดเสรีภาพสื่อ สื่อก็คิดใหม่ รวมตัวกันเพื่อจะดูแลซึ่งกันและกัน คำถามก็คือว่า ถ้าตั้งองค์กรกันขึ้นเองแล้วจะเอาอำนาจอะไรที่จะมาบังคับให้คนเข้ามาอยู่ในองค์กรนั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์ ก็ได้เฉพาะแต่ในหมู่คนดีๆ ที่รวมตัวกัน"
พึ่งพากฎหมายในการปฏิรูปสื่อ ไม่ใช่เรื่องง่าย
นายมีชัย ให้ความเห็นถึงการออกกฎหมาย ในฐานะที่ได้ทำงานอยู่กับกฎหมายมาตลอดชีวิต รู้ถึงอันตรายของกฎหมายที่สุด เพราะกฎหมายคือคำสั่ง คำบังคับ ใครไม่ทำตามคนนั้นต้องได้รับโทษ ซึ่งเมื่อไหร่มีกฎหมายออกมาชิ้นหนึ่ง แปลว่าจะต้องมีคนส่วนหนึ่งถูกบังคับ คนที่ไปบังคับชื่นใจดีใจ แต่ลองนึกถึงคนถูกบังคับ ซึ่งก็คือคนทั้งประเทศ คนที่ไปบังคับคือคนกลุ่มเดียว เพราะกฎหมายก็เป็นอันตรายในตัวของมัน
"กฎหมายไม่ใช่พึ่งอันตราย แต่เป็นอันตรายมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เปรียบเทียบไว้ว่า กฎหมายเหมือนใยแมงมุม ตัวเล็กตัวน้อยเข้าไปก็ถูกจับได้ แต่ถ้าตัวใหญ่เข้าไปในใยแมงมุม ก็ขาดกระเจิงที่นี้ถ้าเราจะออกกฎหมายเพื่อปฏิรูป รวมตัวกันเอง รัฐไม่เข้ามาเกี่ยว ถ้าจะให้ได้ผลต้องมีบทบังคับใช่หรือไม่ว่า ทุกคนต้องเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ ถามว่าบทบังคับนั้นคืออะไร บทบังคับนั้นก็คือ อำนาจรัฐ คราวนี้ก็กลายเป็นว่า แทนที่รัฐจะมาบังคับ เราก็อำนาจรัฐไปใส่ในมือคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้คนกลุ่มนั้นบังคับ แล้วต่างอะไรกันกับการที่รัฐบังคับ อาจจะแย่กว่าก็ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐยังถูกเพ็งเล็ง มีกฎหมายอาญา มีวินัยบังคับ และต้องทำด้วยความระมัดระวัง แต่ถ้าเป็นคนกันเอง แล้วไปอยู่ในมือคนที่ลุแก่อำนาจก็ดูไม่จืด
นอกจากอำนาจที่จะใช้บังคับแล้ว ถามว่าแล้ว sanction คืออะไร พอเจอคนทำผิด มีคนมาร้อง มีคณะกรรมการจริยธรรมตรวจสอบพบว่า ผิด จะทำอย่างไร จะไปเอาเข้าคุกเข้าตารางก็ไม่ได้ เพราะคงไม่มีใครเขียนถึงขนาดให้มีความผิดทางอาญา จะตัดอาชีพก็ทำไม่ได้ อย่างมากก็ห้ามเจ้าของโรงพิมพ์รับคนนี้เข้าทำงาน ถามว่าเขาเขียนบทความไปลงที่อื่นได้หรือไม่ ก็ทำได้ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพของเขา
ฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะพึ่งพากฎหมายในการปฏิรูปสื่อ ยากจริงๆ เพราะมันกระทบถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคน ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานที่เราจะแตะต้องไม่ได้ ฟังดูก็ทำท่าจะจนปัญญาว่า ถ้าเราจะปฏิรูปจะทำอย่างไร"
ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการอาศัยอาศัยตัวบทกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวทำได้ยาก ต้องการวิวัฒนาการในการร่วมกันคิดถึงจุดที่ดีที่เหมาะสมที่สุด ที่สื่อควรจะมีหน้าที่ต่อสังคม แล้วค่อยๆ พัฒนาโดยผ่านทางมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ผลิต ต้องผลิตให้เกิดความรู้สึกที่เข้ม เพียงพอที่จะออกไปโต้แย้งเขาเมื่อเวลาถูกคนรุ่นเก่าสั่งให้ทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูก และผลิตออกไปให้เยอะให้ทัน อย่าไปถูกครอบเสียก่อน
ขณะเดียวกันสื่ออาวุโสก็ต้องเริ่มคุยกัน เพื่อที่จะหาจุดพอดีที่จะรักษาศักดิ์ศรี รักษาความน่าเชื่อถือ และรักษาจริยธรรมของตัวเองเอาไว้ จะบันทึกไว้เป็นเล่มเพื่อเป็นแบบอย่างเป็นต้นแบบ และใช้วิธีการความเป็นอาวุโสวิจารณ์กันเองว่า สิ่งที่ทำกันอยู่นั้นทำเกินไปหรือไม่ เพื่อที่จะได้ค่อยๆกระตุกกันลงมา เพราะให้คนอื่นพูดก็ยากที่จะสัมฤทธิ์ผลได้ แต่ถ้าคนกันเองพูด คนกันเองตกลงกันเอง และคอยท้วงคอยติงกันเอาไว้ คิดว่าจะทำให้สถานภาพสถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น
ทั้งนี้ นายมีชัย ยืนยันว่า การออกกฎหมายนั้นไม่ยาก แต่ตอนที่ออกมาแล้วมันลำบาก ที่เวลานี้กำลังเป็นโรคระบาดที่อันตรายที่สุดสำหรับสังคมมนุษย์ ก็คือโรคระบาดของเรื่องการออกกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพ ทุกคนอยากสร้างอาณาจักรของตัวเอง แล้วก็ออกกฎหมายวิชาชีพ แม้กระทั่งวิชาวิทยาศาสตร์ อาชีพวิทยาศาสตร์ยังจะเป็นวิชาชีพ ทั้งๆที่เรื่องวิทยาศาสตร์ ไม่เรียนจบปริญญาก็คิดอะไรทางวิทยาศาตร์ได้ ไอสไตล์คิดทฤษฎี E=mc2 อายุ 25 ปีและหลายคนไม่ได้จบปริญญาตรี แต่เมื่อเป็นวิชาชีพ เบื้องต้นของสภาวิชาชีพก็คือ ต้องจบปริญญาในมหาวิทยาลัยที่สภาวิชาชีพรับรอง ทีนี้คนที่นั่งอยู่เฉยๆ ก็คิดไม่ได้ และที่แย่ที่สุดก็คือ ตั้งสภาวิชาชีพขึ้นมาแล้ว ก็จะกำหนดว่า มหาวิทยาลัยใครจะเปิดต้องมาให้สภาวิชาชีพรับรอง คณาจารย์ต้องมีเท่าไหร่ เปิดสอนวิชานั้นวิชานี้ เพราะฉะนั้น เรื่องอะไรของสภาวิชาชีพที่จะไปทำเช่นนั้น
"คุณคิดว่ามาตรฐานวิชาชีพของตัวเองเป็นอย่างไร ก็ไปออกข้อสอบ 100 ข้อ 1,000 ข้อก็ออกไป มาจากบ้านนอก ทำข้อสอบได้ มีเหตุผลอะไรจะไม่ให้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งเรื่องนี้ขยายวงกว้างมากขึ้นๆ จนมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ไม่มีหนทางใดที่ไปคิดอ่านพัฒนาหลักสูตรวิชาใหม่ๆได้เลย เพราะกว่าจะไป convince ให้สภาวิชาชีพเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นของใหม่ต้องใช้ระยะเวลาหลายปี"
นี่เป็นเหตุหนึ่งในรัฐธรรมนูญคราวนี้ เขียนห้ามไม่ให้สภาวิชาชีพเข้ามายุ่งกับการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา
"คราวนี้ถ้าเรามาทำสื่อมวลชนให้เป็นสภาวิชาชีพด้วย ก็ต้องระมัดระวัง เพราะจะทำให้คนที่ก้าวเข้าสู่วงการสื่อมวลชนในภายหลังถูกสกัด ถูกตรวจสอบในสิ่งที่จะไม่ใช่เรื่องจริยธรรม เพราะฉะนั้นต้องคิดกันด้วยความระวังว่า เราจะออกกฎหมาย หรือเราจะทำความตกลงในหมู่ผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชน"
ขณะที่ความอึดอัดขัดข้องของสภาวิชาชีพ สมาคมทั้งหลายของสื่อมวลชน มักจะอยู่ที่ตัวเจ้าของสื่อ นายมีชัย เห็นว่า ตรงนั้นเราต้องค่อยๆ ช่วยกันคิดว่า เราจะจับคนเหล่านั้นให้อยู่กับร่องกับรอย ไม่ให้นึกถึงเฉพาะเรื่องธุรกิจได้อย่างไรบ้าง
ยันรัฐอยากให้สื่อปฏิรูปตัวเองตามที่สื่อคิด
ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อกับเจตนารมณ์ของรัฐ ถ้ารัฐหมายถึงรัฐบาล ตอบไม่ได้ แต่ถ้ารัฐหมายถึงประเทศ ประชาชน สังคม พอตอบได้ และคำตอบสั้นๆ ก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ 3 มาตราที่พูดถึงเรื่องสื่อมวลชน คือ มาตรา 35 98 184
มาตรา 35 เป็นบัญญัติที่รับรองเสรีภาพของสื่อ การแสดงความคิดเห็น ภายใต้จริยธรรมแห่งอาชีพ รับรองสิทธิที่จะไม่ถูกปิด ถูกตรวจแล้วมีข้อห้ามไม่ให้รัฐสนับสนุน กิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น แล้วมีการกำหนดเพิ่มว่า หน่วยงานของรัฐใดที่สนับสนุนสื่อ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการโฆษณา หรือการช่วยเหลือทางอื่นต้องรายงาน สตง.และเปิดเผยให้ประชาชนทราบว่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่
มาตรา 98 ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ห้ามไว้ว่าต้องไม่เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
มาตรา 184 ห้ามสมาชิกผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีทั้งหลาย ที่จะต้องไม่ไปขัดขวาง แทรกแซงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนใดๆ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม
"ทั้งสามเรื่องดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสื่อ แต่ทั้งสามเรื่องบอกความสั้นๆ แต่เพียงประโยคเดียวว่า รัฐอย่าไปยุ่งกับสื่อ ไม่ว่าทางดีทางร้าย อย่าไปยุ่ง ปล่อยเขาไปตามสิทธิเสรีภาพตามจริยธรรมของเขาเอง"
แล้วรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์อะไรในการปฏิรูปสื่อ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ไม่มี และจริงๆ ตอนร่างเราก็ไม่อยากให้มี เพราะเราไม่อยากให้รัฐเข้าไปเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการในการปฏิรูปสื่อ เพราะถ้าเมื่อไหร่รัฐยื่นมือเข้าไป อำนาจรัฐตามมาเป็นขบวน แล้วในที่สุด สื่อจะถูกตัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่รู้ตัว สิ่งเดียวที่ทำไว้ในรัฐธรรมนูญคือ ให้เขาทำไปตามที่คิดว่าตามสมควร รัฐอย่าลงไปยุ่ง
"ถามว่า ทำไมเราไม่ให้เจ้าของสื่อมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ห้าม ก็เพราะประโยชน์มันขัดกัน สื่อต้องคอยรายงานพฤติกรรมและการกระทำของรัฐ ถ้าสื่อไปใช้อำนาจรัฐเสียเองแล้วใครจะรายงาน ถึงแม้จะมีฉบับอื่นรายงานก็พวกเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องแยกเสีย
เรื่องที่ให้รายงานว่า หน่วยงานของรัฐใช้เงินโฆษณาเท่าไหร่อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีตที่รัฐวิสาหกิจใช้เงินเป็นร้อยๆล้านบาท เพื่อทุ่มโฆษณาที่เชียร์รัฐบาล หรือทำตามที่รัฐบาลต้องการ สื่อฉบับไหนที่คอยโต้แย้งจะไม่ได้สักบาทเดียว เราไม่ได้ห้าม แต่ให้บอกมาว่า ใช้เท่าไหร่ ปตท. ทุ่มไปที่นี่ สามร้อยล้านบาท เวลาเราจะอ่านฉบับนี้ เราจะได้ชั่งว่าจะฟังไม่ฟังแค่ไหน และก็ประกาศให้ประชาชนทราบ สตง. ทราบ สตง.จะได้ลงไปดูว่า ชอบด้วยเหตุด้วยผลหรือไม่ในการลงโฆษณาเช่นนั้น ใช้เงินคุ้มค่าหรือไม่ ที่สำคัญคือเป็นช่องทางการหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้รัฐสนับสนุนกิจการสื่อ เพราะได้เปรียบเสียเปรียบกันมหาศาล
ส่วนเรื่องสุดท้ายที่ห้ามไม่ให้ก้าวก่าย สั่งการใด จริงๆ ก็มุ่งไม่ให้ไปก้าวก่ายกิจการสื่อของรัฐ รวมถึงเอกชนด้วย เพราะอาจใช้อิทธิพลค่าโฆษณาไปสั่งการให้รายงานอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหากับสื่อขงรัฐพอสมควร ที่จริงรัฐไม่ควรตั้งสื่อ แต่ตั้งสื่อเพื่อจะได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐไปให้ประชานนรู้ว่ารัฐกำลังทำอะไร ต้องการความร่วมมืออย่างไร ภารกิจเหล่านี้ เป็นภารกิจสำคัญของสื่อ ที่รัฐตั้งขึ้น
แต่สื่อที่รัฐตั้งขึ้นมักจะลืมเรื่องเหล่านี้ มักจะนึกว่ารัฐบังคับ ทำไมจะใช้เวลาไปด่ารัฐบาลบ้างไม่ได้มันก็ผิดหน้าที่ เพราะฉะนั้นในรัฐธรรมนูญนี้ก็เขียนไว้ว่า หน่วยงานของรัฐที่เป็นสื่อต้องนึกถึงพันธกิจของตัวเองด้วยไม่ใช่ตะบี้ตะบันทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่รัฐกำลังทำอยู่
นั่นคือ สั้นๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งดูจะไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ แต่ความจริงในนัยบอกถึงปฏิรูปสื่ออยู่เหมือนกันว่า คำว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 คือบอกในตัวว่า สื่อต้องไปคิดวางจริยธรรมของสื่อเอาเอง โดยที่รัฐไม่ต้องลงไปทำ การที่ไม่ให้รัฐเข้าไปแทรกแซงในเรื่องการเงินการทอง ก็เพื่อให้สื่อปฏิรูปได้โดยไม่ถูกผูกมัดด้วยเงิน ถ้ามองให้ลึกก็จะรู้ว่า รัฐอยากให้สื่อปฏิรูปตัวเองตามที่สื่อคิดว่าควรจะเป็น
"ถามว่าในฐานะประชาชนอยากให้ปฎิรูปสื่อหรือไม่ ถ้าถามความเห็นผม เราอยากให้สื่อทำหน้าที่สมความภาคภูมิของความเป็นสื่อ อย่าโน้มเอียงหนักไปในทางธุรกิจ หรือทางการเมือง จนลืมความเป็นสื่อ แน่นอนคนทุกคนย่อมมีทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกัน เมื่อเวลาพ้นหน้าที่ก็เถียงกันได้ แต่ในหน้าที่ความเป็นกลางที่จะให้ข้อมูลที่ครบถ้วนต่อประชาชน ยังเป็นหน้าที่หลักสำคัญของสื่อ
ถามว่าแล้ว ประชาชนมีเครื่องมืออะไรในการดูแลสื่อ ถ้าสื่อไม่ทำอะไรเลย ไม่ปฏิรูป ดูแลกัน ประชาชนทำได้ 3 อย่างคือ
1.ใช้สิทธิทางกฎหมายในกรณีที่ถูกสื่อละเมิด
2.การเลือกเสพสื่อที่ตัวเชื่อมั่นว่า ยังเหลือความเป็นสื่ออยู่ หลายคนเริ่มไม่ซื้อหนังสือพิมพ์หลายฉบับ หรืออ่านข่าว แต่ไม่อ่านความคิดเห็น นั่นแปลว่าเริ่มเสื่อมความน่าเชื่อถือ คนอาจจะคิดว่าจำนวนสิ่งพิมพ์ที่ลดลง ปัจจุบันเห็นว่าลดลงเกือบ 50% เป็นเพราะสื่อออนไลน์ แม้จะจริง แต่อีกส่วนคือ คนไม่เชื่อถือ เพราะฉะนั้นตัวนั้นเป็นตัวที่บอกหรือกำหนดว่า สื่อควรทำอย่างไร
ทางสุดท้ายซึ่งอาจเป็นทางหายนะของสื่อคือ ประชาชนทำสื่อกันเอง ที่เรียกว่า citizen reporter สมัยก่อนเราอาศัยข่าวจากสื่อมวลชนเพียงด้านเดียว ถึงรู้ว่าข่าวไม่จริง ข่าวนั้นบิดเบียนก็ไม่มีหนทางตอบโต้ เราถูกมัดมือชก บัดนี้เทคโนโลยีช่วยคนทุกคน และช่วยตรวจสอบสื่อในทันที
เราจะเห็นอยู่บ่อยๆ ที่รูปภาพที่ลงในหนังสือพิมพ์ อีก 2 ชั่วโมงต่อมาสื่อโซเชียลมีเดียบอกรายละเอียดเป็นภาพเคลื่อนไหว เสียงทั้งหมดเลย นั่นเท่ากับตบหน้าสื่อ และมีมากขึ้นทุกวันๆ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ถ้าสื่อไม่ปรับ
ความได้เปรียบที่เมื่อลงแล้วไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้ เปลี่ยนไปแล้ว เพราะทันทีที่ขึ้นออนไลน์ประชาชนซึ่งมีกล้องทุกคนก็นำขึ้นออนไลน์เช่นเดียวกัน และทำท่าจะเก่งๆ ทั้งนั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งที่เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาในตัว และมาบีบบังคับสื่อให้ต้องปฏิรูป จะต้องเริ่มคิดถึงความถูกต้อง และความไม่ฝักใฝ่ เพราะประชาชนจะเป็นตัวตรวจสอบและเป็นตัวจักรกลที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เฉพาะสื่อไทย แต่รวมทั้งสื่อโลก"
อีกประการสำคัญ นายมีชัย ระบุว่า เมื่อต่างคนต่างมีมือถือ ข้อมูลที่แม้จะอยู่ในที่ลับ ที่ประชุมสุดยอดก็ออกมาได้ และก็มีวิธีไปค้นของเก่ามาต่อกันได้ เรื่องเดิมเป็นอย่างนี้เคยพุดอย่างนี้ทำ เพราะฉะนั้นตัวนี้จะเป็นตัวพลิกโลก และเป็นตัวที่ทำให้สื่อต้องปฏิรูปในทิศทางที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมในที่สุด
แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ สื่อก็ยังต้องมีอยู่ และก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ต้องรักษากันเอาไว้ เพราะเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งที่เป็นระบบระเบียบพอที่จะไม่ทำให้การกระจายข่าวสะเปะสะปะเกินไป และเป็นตัวถ่วงดุลของ social reporter อีกทางหนึ่ง ในขณะเดียวกัน social reporter ก็เป็นตัวถ่วงสื่อในตัวด้วยเช่นกัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก:https://www.facebook.com/banyong.suwanpong?fref=ts