- Home
- Thaireform
- ข่าวเด่น นโยบายสาธารณะ
- ผลงานชิ้นโบว์แดง สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยจี้บิ๊กตู่จัดการบ.บุหรี่นอก เลี่ยงภาษี 6.8 หมื่นล.
ผลงานชิ้นโบว์แดง สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยจี้บิ๊กตู่จัดการบ.บุหรี่นอก เลี่ยงภาษี 6.8 หมื่นล.
สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย- นักวิชาการจี้รัฐบาลและอัยการเร่งสั่งฟ้องบริษัทฟิลลิปมอร์ริส กรณีเลี่ยงภาษีบุหรี่กว่า 6.8 หมื่นล้านบาท เชื่อมั่นรัฐบาลทหารแก้ปัญหาได้
25 สิงหาคม 2558 สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดแถลงข่าวเรื่อง “ฟิลิปมอร์ริส หลบเลี่ยงภาษีบุหรี่มากกว่า 68,000 ล้าน” ณ ห้องกมลทิพย์1 ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ
นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์กรอนามัยโลก (2550-2551) กล่าวว่า คดีมหากาพย์เรื่องบริษัทฟิลลิปมอร์ริสหลีกเลี่ยงภาษีบุหรี่นั้น หากจะรวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสรุปได้คร่าวๆดังนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนมีการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าเริ่มมีการสอบสวนภาษีบุหรี่ ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีหนังสือถึงอัยการสูงสุด พร้อมสำเนาการสอบสวนและพยานหลักฐาน 21 ลัง มีความเห็นว่าควรสั่งฟ้อง
นพ.หทัย กล่าวอีกว่า ในช่วงวันที่ 18 มกราคม 2553 กระทรวงพาณิชย์แจ้งดีเอสไอว่าบริษัทฟิลลิปมอร์ริส (ประเทศไทย) ละเมิดกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ถัดมามกราคม 2554 พนักงานอัยการกลับคำสั่งไม่ฟ้องคดี และในช่วง 15-18 มีนาคม 2554 ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า รัฐบาเรียกดีเอสไอ และอัยการประชุมหารือเป็นผลให้อัยการไม่ฟ้องคดี กระทั่งวันที่ 2 ตุลาคม 2556 นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัยการสูงสุดคนใหม่ แถลงว่าก่อนที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดคนเก่าจะเกษียณอายุราชการได้เซ็นคำสั่งฟ้องบ.ฟิลลิปมอร์รส แต่หลังจาก2 ตุลาคม 2556 เรื่องนี้ก็ไม่มีข่าวและความคืบหน้าอีกเลย
ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลของพลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชาได้แสดงความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาความโหลยโท่ยของระบบราชการไทยที่สะสมมานานให้ดีขึ้นในเชิงประจักษ์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องประมงผิดกฎหมาย จัดการข้าราชการระดับสูงกรณีค้ามนุษย์โรฮิงญา
“ดังนั้นมีความมั่นใจว่าหากท่านนายกฯ สั่งดำเนินการคดีนี้ เชื่อว่าคดีนี้จะมีความคืบหน้าอย่างแน่นอน ไม่ว่าเราฟ้องแล้วจะได้เงินคืนหรือไม่ ขอแค่เราฟ้องตามพยานหลักฐานนั่นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว”
ด้านรศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม อาจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกรณีการเลี่ยงภาษีและส่งผลเสียหายต่อประเทศไทยว่า ราคานำเข้าที่บ.ฟิลลิปมอร์ริส แจ้งนั้นมีราคานำเข้าต่ำกว่าราคานำเข้าของบ.คิงพาวเวอร์ค่อนข้างมาก เช่น กรมศุลกากรพบว่า บ.ฟิลลิปมอร์ริส แสดงราคานำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโลซองละ 7.76 บาท ขณะที่คิงพาวเวอร์ซองละ 27.46 บาท เมื่อนำราคาที่ต่างกันมาคำนวณกับปริมาณการนำเข้าแล้ว พบว่าในช่วงปี 2546 ถึง ก.พ. 2550 บ.ฟิลลิปมอร์ริสแสดงราคานำเข้าทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีอาการประมาณ 68,881 ล้านบาท
“การที่เขาแสดงราคานำเข้าต่ำกว่าบริษัทอื่น 3-4 เท่า ทำให้เกิดความข้องใจว่า นี่คือวิธีการหนีภาษีแบบหนึ่งหรือไม่เมื่อพิจารณาตามทฤษฎีเกี่ยวกับการหนีภาษี”
รศ.ดร.สุชาดา กล่าวด้วยว่า คำนวณความสูญเสียเพียง 4 ปี ยังพบความสูญเสียกว่า 6 หมื่นล้านบาท หากคำนวณต่อจากปี 2550 จนถึงปัจจุบันโดยสมมติให้ส่วนต่างเท่าเดิมและปริมาณการนำเข้าเท่าเดิมจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีไปอีกราวๆ 1.47 แสนล้านบาท ซึ่งความเป็นจริงแล้วการนำเข้าบุหรี่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากนำมูลค่าความเสียหายเดิม 6.8 หมื่นล้านบาท หมายความว่ารัฐบาลอาจสูญรายได้ภาษีจากบุหรี่นำเข้าถึง 2.15 แสนล้านบาท
ขณะที่นายวศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจของพฤติกรรมอันไม่ชอบธรรมของฟิลลิปมอร์ริส โดยแบ่งเป็น 3 กรณี
กรณีแรก การวางแผนภาษีที่ไม่สุจริต บ.ฟิลลิปมอร์ริส(ฟิลิปปินส์)ขายให้บ.อื่นมีราคาสูงกว่าราคาต้นทุนนำเข้าที่แจ้งโดยบ.ฟิลลิปมอร์ริส(ไทยแลนด์) และราคานำเข้าบุหรี่มาร์โบโลในประเทศเอเชียอื่นๆก็สูงกว่าราคานำเข้าที่แสดงในประเทศไทย ดังนั้นการที่บุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโลและแอลแอนด์เอ็มจากฟิลิปปินส์ต่ำกว่าราคาปกติ เพื่อชำระภาษีบุหรี่น้อยกว่าความเป็นจริง ซึ่งตามหลักวิชาการทางภาษี การยื่นราคาต่ำเพื่อที่จะเสียภาษีน้อยจัดเป็นรูปแบบการเสียภาษี
กรณีที่สอง เรื่องความเป็นนิติบุคคลเดียวกัน คือ บ.ฟิลลิปมอร์ริส (ประเทศไทย) กับบ.ฟิลลิปมอร์ริส ฟิลิปปินส์ เป็นบ.ในเครือเดียวกัน มีวัตถุประสงค์ของกิจการในการจำหน่ายบุหรี่เหมือนกันและภายใต้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน ทั้งนี้ข่าวตั้งแต่ปี 2551 มีการรวบรวมข้อเท็จจริงพบเครือข่ายความสัมพันธ์ของบ.ทั้งสองแห่ง และมีประเด็นปัญหาการวางแผนภาษีที่ไม่สุจริต
และกรณีสุดท้าย คือ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบ.ฟิลลิปมอร์ริส ซึ่งจากกรณีแรกและกรณีที่สอง บ.ฟิลลิปมอร์ริส (ประเทศไทย) กับบ.ฟิลลิปมอร์ริส ฟิลิปปินส์ เป็นบ.ในเครือเดียวกัน ที่ควบคุมโดยบ.ฟิลลิปมอร์ริส อเมริกา จึงสามารถถ่ายเทต้นทุนค่าใช้จ่ายระหว่างกันได้ ดังนั้นจึงทำให้กำหนดราคาต่ำเพื่อทุ่มตลาดแข่งขันกับโรงงานยาสูบของไทย
ส่วนนายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่ออัยการสูงสุดสั่งฟ้องบ.ฟิลลิปมอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กับผู้ต้องหารวม 12 คน เป็นชาวต่างชาติ 4 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย ซึ่งชาวต่างชาติ 4 ราย ได้หลบหนีการจับกุมไปแล้ว ดังนั้นผ่านมาเป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง อัยการและเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานะพนักงานสอบสวนก็ยังไม่สามารถติดตามผู้ต้องหาคนใดคนหนึ่งมาฟ้องต่อศาลได้เลย หากทั้งสองหน่วยงานไม่เร่งดำเนินการ ก็เกรงว่าคดีนี้จะขาดอายุความจนทำให้ประชาติต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล
“ดังนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนคอยให้ความช่วยเหลือบริษัทแห่งนีหรือไม่ และหากพนักงานเจ้าหน้าที่คนใดเพิกเฉยหรือไม่ดำเนินการภายในเวาอันควร ก็อาจจะเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และมีความผิดตามกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ฉะนั้นอัยการควรเร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องศาลให้ได้”
นายไพศาล กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลของคสช.สามารถที่จะดำเนินการในการสั่งฟ้องคดีนีได้ ก็นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาที่จะเรียกคืนภาษีกลับมาคืนความสุขให้ประชาชนไทย