- Home
- Thaireform
- ข่าวเด่น นโยบายสาธารณะ
- ก.วิทย์ หวังมาตรการยกเว้นภาษี 300% สร้างแรงจูงใจเอกชนทุ่มงบ R&D
ก.วิทย์ หวังมาตรการยกเว้นภาษี 300% สร้างแรงจูงใจเอกชนทุ่มงบ R&D
กระทรวงวิทย์ฯ เปิดศักราชหลัง ครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษี วิจัยและพัฒนา 300% เชื่อเอกชนรายใหญ่ บริษัทข้ามชาติ มีแรงจูงใจ ยันอนาคตสร้างรายได้เข้ารัฐมากกว่าภาษีที่รัฐสูญเสียไปหลายเท่าตัว
วันที่ 7 มกราคม 2558 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในประเด็น “เปิดศักราชกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลัง ครม. ไฟเขียวลดหย่อนภาษีส่งเสริมและพัฒนา ดันจีดีพีประเทศ”ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
ดร.พิเชฐ กล่าวถึงการที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 นั้น สาระสำคัญคือการเพิ่มมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก 200% เป็น 300% ซึ่งมาตรการดังกล่าว มีความสำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้ผลงานวิจัยในภาครัฐรองรับความต้องการเชิงพาณิชย์ที่จริงแล้ว ยังเชื่อมโยงการวิจัยกับภาคเอกชนเพื่อให้มีนวัตกรรมในการลดต้นทุนและสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ
สำหรับมาตรการดังกล่าว รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลด้านการเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศโดยรวมให้ได้ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเพิ่มสัดส่วนการวิจัยและการพัฒนาของเอกชนเป็น 70: 30 % ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ว่า การขับเคลื่อนประเทศต้องพึ่งพานวัตกรรมโดยการสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาการวิจัยและพัฒนา
ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนักวิจัย 3,000-4,000 คน มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่ทันสมัยและมาตรฐานระดับสากล รวมถึงมีหน่วยงานที่สนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของ สวทช.พบว่า ตั้งแต่เริ่มมาตรการยกเว้นภาษีวิจัยและพัฒนา 200% ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เริ่มจากปี 2545 มีผู้ขอรับรองโครงการและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีฯ คิดเป็นมูลค่า 65 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2555 มีผู้ขอรับรองโครงการมีมูลค่าถึง 1,465 ล้านบาท รวมแล้วมีมูลค่าสะสมถึง 5,670 ล้านบาท
“ในภาพรวมของการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจาก 20,684 ล้านบาท เป็น 26,800 ล้านบาท ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้นในปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อมีมาตรการยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 300% เชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชน เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งที่เป็นเอกชนรายใหญ่และบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย ที่เป็นซัพพลายเชนของภาคเอกชนดังกล่าว”
ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า มาตรการยกเว้นภาษี 300% นี้ แม้จะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ แต่ปริมาณการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา ที่เพิ่มมากขึ้นของภาคเอกชน จะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ประเภทอื่นได้มากขึ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอันเกิดจากการขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของเอกชนพบว่า สร้างรายได้เข้ารัฐมากกว่าภาษีที่รัฐสูญเสียไปหลายเท่าตัว
ช่วงท้าย ดร.พิเชฐ กล่าวถึงงานวิจัยเกี่ยวกับลู่วิ่งยางพารา ที่ทำเสร็จมาตั้งแต่ปี 2552 นั้น เป็นงานวิจัยที่จะเข้ามาช่วยแก้วิกฤติยางพาราที่มีราคาตกต่ำอยู่บ่อยครั้ง นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะทำให้ภาคเอกชนหันมาสนใจและลงทุนด้านงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ก.แรงงานติดกลุ่มหน่วยงานระดับกระทรวงงบฯ วิจัยน้อยสุดในไทย
เพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายวิจัย 2 เท่าเป็น 3 เท่า
แนวทางการแปรรูปยางธรรมชาติ เพื่อนำไปสร้างพื้นลู่ - ลานกรีฑา พื้นลานอเนกประสงค์