- Home
- Thaireform
- ข่าวเด่น นโยบายสาธารณะ
- ไล่ฟ้องลูกหนี้กยศ.แล้วกว่า 5 แสนราย คาดปี 57 ออกกฎเหล็กเข้มคัดกรองผู้กู้
ไล่ฟ้องลูกหนี้กยศ.แล้วกว่า 5 แสนราย คาดปี 57 ออกกฎเหล็กเข้มคัดกรองผู้กู้
กยศ.ปล่อยกู้เงินนศ.กว่า 4 ล้านราย ฟ้องร้องแล้ว 5 แสน เผยขั้นตอนการกู้ง่าย เด็กไม่เห็นคุณค่า ขณะที่บางคนกู้ตามเพื่อน เตรียมออกกฎคัดกรองสถาบันเข้าร่วมกองทุน - ผู้กู้ นอกจากขาดแคลนแล้วต้อง “เรียนดี” ด้วย
ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงการดำเนินงานของ กยศ.ในช่วงระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมาว่า กยศ.ปล่อยกู้ไปแล้วเป็นจำนวนเงินกว่า 4 แสนล้านบาท จากจำนวนผู้กู้กว่า 4 ล้านราย โดยจำนวนหนี้ที่ครบกำหนดชำระมียอด 2.8 ล้านบาท และได้รับการชำระคืนเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
สำหรับการฟ้องร้องไกล่เกลี่ยซึ่งลูกหนี้นั้น ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า มีลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้องจำนวนสูงถึง 5 แสนราย ซึ่งหลังจากมีการฟ้องร้องไปแล้วมีเพียง 30-40 % เท่านั้นที่กลับมาชำระหนี้คืน โดยจากการสำรวจจำนวนลูกหนี้ที่เข้าโครงการฟ้องร้องไกล่เกลี่ยพบว่า 50% เป็นผู้ที่มีรายได้และงานประจำทำ ส่วนผู้ไม่มีงานทำคิดเป็น 20 % เท่านั้น
"ในอนาคต กยศ.จะต้องสร้างระบบคัดกรองของสถาบันที่จะเข้ามาร่วมโครงการ รวมถึงคุณสมบัติของผู้กู้ให้มากขึ้น โดยในขณะนี้ยอมรับว่า เรายังไม่มีระบบการคัดกรองเลยทำให้การกู้ยืมเงิน ดูเป็นเรื่องที่ง่าย ดังนั้นในปี 2557 กยศ.จะออกเกณฑ์คุณสมบัติของสถาบันการศึกษาที่จะเข้ามาร่วมโครงการอย่างชัดเจน รวมถึงคุณสมบัติของผู้กู้ เช่น นอกจากจะขาดแคลนคุณทรัพย์แล้วอาจจะต้องเป็นบุคคลที่มีผลการเรียนดีด้วย เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการเข้ามากู้ยืมเงินของกองทุน ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงานของทางกยศ. เพราะที่ผ่านมาเด็กไม่เห็นคุณค่าของการกู้ และบางคนก็กู้ยืมเงินตามเพื่อน ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็น"
ดร.ฑิตติมา กล่าวต่อว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการใช้ระบบของเครดิตยูโร กยศ.ให้โอกาสมากสำหรับเด็กในการเคลียร์ตัวเองเพื่อชำระหนี้ เนื่องจากไม่อยากให้เด็กมีเครดิตที่ไม่ดีในสถาบันทางการเงิน
เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะในการให้ผู้กู้ชำระคืนเป็นรายงวดอย่างชัดเจนนั้น ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า กำลังมีการพิจารณาเช่นกัน แต่การเปลี่ยนแปลงระบบขั้นตอนก็จำเป็นต้องใช้เวลา ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องมีการรื้อระบบโครงสร้างใหม่ พร้อมทั้งแนะนำให้ลูกหนี้ที่ไม่ได้รับจดหมายแจ้งเตือนการชำระเงินให้ตระหนัก และมีจิตสำนึกเอง เพราะข้อมูลการตรวจสอบขณะนี้ทำได้ง่ายโดยสามารถเข้าดูในเว็บไซต์ หรือโทรสอบ ถาม call center รวมถึงธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามก็ได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามถึงโครงการ “กยศ.พี่ช่วยน้อง” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ ดร.ฑิตติมา กล่าวว่า เพื่อเป็นการรณรงค์ ให้รุ่นพี่ที่ครบกำหนดการชำระเงินหันมาชำระเงินคืนในบางส่วน แม้อาจจะไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่เราก็หวังผลในระยะยาวเพื่อเป็นการช่วยเหลือน้องๆ ในรุ่นต่อไปที่จะทำการกู้ยืมต่อ
"โครงการนี้จะมีการลงนาม MOU ร่วมกันระหว่างกลุ่มองค์การนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะมีกรมบัญชีกลาง สํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลาม ส่วนภาคเอกชนมีองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) เอกชน 5 สถาบันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทั้งหมดนี้จะเข้ามามีส่วนร่วมกับกยศ.เพื่อตรวจสอบพนักงานในสังกัดว่า มีการกู้ยืมเงินจากกยศ.หรือไม่ ถ้าพบว่า มีการกู้เงินจากกยศ.ก็จะสร้างจิตสำนึกให้จ่ายคืน และถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเกิดขึ้น เพราะนายจ้างก็อยากได้ลูกจ้างที่มีวินัยทางการเงิน หลังจากลงนามร่วมกันแล้วองค์กรต่างๆเหล่านี้ก็จะช่วยตรวจสอบเลย"
ผู้จัดการ กยศ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้กยศ.ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆในการช่วยสร้างงาน โดยจะมีกลุ่มบริษัทเข้ามาช่วย เช่นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมการจัดหางาน กองทุนตั้งตัวได้ บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จํากัด บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อ โดยให้นักเรียนนักศึกษาที่กู้เงินกองทุนเข้าไปฝึกงาน เมื่อจบแล้วก็รับเข้าทำงานทันที ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ใช้หนี้แล้วเราก็ยังจัดหางานให้ทำด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: