- Home
- Thaireform
- ข่าวเด่น นโยบายสาธารณะ
- คุยกับ ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน “ไทยกำลังเปลี่ยนจากสังคม DINK เป็น SINK”
คุยกับ ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน “ไทยกำลังเปลี่ยนจากสังคม DINK เป็น SINK”
“ภาวะการเจริญพันธุ์ของไทยลดลงเร็ว จากที่ครอบครัวไทยอยากมีลูก 2 คน แต่มีจริงๆ 1.5 คน ตรงนี้เพราะมีการขัดกันระหว่างการทำงานกับการเลี้ยงลูก หาสถานเลี้ยงเด็กยากมาก ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นแก้ปัญหาด้วยการให้การสนับสนุนเงินสร้าง Child Care รวมถึงให้สามีหรือภริยาลาไปเลี้ยงดูลูกได้ เขามองว่า เป็นการลงทุนในทุนมนุษย์ ไม่ได้มองว่า ครอบครัวนั้นๆ ได้ประโยชน์จากรัฐ"
ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) ผู้ศึกษาเรื่องเศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity economy) การตลาดอายุวัฒน์ ทำอย่างไรให้สังคมไทย เป็นสังคมเศรษฐกิจอายุวัฒน์ไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ เปลี่ยนมุมมอง สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชากรในวัยต้นๆ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย กินอาหารดี ทำงานอย่างมีคุณภาพ เรียนรู้ตลอดชีวิต
อีกหมวกหนึ่ง ศ.ดร.เกื้อ ในฐานะเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศึกษาและวิจัยเรื่องผู้สูงอายุ ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ถึงการตั้งรับสังคมสูงวัย คนวัยแรงงานที่มีกำลังวังชา อายุ 30 ปีขึ้นไปควร “ออม” (Savings) ให้เยอะๆได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพราะอีก 30 ปีข้างหน้า หากคิดจะให้รัฐดูแลไม่มีทาง เงินไม่พอ!!
จากนั้น ศ.ดร.เกื้อ ฉายภาพให้เห็นข้อมูลปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 64 ล้านคน มีผู้สูงอายุประมาณ 8.4 ล้านคน หรือคิดประมาณ 13.2% อนาคตประชากรไทยจะขึ้นไปสูงสุดที่ 69 ล้านคน และจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ อัตราเพิ่มของประชากรในอัตราที่ลดลงเช่นนี้ เนื่องมาจากครอบครัวไทยมีลูกเฉลี่ยแค่ 1.5 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทนที่ 2.1 คน (อัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำกว่าระดับทดแทน หมายถึง ภาวะเจริญพันธุ์ระดับที่สตรีตลอดวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะให้กำเนิดบุตรเพียงพอที่จะทดแทนตนเองและคู่สมรส)
ศ.ดร.เกื้อ เล่าว่า นักประชากรศาสตร์ของไทยมีการจัดทำแผน 20 ปี เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ไปว่า หากภาวะเจริญพันธุ์ลดลงเรื่อยๆ แบบนี้ สัดส่วนผู้สูงอายุก็จะเพิ่มสูงขึ้น
ทางแก้ไข มี 4 ทาง คือ
1. ครอบครัวไทยแม้อยากมีลูก 2 คน แต่ความเป็นจริงมีประมาณ 1.5 คน เรียกว่ามีน้อยกว่าที่คาดกันไว้
ผลการศึกษาครอบครัวไทย เวลาไปสอบถาม อยากมีลูกกี่คน คำตอบ คือ 2 คน
อยากได้ลูกชาย หรือลูกสาว คำตอบ คือ อยากได้ทั้งสองเพศ
หากไม่ได้ทั้งสองเพศ อยากได้ผู้หญิงสองคน หรือผู้ชายสองคน คำตอบครอบครัวไทย คือ ผู้หญิงสองคน มากกว่า ผู้ชายสองคน เพราะสังคมไทยผู้หญิงจะดูแลผู้สูงอายุ
การแก้ไขปัญหาภาวะเจริญพันธุ์ลดลงนั้น มีตัวอย่างประเทศสวีเดน มีนโยบายส่งเสริมการเกิด เช่น หากมีลูกคนที่ 1 รัฐบาลจะให้เงิน 2 พันยูโร คนที่ 2 ให้ 4 พันยูโร คนที่ 3 ให้หมื่นยูโร
หรือประเทศญี่ปุ่น มีนโยบายให้สามีหรือภริยาลาไปเลี้ยงลูกได้ สามารถได้รับเงินจากรัฐ 70% ของเงินเดือน เนื่องจากมองว่า เป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ จึงมีการเสนอสภาพัฒน์ว่า ประเทศไทยควรมีนโยบายเช่นนี้
ปัจจุบัน คนไทย 6 คนที่อยู่ในวัยแรงงาน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่อีก 30 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ 1.7 ต่อผู้สูงอายุ 1 คน เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ชี้ว่า ฉะนั้นคนอายุ 30 -40 ปี หากมีเงินออมไม่เพียงพอ อีก 20-30 ปีข้างหน้า เงินประกันสังคม เงินประกันชราภาพไม่น่าจะเพียงพออีกต่อไปแล้ว รวมทั้ง ภาครัฐต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุ
2. วัยแรงงานจำนวน 42 ล้านคน ทำอย่างไรถึงจะมีการเตรียมตัวด้านสุขภาพ ประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้มีรายได้ สามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคนี้ได้ ซึ่งเมื่อมีรายได้มากขึ้น ก็จะมีเงินออมเพิ่มขึ้น
ศ.ดร.เกื้อ ได้ยกตัวอย่างในประเทศยุโรปที่สามารถก้าวข้ามมุมมองผู้สูงอายุว่า เป็นภาระไปได้ โดยมองเป็นสังคมอายุวัฒน์ (Longevity society) มีการเตรียมตัวทั้งร่างกาย ใช้ชีวิตให้มีคุณภาพ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีมีคุณภาพ ตั้งแต่อยู่ในวัยแรงงาน 35-40 ปี เพราะหลังจากนั้นร่างกายจะเริ่มถดถอยลง
3. ทำอย่างไรให้สังคมไทย healthy wealthy Aging ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยมีแค่ 13% แต่อีก 30 ปีจะพุ่งขึ้นมา สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล ไม่เพียงพอที่จะดูแลผู้สูงอายุแน่นอน ฉะนั้น จำเป็นต้องเตรียมชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาดูแล
4. เมื่อรวมเป็นประชาคมอาเซียน โครงสร้างประชากรอาเซียนจะช่วยเอื้อซึ่งกันและกัน ประเทศในอาเซียนจะแบ่งการทำงานอย่างไรได้บ้าง
ศ.ดร.เกื้อ ชี้ว่า สาเหตุที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว เพราะภาวการณ์เจริญพันธุ์ของไทยลดลงเร็วมาก ขณะที่การแพทย์ไทยดีขึ้น คนไทยอายุยืน แต่ไม่ได้อายุยืนอย่างมีคุณภาพ เนื่องด้วยอาหารการกิน ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง ซึ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งยังนำสูงสุด
“ภาวะการเจริญพันธุ์ของไทยลดลงเร็ว จากที่ครอบครัวไทยอยากมีลูก 2 คน แต่มีจริงๆ 1.5 คน ตรงนี้เพราะว่า การขัดกันระหว่างการทำงานกับการเลี้ยงลูก หาสถานเลี้ยงเด็กยากมาก ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นแก้ปัญหาด้วยการให้การสนับสนุนเงินสร้าง Child Care รวมถึงให้สามีหรือภริยาลาไปเลี้ยงดูลูกได้ เขามองว่า เป็นการลงทุนในทุนมนุษย์ ไม่ได้มองว่า ครอบครัวนั้นๆ ได้ประโยชน์จากรัฐ
ผมเชื่อว่า หากมีสิ่งอำนวยความสะดวก มีสถานรับเลี้ยงเด็กเพียงพอ สามีหรือภริยาลาเลี้ยงลูกได้ เหมือนในสแกนดิเนเวีย หรือสวีเดน ที่ให้เงิน 70% ของเงินเดือน โดยเขาถือว่า รัฐไม่ได้ให้ครอบครัว แต่รัฐลงทุนในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ หากประเทศไทยไม่ทำเช่นนี้ เราก็จะขาดแคลนแรงงานในอนาคต”
ในฐานะนักวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เขาเห็นว่า สังคมไทย ผู้หญิงแต่งงานที่อายุเฉลี่ย 28-31 ปี และมีลูกหลังแต่งงานมาแล้ว 3-4 ปี ซึ่งทำให้มีลูกยาก แตกต่างจากอดีตผู้หญิงไทยแต่งงานไม่เกิน 18 เดือนก็จะมีลูกกันแล้ว ตอนนี้ต้องรอให้พร้อมก่อน พอเริ่มจะมีลูกก็มีลูกยากแล้ว
เมื่อถามว่า หากเราไม่ทำอะไรเลย ปล่อยไปแบบนี้ ศ.ดร.เกื้อ ชี้ว่า การที่ภาวะเจริญพันธุ์ลดลงเร็ว ยิ่งลดลงเร็วเท่าไหร่ สัดส่วนเด็กลดลง สัดส่วนผู้สูงอายุก็จะเพิ่มขึ้น
"เวลานี้เรากำลังเป็นสังคม DINK (Dual Income No Kid) สามีภริยามีรายได้ทั้งคู่ ไม่มีลูก และกำลังเปลี่ยนจากสังคม DINK เป็น SINK (Single income no kid) มากขึ้น เป็นโสดดีกว่า การหย่าร้างก็สูงขึ้น ซึ่งผมว่า เราจะเป็นสังคมแบบนี้ก็ได้นะ แต่อย่างน้อยต้องมีเงินเก็บ 30-40% คนที่อายุ 30 ปี เวลานี้ ต้องเก็บเงินเยอะๆ เพราะอีก 30 ปี หากคุณคิดจะให้รัฐดูแล ไม่มีทาง เงินไม่พอ”
สำหรับแนวคิดการขยายอายุเกษียณราชการ ศ.ดร.เกื้อ บองว่า เวลานี้ ผู้สูงอายุไทยยังอยู่แค่ 13 % หรือประมาณ 8 ล้านคน “ผมมองว่า ยังไม่มากเท่าไหร่ ซึ่งผมเห็นด้วยกับการขยายการเกษียณอายุบางสาขา แต่ไม่ใช่ทำทั้งระบบ นโยบายนี้ต้องค่อยเขยิบ ค่อยเป็นค่อยไป แบบญี่ปุ่นที่ไม่ได้ทำทุกสาขา ส่วนประเทศไทยปัจจุบันก็มีการต่ออายุราชการบางสาขาให้เห็นแล้ว เช่น แพทย์ กฤษฎีกา ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ประเด็นการขยายอายุเกษียณราชการ เรายังไม่ซีเรียสขนาดนั้น”
สิ่งที่ ศ.ดร.เกื้อ แสดงความเป็นห่วงมากกว่า คือ ทำอย่างไรให้วัยแรงงานที่มีอยู่กว่า 40 ล้านคน และกำลังลดลงในอนาคตนั้น ทำอย่างไรให้มี Productivity เพิ่ม มีเงินออมเพียงพอในการดูแลตัวเองเมื่อถึงวัยสูงอายุ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต
รวมถึงทำอย่างไรให้คนอยู่ในวัยเรียนเวลานี้ ซึ่งมีประมาณ 11 ล้านคน ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็น Flow ของ Labour ในอนาคต เวลานี้ส่วนใหญ่เรียนสายสังคมศาสตร์ เมื่อย้ายไปเป็นสต๊อกของแรงงานแล้วจะมี Productivity เพิ่มขึ้น
“ในไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ เวียดนาม 70% เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ของประเทศไทยเรียนสายสังคมศาสตร์ อนาคตหาก Flow ของ Labour ย้ายไปเป็นสต๊อกของแรงงาน Productivity จะเพิ่มน้อย อาจมีเงินออมน้อยตามไปด้วย”
สุดท้ายฉากทัศน์สังคมผู้สูงอายุไทย ที่ ศ.ดร.เกื้อ มองเห็น คือเราต้องไม่ปล่อยให้ภาวะเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.5 คน มีนโยบายลดความต่างระหว่างการทำงานกับการเลี้ยงลูก มีสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน คนวัยแรงงาน มี Productivity มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีเงินออมเพียงพอ มีกระบวนการดูแลสุขภาพ เพื่อให้เป็นผู้สูงอายุมีสุขภาพดี
แม้ปัจจุบันภาพนั้นเขายังไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย....
ที่มาภาพ: เว็บไซต์สกว.