- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ม.มหิดล เปิดผลวิจัยเจาะตลาดสาวมหา'ลัย ซื้อเร็ว-ภักดีต่อแบรนด์ ใช้ถึงเกษียณ
ม.มหิดล เปิดผลวิจัยเจาะตลาดสาวมหา'ลัย ซื้อเร็ว-ภักดีต่อแบรนด์ ใช้ถึงเกษียณ
วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล เปิดผลวิจัยล้วงลึกไลฟ์สไตล์สาวมหา'ลัย พบวัย 18+ มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 10,247 บาท/คน/เดือน ใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าประเภทอาหาร-เครื่องดื่มมากถึง 42 % นิยมอาหารญี่ปุ่น คาดหวังเรียนจบได้เงินเดือนละ 2.7 หมื่นบาทขึ้นไป
วันที่ 12 มกราคม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล(CMMU) จัดเสวนาการตลาด ในงาน "The Campus Girls' Insight…เจาะตลาดสาวมหา'ลัย วัย 18+" ล้วงลึกไลฟ์สไตล์สาวมหา'ลัย ทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย ณ ชั้น 6 ห้อง 603 อาคารมิว วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (วิภาวดีรังสิต)
นางสาวสุพรรณี วาทยะกร อาจารย์สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ผู้ประกอบการอย่ามองข้ามกลุ่มเป้าหมายนักศึกษาหญิง เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง และมีสัดส่วนตลาดเติบโตขึ้นทุกปี
"ลักษณะเด่นของกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้คือตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างรวดเร็ว โดยจากผลการวิจัยพบว่า ปี 2559 มีกลุ่มนักศึกษาหญิงระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นถึง 1,220,444 คน หรือคิดเป็น 12.9 % จากปี 2555 คิดเป็นมูลค่าการตลาดกว่า 150,000 ล้านบาทต่อปี หากผู้ประกอบการสามารถจับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ให้ภักดีต่อแบรนด์ได้ จะเป็นผลดีต่อสินค้าระยะยาว เนื่องจากกลุ่มนักศึกษาหญิงเป็นกลุ่มที่ตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างรวดเร็วและเริ่มมีรายได้ หากภักดีต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะสามารถสร้างความต่อเนื่องไปยังช่วงสร้างครอบครัว จนถึงวัยเกษียณได้"
นางสาวสุพรรณี กล่าวถึงกลยุทธ์ 8 ข้อต่อผู้ประกอบการ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของกลุ่มเป้าหมายนักศึกษาหญิงว่า สินค้าควรจะดึงดูดด้วยเนื้อหา โดยใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารและสินค้าต้องเป็นขนาดพกพา ต้องมีสินค้าให้เลือกหลากหลายและครบวงจรในที่ๆ เดียว ที่สำคัญมีสินค้าให้ทดลอง เพราะจะช่วยกระตุ้นให้มีความอยากซื้อมากยิ่งขึ้น
"กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้มักเชื่อแม่หรือเพื่อนจะสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ใช้ หากทำได้ตามนี้จะสามารถมัดใจสาวมหาลัย วัย 18+ได้แน่นอน"
ขณะที่นางสาวชุตินันท์ ลีละฉายากุล นักศึกษาตัวแทนโครงการวิจัย"The campus girls' insight เจาะตลาดสาวมหาลัยวัย 18+" กล่าวถึงผลงานวิจัยพบกลุ่มนักศึกษาหญิงมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 10,247 บาทต่อคนต่อเดือน มักใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มมากถึง 42 % และนิยมจะกินอาหารญี่ปุ่น เนื่องจากรู้สึกว่าทานแล้วจะไม่อ้วน
ส่วนร้านของหวานที่นิยมมากที่สุด คือ อาฟเตอร์ ยู พฤติกรรมการใช้จ่ายอื่น ๆ แบ่งเป็นช็อปปิ้ง 16 %,ท่องเที่ยว 13 %,เดินทาง 11 %,เก็บออม 10 %,ค่าอยู่อาศัย 8 %,ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 1 %
สำหรับสินค้าที่มีราคาแพงที่นศ.ยอมซื้อมากที่สุด คือ
1. กระเป๋าแบรนด์เนม ราคาสูงสุด 8 หมื่นบาท
2.โทรศัพท์มือถือIphone เครื่องละ 4 หมื่นบาท
3.บัตรคอนเสิร์ตเกาหลี 7 พันบาท
ทั้งนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ความคาดหวังที่นักศึกษาหญิงเรียนจบ และหวังที่จะได้เงินเดือนละ 2.7 หมื่นบาทขึ้นไป เพราะกังวลหากได้เงินเดือนน้อยจะไม่พอค่าใช้จ่าย และเมื่อเรียนจบ รถที่อยากจะซื้อมากที่สุดคือ 1.BMW 2.MiNi cooper 3.Mercedes-Benz และเครื่องสำอางยอดนิยมของกลุ่มนักศึกษาหญิง คือ 1. MAC 2.Maybelline New York 3. เครื่องสำอางจากเกาหลี
"ผลวิจัยพบนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีกำลังจ่ายค่อนข้างสูงและพฤติกรรมความต้องการของวัยรุ่นได้เปลี่ยนไปตามกระแสของโลก"นางสาวชุตินันท์ ระบุ