- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- นพ.ธนะพงศ์ ชี้ถึงเวลานำตัวล็อคความเร็วมาใช้- รื้อระบบประกอบการรถตู้
นพ.ธนะพงศ์ ชี้ถึงเวลานำตัวล็อคความเร็วมาใช้- รื้อระบบประกอบการรถตู้
นพ.ธนะพงศ์ ชี้เหตุระบบขนส่งมวลชนไทยไม่เชื่อม รถตู้จึงเป็นทางเลือกเดียวของปชช. แนะรื้อระบบประกอบการ ลดอัตราเสี่ยงคนขับวิ่งทำรอบ
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา ถึงประเด็นความปลอดภัยของรถตู้โดยสารว่า ถ้าหากมองในมุมของผู้บริโภค ต้องยอมรับขนส่งสาธารณะบ้านเราไม่ตอบโจทย์ เพราะขาดการเชื่อมต่อ เช่น หากต้องไปขึ้นรถบัส ต้องออกไปนอกเมือง เพราะสถานีขนส่งอยู่นอกเมือง คนเลยเลือกขึ้นรถตู้หน้าบ้านดีกว่า เมื่อผู้โดยสารเต็มรถออกไม่ต้องรอ และยังมีราคาถูกกว่า ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่รถตู้เข้ามาแทนที่เพราะตอบโจทย์มากกว่า
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า หากมองในมุมของการประกอบการ พบว่า กว่า 90% ของผู้ประกอบการในปัจจุบันเป็นรายย่อย เมื่อรายย่อยมีจำนวนมาก การควบคุมก็ยิ่งยาก กระทั่งนำมาสู่การเร่งรอบ ทำเวลา เพื่อรับผลตอบแทนที่มากขึ้น นั่นคือรากปัญหาของรถตู้ในวันนี้
“หากต้องจะแก้เรื่องการทำรอบ ต้องเห็นกลับมาดูระบบค่าตอบแทน ต้องรื้อและทบทวนระบบโครงสร้างประกอบการต้องไม่ใช่รายย่อย โดยอาศัยเครื่องมือของกรมขนส่งทางบก” นพ.ธนะพงษ์ กล่าว และว่า การออกใบประกอบการ ถ้าเข้มงวดไปเลยว่าผู้ที่จะยื่นประกอบการ ต้องมีรถกี่คัน ต้องมีแผนงานระบบดูเเล รักษารถ การคัดเลือกคนขับ การฝึกคนขับ แบบนี้เราจะคิดหนัก
“วันนี้ทำให้อย่างไรให้ตัวของระบบค่าตอบแทนไม่ได้ขึ้นกับจำนวนรอบหรือจำนวนผู้โดยสาร เป็นลักษณะเงินเดือน แบบนี้เราจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน อย่าง รถเมล์ขสมก.กับรถร่วมที่พฤติกรรมคนขับต่างกัน”
ทั้งนี้ นพ.ธนะพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนการควบคุมโดยใช้จีพีเอส มองว่า เป็นเรื่องดี แต่ข้อจำกัดในทางปฏิบัติยังเยอะ ประเทศไทยคงถึงเวลาแล้วที่จะเอา ตัวล็อคความเร็วมาใช้ (speed limiter) เราไม่อยากปล่อยให้รถตู้วิ่งเร็ว 140-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เราก็ล็อคไว้เลยที่ความเร็วระดับปลอดภัย รถตู้ทุกคัน เยียบอย่างไรก็ได้เท่านั้น คนขับจะรู้ว่าสมรรถนะของรถเป็นอย่างไร ฉะนั้น การแก้ปัญหาก็ควรมองไปถึงรากที่แท้จริง พร้อมๆ กับการจัดการปลายเหตุด้วยเช่นกัน.
ภาพประกอบจาก ThaiPBS