- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- นักวิชาการชี้สัดส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย 70% มาจากภาคพลังงาน
นักวิชาการชี้สัดส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย 70% มาจากภาคพลังงาน
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เชื่อเป้าหมายประเทศไทย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 ไม่ใช่เรื่องยาก ทำได้ เหตุมีแผนแม่บท climate change 2593 พร้อมระบุชัดปี 2563 การบ้านจริงต้องจัดส่ง แผน-เป้าหมาย ลดโลกร้อนตามข้อตกลงปารีส
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องนาว26 จัดงานสัมมนา 2 องศา: Thailand Agenda รับวิกฤตโลกร้อน ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 4 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
โดยในช่วงแรก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยได้ประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 111 ล้านตัน โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40 ล้านตันในช่วงแรก และเพิ่มเป็น 60 ล้านตัน, 90 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นจนครบ 111 ล้านตันตามลำดับ
สำหรับเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดร.วิจารย์ กล่าวว่า ในบ้านเรามีการแสดงเจตจำนงไว้ชัดเจนในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งให้ความสำคัญทั้งเรื่องพลังงาน การขนส่ง การกำจัดของเสีย ขยะ และอุตสาหกรรม เพื่อนำประเทศไปสู่การผลิตการบริโภคที่เป็นมิตรกับส่ิงแวดล้อม และพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
"ขณะที่กรมควบคุมมลพิษตั้งเป้าปี 59-60 ประเทศไทยไร้ขยะ ลดขยะตั้งแต่ต้นทางให้ได้ 5% ทุกเซคเตอร์ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ"
จากนั้นมีการเสวนา 'ธุรกิจโลว์คาร์บอน กับการตอบโจทย์ไม่เกิน 2 องศา' ดร.ทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ คณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กกร.) กล่าวถึงการเปลี่ยนวิกฤตโลกร้อนว่า หลังยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา พบว่าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 30 มิลลิเมตร แม้จะดูเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่กลับเกิดผลกระทบมาก ในบางพื้นที่พบว่า หมู่เกาะหายไปเกือบครึ่ง
สำหรับแนวโน้มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ดร.ทรงวุฒิ กล่าวว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบว่า 10 ประเทศแรกของโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 70 ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 23 จาก 100 ประเทศแรก ซึ่งสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบ้านเราส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานถึงร้อยละ 73 รองลงมาเป็นอุตสาหกรรม เกษตรตามลำดับ
ขณะที่มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในบ้านเรา ดร.ทรงวุฒิ กล่าวว่า สามารถ ทำได้ 2 อย่างคือ 1.ปรับตัว โดยใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ชาวไร่ชาวนา 2.เป็นภาคบังคับโดยรัฐ ที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม
ด้านดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) กล่าวว่า โลกอยู่ในความเสี่ยง ข้อมูลสถิติพบว่า หากอุณหภูมิเพิ่ม 1.5 องศา สิ่งมีชีวิตร้อยละ 18 จะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ น้ำแข็งขั้วโลกจะละลาย ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 7 เมตร และหากอุณหภูมิเพิ่ม 2 องศา เราจะเผชิญกับภาวะปะการังฟอกขาวร้อยละ 97 จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าอุณหภูมิจะเพิ่มเท่าใดก็ตาม เราก็ยังต้องเผชิญกับความหายนะที่เราไม่อยากเจออยู่ดี
"แต่ 2 องศาคือเป้าหมายที่ตกลงกันได้ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองโลก หากไปมากกว่านี้ข้อตกลงก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งความท้าทายจึงอยู่ที่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การแก้ปัญหาโลกร้อนแบบ เดิมตลอด 24 ปีที่ผ่านมาอาจไม่ได้ผล และถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป เราต้องมีโลก 4.5-5 ใบจึงจะพอ"
สำหรับการแก้ปัญหาโลกร้อน ดร.บัณฑูร กล่าวอีกว่า นอกจากช่วยตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฉะนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องเป็นไปในลักษณะรุกรับปรับตัว
" เป้าหมายของประเทศไทยที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำได้ ประเทศไทยมีแผนแม่บท climate change พ.ศ.2593 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่พูดถึงเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การบ้านจริงของไทยคือปี 2563 ที่เราต้องจัดส่งเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (NDC) ครั้งแรก ตามพันธกรณีข้อตกลงปารีส"
นางวราภรณ์ หิรัญวัฒน์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมอาวุโส ธนาคารโลก กล่าวถึงข้อตกลงปารีสว่า มีองค์ประกอบ 5 ประการที่สำคัญคือ ทุกประเทศต้องเสนอแผนการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุก 5 ปี มีการปรับตัว มีเป้าหมายระยะยาว ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสมากขึ้น ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและเสริมขีดความสามารถให้กับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด
ขณะที่ในส่วนของธนาคารโลกนั้น นางวารภรณ์ กล่าวว่าได้ให้การสนับสนุนด้านนโยบายและสถาบัน เช่น ช่วยเหลือให้ประเทศนำข้อตกลงด้านภูมิอากาศมาปฏิบัติจริง กำหนดราคาคาร์บอนที่เหมาะสม มีการระดมทรัพยากร และดำเนินโครงการช่วยเหลือ เช่นกรณีประเทศไทย ซึ่งผลิตเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับสองของโลก หรือประมาณ 12 ล้านเครื่องต่อปี โดยใช้สาร HCFC ที่มีส่งผลต่อโลกร้อน ธนาคารโลกได้เข้าไปสนับสนุนให้การปรับเปลี่ยน ลดการใช้สารดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งสินค้าไปขายยังยุโรปได้ อย่างก็ตาม ในอนาคตธนาคารโลก พร้อมรวมมือกับภาครัฐ ส่งเสริมการเติบโตสีเขียวและยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งต้องหารือต่อไป
สุดท้ายนายสากล ฐานะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการทำธุรกิจโลว์คาร์บอนว่า สามารถนำมาเชื่อมโยงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ นอกจากนี้ บ้านเรายังมีแผนฯ ยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีเห็นว่า ภาคประชาชน ประชาสังคม งานวิจัยจะต้องเข้ามาช่วยเสริมเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้สถานการณ์โลกร้อนดีขึ้น