- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ญี่ปุ่นยื่นจดสิทธิบัตรใบกระท่อม นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ชี้ไทยไร้กม.คุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ
ญี่ปุ่นยื่นจดสิทธิบัตรใบกระท่อม นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ชี้ไทยไร้กม.คุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ
ญี่ปุ่นยื่นจดสิทธิบัตรใบกระท่อม นักวิชาการชี้ ถึงเวลาประเทศไทย ควรเร่งทบทวน ออกกฎหมายความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคุมกำกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางชีวภาพ ให้เหมือนน้ำมัน แก๊ส ที่ต้องขออนุญาต ให้สัปทาน
วันที่ 2 กันยายน มูลนิธิชีววิถี (biothai) เผยแพร่ข้อมูลกรณี บริษัทญี่ปุ่นยื่นเสนอจดสิทธิบัตรกระท่อมเพิ่มทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยแล้ว หลังจากได้จดสิทธิบัตรสารสกัดจากกระท่อมในญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาแล้วจำนวน 3 สิทธิบัตร โดยเมื่อสองปีที่แล้วเอ็ดเวิร์ด แฮมมอนด์ ได้เผยแพร่บทความเปิดเผยกรณีบริษัทของมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยชิบะ (National University Corporation Chiba University) และมหาวิทยาลัยโจไซ ( Josai University Corporation) จดสิทธิบัตรสารและอนุพันธ์ ซึ่งได้จากใบกระท่อมพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยแพร่ใน TWN Info Service on Intellectual Property Issues
ล่าสุด มูลนิธิชีววิถี พบว่า นอกจากญี่ปุ่นได้รับสิทธิบัตรจำนวน 3 สิทธิบัตร คือ สิทธิบัตรสหรัฐ US patent 8247428 เมื่อปี 2012 สิทธิบัตรญี่ปุ่น patent 5308352 เมื่อปี 2013 และสิทธิบัตรสหรัฐ US patent 8648090 เมื่อปี 2014 แล้ว ขณะนี้มหาวิทยาลัยชิบะยังได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรผ่านสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT เพื่อให้มีผลในประเทศต่างๆซึ่งเป็นภาคีในสนธิสัญญาดังกล่าว 117 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย คำขอสิทธิบัตรดังกล่าวได้ยื่นต่อ WIPO (องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2014 ซึ่งภายใน 2 ปีครึ่ง หรือ เมษายน 2017 คำขอสิทธิบัตรซึ่งองค์กรตรวจสอบระหว่างประเทศได้ตรวจสอบแล้วจะถูกจัดส่งมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติสิทธิบัตรของไทยต่อไป
มูลนิธิชีววิถี ยังระบุถึงเบื้องหลังการวิจัยสมุนไพรกระท่อมร่วมกับนักวิจัยไทย ทำโครงการวิจัยสารกลุ่มอัลคาลอยด์ในพืชกระท่อมของไทยร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศไทย และคณะวิจัยจากต่างประเทศกลุ่มนี้ยังคงมี
“ความร่วมมือทางวิชาการ” ร่วมกับนักวิจัยในประเทศไทยในมหาวิทยาลัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในการวิจัยสมุนไพรไทยจนกระทั่ง ณ ปัจจุบัน อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงนอกเหนือจากนี้อีก 10 สถาบัน รวมเป็น 11 สถาบัน โดยนอกเหนือจากกระท่อมแล้ว ยังมีพืชสมุนไพรอีกหลายชนิดที่อยู่ในความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวด้วย
นอกจากความล้าหลังเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว กฎหมายของประเทศนี้ยังล้าหลังที่ประกาศให้สมุนไพรไทยกระท่อมเป็นพืชเสพติดที่ผู้ครอบครองมีโทษทางอาญา ทั้งๆที่ควรส่งเสริมให้มีการวิจัย การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ที่ปรึกษาวิจัย สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในการการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีแยกส่วนไปอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2542 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 โดยเป็นกฎหมายลำดับรองไม่มีประสิทธิผลในการบังคับใช้
"ปัจจุบันเวลาใครมารวบรวมทรัพยากรทางชีวภาพไปศึกษาวิจัยสามารถทำได้ เราไม่มีกฎหมายบังคับเมื่อศึกษาแล้ว นำไปจดสิทธิบัตรไม่ได้"
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวถึงพิธีสารนาโงยา (Nagoya protocol) หรือ พิธีสารนาโงยา ว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรมนั้น ออกภายใต้อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ไทยเข้าร่วมแล้วกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ "กรณีที่มีการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพ รวบรวมใช้วิจัยประเทศที่เป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากร สามารถกำหนดให้ผู้เข้าถึง ทำสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์ว่า หากศึกษาวิจัยอนาคตต้องจ่ายผลประโยชน์ที่ได้ คืนประเทศต้นทาง
"ประเทศไทยไม่มีกฎหมายตัวนี้อยู่ ซึ่งในสัญญาการแบ่งปันผลประโยชน์มิใช่เป็นตัวเงินอย่างเดียว อาจรวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี เราสามารถให้ความร่วมมือกับต่างชาติได้ "
เมื่อถามถึงกรณีมหาวิทยาลัยชิบะยังได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรผ่านสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT นั้น ที่ปรึกษาวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า PCT เป็นอนุสัญญาที่ส่งเสริมให้มีการจดสิทธิบัตรได้ง่าย ยื่นคำขอเดียว ขอรับสิทธิบัตรได้หลายๆ ประเทศ PCT อำนวยความสะดวกการจดสิทธิบัตร กลับกันกับพิธีสารนาโงยา
"เราเสียโอกาส ในการกำกับ หรือใช้ทรัพยากรทางชีวภาพของตัวเอง ใบกระท่อม ก็เทียบได้กับทรัพยากรมีค่าอื่นๆ แร่ธาตุ น้ำมัน แก๊ส ใบกระท่อมมีมูลค่าทางเชิงพันธุกรรมใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรม ผลิตสารเคมี ซึ่งเจ้าของทรัพยากรแบบประเทศไทยไม่รู้ เพราะเรามีทรัพยากรแบบดิบ เราไม่รู้เพราะต้องผ่านการศึกษาวิจัยก่อน ซึ่งเจ้าของประเทศต้องสามารถใช้สิทธิในการกำกับ เฉกเช่นเดียวกับน้ำมัน แก๊ส ใครมาขุดไม่ได้ ต้องขออนุญาต ทำสัญญาสัมปทาน แบบเดียวกับทรัพยากรทางพันธุกรรม จะนำไปศึกษาวิจัยก็ควรขออนุญาตก่อน"
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวด้วยว่า กรณีนี้ใบกระท่อม จึงไม่เป็นไปตามพิธีสารนาโงยา และอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ทั้งสองก็บอกว่า ขึ้นอยู่กับกฎหมายแต่ละประเทศ แต่กฎหมายไทยไม่มีไปโทษเขาก็ไม่ได้ เราไม่ออกกฎหมายเอง
"กรณีใบกระท่อมอาจเป็นกรณีตัวอย่าง ประเทศไทยควรทบทวนว่า ถึงเวลาหรือยัง ควรมีกฎหมายความหลากหลายทางชีวภาพ ปัจจุบันกำลังมีการทำกรอบกฎหมายตัวนี้อยู่ มองผลประโยชน์ทางการเงิน และแง่เทคโนโลยีประกอบด้วย"