- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน เนื้อเค็ม ใส่ไนเตรท/ไนไตรท์ อื้อ
หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน เนื้อเค็ม ใส่ไนเตรท/ไนไตรท์ อื้อ
มูลนิธิผู้บริโภค ชี้การรับประทานอาหารที่มีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับอ่อน และทางเดินหายใจได้ กรณีผู้ที่มีอาการแพ้อาจส่งผลต่อระบบหายใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หมดสติหรือเสียชีวิตได้
วันที่ 12 กรกฎาคม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวการติดตามปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ผลการทดสอบ หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน ยี่ห้อไหมผ่านมาตรฐานจาก 14 ยี่ห้อ ณ ห้องประชุม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หมูหวาน หมูแผ่น ร้อยละ 100% พบว่า มีไนเตรท ไนไตรท์ เจือปนในอาหาร จากการตรวจสอบ 10 ยี่ห้อ 14 ตัวอย่าง ซึ่งมาจากผู้ผลิตในระดับโรงงาน และที่ผลิตขายด้วยตนเอง ขณะนี้พบว่า ฉลากของสินค้าอาหารไม่ได้ระบุว่า มีการใส่ไนเตรท ไนไตรท์ ลงไปในอาหาร เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า อาหารจากโรงงานมีปัญหาเรื่องการแสดงฉลากอย่างแน่นอน
“การสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ ทุกตัวอย่างมียี่ห้อชัดเจน ดังนั้น การตรวจสอบจึงไม่มีการซื้อซ้ำยี่ห้อกัน การได้มา 14 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมถึงตลาดทั่วไป ได้แก่ ตลาด อ.ต.ก., เยาวราช, บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส, แม็คโคร, เดอะมอลล์, สยามพารากอน เป็นต้น และจากการตรวจสอบได้ส่งเข้าไปยังห้องทดสอบที่มีมาตรฐานการส่งออกอาหารไปต่างประเทศ พบว่า ทุกตัวอย่างที่มีการตรวจสอบผิดกฎหมายทั้งหมด เพราะไม่ได้ขออนุญาตใช้วัตถุกันเสีย และเนื่องจาก สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ไม่ได้กำหนดมาตรฐานวัตถุเจือปนอาหารให้ใช้ในผลิตภัณฑ์หมูแผ่น หมูกรอบ หมูอบ หมูหวาน หมูสวรรค์ เนื้อสวรรค์ ซึ่งถ้าใครจะใช้ให้มาขออนุญาตเฉพาะราย และเมื่อมีการใช้ต้องแจ้งข้อมูลบนฉลากทุกครั้ง ดังนั้น จึงถือว่าทั้ง14 กลุ่มตัวอย่างผิดกฎหมายทั้งสิ้น โดยได้รับการยืนยันจากนักวิชาการ ของสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6(5) ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร มีบทลงโทษมาตรา 47 ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท”
นางสาวสารี กล่าวว่า ควรจะมีสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีด้านอาหาร หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุน หรือพัฒนาเทคโนโลยีว่าจะทำอย่างไรอาหารจึงจะอร่อย และปราศจากวัตถุเจือปน อาหารได้ ในส่วนของข้อเสนอให้กับทาง อย. มีดังนี้
1. ดำเนินการกับผู้ผลิตอาหาร ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ใช้วัตถุเจือปนอาหารโดยไม่มีการขออนุญาต มีความผิดตามมาตรา 6(5) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 หลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร บทลงโทษมาตรา 47 ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
2. มีความพยายามจากกลุ่มประชารัฐที่จะขอยกเว้นการไม่ปฏิบัติตามประกาศว่าด้วยเรื่องฉลากที่ได้มีการปรับปรุงไปก่อนหน้านี้ คือฉลากฉบับที่ 367/2557 ซึ่งเป็นการแสดงฉลากของอาหารที่อยู่ในภาชะบรรจุ โดยฉลากต้องแสดงว่า มีใช้วัตถุกันบูด เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบ ดังนั้น อยากให้มีการบังคับการใช้ฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยให้แสดงว่า ใช้สารกันบูด ชนิดไนเตรท รวมทั้งเลขมาตรฐานสากล เป็นต้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
3.ยกระดับมาตรฐานอาหารภายในประเทศให้มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานโคเด็กซ์
ด้านนางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า "ไนเตรตและไนไตรท์" เป็นวัตถุเจือปนอาหาร ที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ได้แก่ กุนเชียง, ไส้กรอก และแหนม เท่านั้น เพื่อให้อาหารคงสภาพอยู่ได้นาน และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ก่ออันตรายต่อผู้บริโภค โดยอาหารเหล่านี้มีจำหน่ายอย่างแพร่หลายและหาซื้อได้ง่าย แต่ถ้าพบในลูกชิ้น ปูอัด จ๊อ หมูยอ หมูแดงและหมูสับ ถือว่า ผิดกฎหมาย
ข้อกฎหมายที่ทาง อย. กำหนดไว้ ไนเตรทไม่เกิน 500 มิลลิกรัม และไนไตรท์ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นเกณฑ์ที่ทาง อย. ได้กำหนดเอาไว้ก่อนหน้านี้ โดยทางศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้ใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดในการตรวจสอบว่าเกินค่ามาตรฐานหรือไม่
จากการตรวจสอบทั้ง 14 ตัวอย่าง พบว่า
1.ยี่ห้อเจ้าสัว (เตี่ยหงี่เฮียง) ประเภท หมูแผ่นกรอบมีปริมาณ ไนเตรท 15.94 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์ ไม่พบ ส่วนเลขสารระบบอาหาร พบว่า มีการจดแจ้งในต่างจังหวัด ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผลิตที่ไหนจังหวัดอะไร และส่วนประกอบมีวัตถุประสงค์ของการใส่ไนเตรท ไนไตรท์ หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ตรวจพบได้เพียงแค่ว่ามีการจดแจ้งเลขสารระบบในต่างจังหวัดเท่านั้น
2. ยี่ห้อเฮงชุงกิม (ตั้งฮะเฮง) ประเภท หมูหวาน มีปริมาณไนเตรท 23.39 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์ ไม่พบ ส่วนเลขสารระบบอาหาร พบว่ามีการจดแจ้ง สามารถตรวจสอบได้กับทาง อย.
3. ยี่ห้อ P&P food supply ประเภท หมูสวรรค์แช่แข็ง มีปริมาณไนเตรท 27.63 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์ ไม่พบ ส่วนเลขสารระบบอาหาร พบว่ามีการจดแจ้งบนภาชนะบรรจุ
4. ยี่ห้อฮะกี่ลิ้มจิงเฮง ประเภท หมูหวาน มีปริมาณไนเตรท 23.26 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์น้อยกว่า 10 มก./กก. ส่วนเลขสารระบบอาหาร พบว่าไม่มีการจดแจ้ง
5. ยี่ห้อฮะกี่ลิ้มจิงเฮง ประเภทหมูแผ่น มีปริมาณไนเตรท 32.91 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์น้อยกว่า 10 มก./กก. ส่วนเลขสารระบบอาหาร พบว่าไม่มีการจดแจ้ง
6.ยี่ห้อพรทิพย์ (น้ำง้วน) ประเภทหมูแผ่นกรอบ มีปริมาณไนเตรท 34.73 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์น้อยกว่า 10 มก./กก. ส่วนเลขสารระบบอาหาร พบว่ามีการจดแจ้งบนฉลากของผลิตภัณฑ์ในต่างจังหวัด
7.ยี่ห้อเฮงชุงกิม ประเภทหมูแผ่น มีปริมาณไนเตรท 35.30 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์ 27.13 มก./กก. ส่วนเลขสารระบบอาหาร พบว่ามีการจดแจ้งสามารถตรวจสอบได้กับ อย.
8.ยี่ห้อส.ขอนแก่น ประเภท หมูสวรรค์อบ มีปริมาณไนเตรท 76.09 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์ ไม่พบ ส่วนเลขสารระบบอาหาร พบว่ามีการจดแจ้งสามารถตรวจสอบได้กับ อย.
9.ยี่ห้อพรทิพย์ (น้ำง้วน) ประเภทหมูสวรรค์ มีปริมาณไนเตรท 92.71 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์ ไม่พบ ส่วนเลขสารระบบอาหาร พบว่าไม่มีการจดแจ้ง
10.ยี่ห้อส.ขอนแก่น ประเภท เนื้อสวรรค์ มีปริมาณไนเตรท 100.68 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์ ไม่พบ ส่วนเลขสารระบบอาหาร พบว่าไม่มีการจดแจ้ง
11.ยี่ห้อบ้านไผ่ ประเภท เนื้อสวรรค์ มีปริมาณไนเตรท 94.66 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์น้อยกว่า 10 มก./กก.ส่วนเลขสารระบบอาหาร พบว่ามีการจดแจ้ง
12.ยี่ห้อลัดดา ประเภทหมูเค็ม มีปริมาณไนเตรท 169.93 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์ 55.68 มก./กก.ส่วนเลขสารระบบอาหาร ไม่จำเป็นต้องมี เพราะมาจากการแบ่งขาย(ชั่งกิโลขาย,แผลงลอย) พบแค่ชื่อร้าน แต่ไม่ระบุวันหมดอายุ
13.ร้านหมู หมู ประเภทเนื้อเค็ม มีปริมาณไนเตรท 216.05 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์ 17.17 มก./กก.ส่วนเลขสารระบบอาหาร ไม่จำเป็นต้องมี เพราะมาจากการแบ่งขาย(แผลงลอย) พบแค่ชื่อร้าน แต่ไม่ระบุวันหมดอายุ
14.ร้านหมู หมู ประเภทหมูสวรรค์ มีปริมาณไนเตรท 2,033.16 มก./กก. ปริมาณไนไตรท์ ไม่พบ ส่วนเลขสารระบบอาหาร ไม่จำเป็นต้องมี เพราะมาจากการแบ่งขาย(โชว์ห่วย,ขายของฝาก, แบ่งกิโลขาย, OTOP) พบแค่ชื่อร้าน แต่ไม่ระบุวันหมดอายุ (อันตรายที่สุด)”
นางสาวมลฤดี กล่าวด้วยว่า ใน 11 ตัวอย่าง ที่ต้องมีเลขสารบบอาหาร มีเพียง7ตัวอย่างเท่านั้นที่มีเลขสารบบของ อย. โดยสามารถตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นเลข อย.จริงเพียง 5 ตัวอย่าง อีก 2 ตัวอย่างเป็นเลขสารบบอาหารของต่างจังหวัด ไม่สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของอย. ได้ และอีก 5 ตัวอย่าง ฉลากไม่ระบุวัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ ได้แก่ 1.ฮะกี่ลิ้มจิงเฮียง หมูหวาน 2.ฮะกี่ลิ้มจิงเฮียง หมูแผ่น 3.หมูเค็ม ลัดดา 4.เนื้อเค็มร้านหมู หมู 5.หมูสวรรค์ ร้านหมู หมู
“การรับประทานอาหารที่มีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับอ่อน และทางเดินหายใจได้ กรณีผู้ที่มีอาการแพ้อาจส่งผลต่อระบบหายใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หมดสติหรือเสียชีวิตได้”