- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- 'กทม.-กฟน.-กฟภ.-กรมทางหลวง' ขานรับหยุดตัดแต่งต้นไม้แบบผิดวิธี
'กทม.-กฟน.-กฟภ.-กรมทางหลวง' ขานรับหยุดตัดแต่งต้นไม้แบบผิดวิธี
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รับขาดองค์ความรู้ ทุ่มงบตัดแต่งต้นไม้เพิ่มขึ้นทุกปี แต่สถิติไฟฟ้าขัดข้องก็ไม่ได้ลดลงเลย เร่งอบรม ผลิตหมอต้นไม้ทั่วประเทศ ด้านกทม.จับมือกฟน.บูรณาการทำงานร่วมกันแล้ว หลังโดนสังคมออนไลน์เฉ่งยับ ตัดต้นไม้ใหญ่จนโกร๋น
วันที่ 12 กรกฎาคม คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง "ต้นไม้องค์ประกอบสำคัญของ Street Furniture" ณ ห้องบัณฑิตวิทยาลัย สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เสนอทางออก โดยมีพลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรฯ ประธานเปิดการเสวนา พร้อมเสนอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันกำหนดแผนการปฏิบัติการจัดสร้างรุกขกรในทุกหน่วยงานที่ดูแลต้นไม้ให้สำเร็จภายใน 3 เดือน
นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ และระบบนิเวศ ดังนั้น การตัดต้นไม้ใหญ่จะตัดเท่าที่จำเป็น วันนี้กทม.ได้หันมาทบทวนการทำงานที่ผ่านมาเดินมาถูกทางหรือไม่ ซึ่งยอมรับการทำงานขาดการบูรณาการร่วมกัน ทั้งระหว่างหน่วยงานของกทม.เอง และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
"กทม.-กฟน. 2 หน่วยงานมาหารือร่วมกัน อยู่เฉยๆ ไม่ได้หลังตกเป็นจำเลยในโลกสังคมออนไลน์เรื่องการตัดต้นไม้ในเมือง เราจึงหารือและตกลงกันว่า ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป การตัดแต่งต้นไม้จะเป็นหน้าที่ของกทม. หากกฟน.จะสนับสนุนก็เพียงอุปกรณ์ รวมไปถึงการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ต่อไปในอนาคต"
นางสุวรรณา กล่าวด้วยว่า ต่อไปการตัดต้นไม้ใหญ่ในเมือง หากเกิดขึ้นในจุดไหนต้องมีการหารือผู้บริหารเขตก่อน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการได้เองแล้ว
ขณะที่ตัวแทนจากการไฟฟ้านครหลวง กล่าวถึงปัญหาไฟฟ้าดับมาจากต้นไม้ที่ไปเกี่ยวกับสายไฟ หรือกิ่งหักเวลามีพายุ หรือฝนตกหนัก ซึ่งใช้เวลาในการแก้ไขหลายชั่วโมง ปัจจุบันได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันตัดแต่งกิ่งไม้ ประสานงานกับกทม.อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ต้นไม้อยู่กับสายไฟฟ้าได้
ส่วนตัวแทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวถึงการดูแลต้นไม้ โดยยอมรับไม่มีความรู้เรื่องการตัดแต่งต้นไม้มาก่อน จนพบว่า งบประมาณตัดแต่งต้นไม้เพิ่มขึ้นทุกปี 15-20% ปีที่แล้วงบตัดแต่งต้นไม้ทั่วประเทศถึง 600 ล้านบาท ขณะที่สถิติไฟฟ้าขัดข้องก็ไม่ได้ลดลงเลย สิ่งที่เราขาดคือความรู้ ความเข้าใจต้นไม้ เรากำลังต่อสู้โดยใช้กำลังต่อสู้กับต้นไม้ แต่ไม่ได้ใช้สมอง ซึ่งปัจจุบันมีการอบรมเจ้าหน้าที่ทั้งประเทศ ให้เป็นหมอต้นไม้ เพื่อการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านนายยุทธนา ธนะเดช ตัวแทนกรมทางหลวง กล่าวถึงต้นไม้ในเขตทาง ซึ่งที่ผ่านมามีการปลูกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ต้นไม้ที่เกิดขึ้นจึงเป็นภาระในการบำรุงรักษาสูงมาก อันตรายที่เกิดจากต้นไม้ก็จะมีปัญหาตามมา รวมไปถึงการอนุรักษ์ต้นไม้ที่เหลืออยู่
"ในอดีตเราไม่มีความรู้ ก็ปลูกต้นไม้ที่เกาะกลางถนน ซึ่งเป็นต้นไม้ของเดิมที่เกิดจากโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐขอความร่วมมือเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ปัจจุบันกรมทางหลวงไม่มีการปลูกต้นไม้ใหญ่เกาะกลางถนนแล้ว จะเป็นประเภทไม้พุ่มแทน เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ช่วงท้ายที่ประชุมได้มีข้อตกลงร่วมกันที่จะจัดให้เกิดการอบรมการสร้างรุกขกร โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน หยุดการตัดต้นไม้อย่างผิดวิธี วางโครงสร้างของวิชาชีพรุกขกรรม และจัดการออกใบรับรองชั่วคราว ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมคุณภาพรุกขกร เพื่อจัดทำใบรับรองชั่วคราว สำหรับรุกขกรสนาม และจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมแบบเร่งด่วน ระยะกลาง ให้มีการฝึกอบรมหัวหน้างานภาครัฐ จัดทำคู่มือหน้างานเพื่ออบรมเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนตัด ส่วนระยะยาว (5-10 ปี) ควรปรับรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี มีการศึกษาด้านรุกขกรรมในระดับปริญญาตรี และพัฒนามาตรฐานวิชาชีพให้ได้มาตรฐานโลก และผลักดันให้มีข้อกฎหมายควบคุมดูแลการโค่น ย้าย และตัดตแต่งต้นไม้ใหญ่ในเมือง