- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- สภา มสธ. เมินคำวินิจฉัย สกอ.ชี้ 'รศ.สมจินต์' พ้น กก.สภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ-ให้คงสถานภาพต่อ
สภา มสธ. เมินคำวินิจฉัย สกอ.ชี้ 'รศ.สมจินต์' พ้น กก.สภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ-ให้คงสถานภาพต่อ
สกอ.วินิจฉัยสถานภาพ ‘รศ.สมจินต์ สันถวรักษ์’ กก.สภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ มสธ. ลาออกจากตำแหน่งก่อนวาระ มีผลสมบูรณ์ตั้งแต่แจ้งด้วยวาจาต่อที่ประชุมสภาฯ เเม้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ไม่มีผลเปลี่ยนเเปลงเจตนา เหตุถ้อยคำมีผลผูกพันทาง กม. ขณะที่สภา มสธ. มติคงสถานภาพตามเดิม
สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มีหนังสือที่ ศธ.0522.01/354 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2559 ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)วินิจฉัยสถานภาพของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มสธ. พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ กรณี รศ.สมจินต์ สันถวรักษ์ แสดงเจตนาขอลาออกจากตำแหน่งต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 9/2558 วันที่ 6 สิงหาคม 2558 และได้ยื่นซองเอกสารต่อนายกสภามหาวิทยาลัย แต่นายกสภามหาวิทยาลัยมิได้นำเอกสารมาแสดงต่อมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันบุคคลดังกล่าวยังคงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิอยู่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 สกอ.มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ.0509(5).5/1894 เรื่อง ตอบข้อหารือกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ถึงอธิการบดี มสธ. ลงนามโดย น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการ สกอ. ระบุถึงผลวินิจฉัยในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย สกอ. มีมติเห็นว่า รศ.สมจินต์ สันถวรักษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ของ มสธ. ได้แสดงเจตนาลาออกจากตำแหน่งแล้ว และการลาออกดังกล่าวมีผลนับแต่วันที่ รศ.สมจินต์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยในการประชุม ครั้งที่ 9/2558 วันที่ 6 สิงหาคม 2558
ทั้งนี้ ให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2521 และข้อบังคับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชว่าด้วยการได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ. 2555 มิได้บัญญัติเหตุแห่งการพ้นตำแหน่งก่อนครบวาระของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น จึงต้องถือหลักทั่วไปว่า หากคนใดแสดงเจตนาลาออก ย่อมเป็นเหตุให้ท่านนั้นพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระด้วยเช่นกัน
ประกอบกับมิได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการไว้ว่าในการลาออกจะต้องทำอย่างไร และจะต้องขอลาออกต่อผู้ใด ดังนั้น ในกรณีที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิต้องการลาออกจึงสามารถแสดงเจตนาลาออกด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวิธีอื่นใดก็ได้ และในเวลาใดก็ได้ แต่การแสดงเจตนานั้นต้องเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง
ตลอดจนมิได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า การลาออกจะมีผลทำให้ความเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงถือเป็นสิทธิจะลาออกเมื่อใดก็ได้ และไม่อยู่ภายใต้การยับยั้งของผู้ใด ดังนั้น หากเป็นการแสดงเจตนาลาออกด้วยวาจา การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์เมื่อนายกสภามหาวิทยาลัยได้รับทราบการแสดงเจตนานั้น
หากพิจารณาถ้อยคำของ รศ.สมจินต์ ที่แจ้งต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยว่า “ขออนุญาตยุติบทบาทและหน้าที่ และขออภัยที่ทำให้ท่านต้องมีภาระในการสรรหาบุคคลมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิแทนในเวลาที่เหลืออยู่” อาจถือได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาลาออกอย่างชัดเจนแล้ว และเมื่อการลาออกเป็นไปโดยความสมัครใจของผู้แสดงเจตนา การแสดงเจตนาขอลาออกจากตำแหน่งจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย
ถึงแม้ รศ.สมจินต์ ยังคงมาร่วมประชุมสภามหาวิทยาลัยและเข้าร่วมประชุมในฐานะประธานกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการประจำสภามหาวิทยาลัย ไม่ถือเป็นการยกเลิกเจตนาลาออกที่เคยให้ไว้ เพราะการแสดงเจตนาลาออกด้วยวาจามีผลสมบูรณ์นับแต่วันที่ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 9/2558 วันที่ 6 สิงหาคม 2558
ทั้งนี้ มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 สภามหาวิทยาลัย มสธ.มีมติไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ สกอ. โดยให้คงสถานภาพ รศ.สมจินต์ เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ มสธ. ดังเดิม .