- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- พบไส้กรอก ๓ ยี่ห้อ ปริมาณดินประสิว เกินมาตรฐาน
พบไส้กรอก ๓ ยี่ห้อ ปริมาณดินประสิว เกินมาตรฐาน
ศูนย์ทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ สุ่มทดสอบปริมาณสารไนเตรทและไนไตรท์จากตัวอย่างไส้กรอกในท้องตลาด ๑๕ ตัวอย่าง มีเพียงยี่ห้อเดียวคือค๊อกเทลซอสเซส ตราไทยซอสเซส ไม่พบทั้งไนเตรทและไนไตรท์ ขณะที่อีก ๑๔ ยี่ห้อ หรือ มีการเจือปน
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวการทดสอบปริมาณสารไนเตรทและไนไตรท์ในไส้กรอก ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อสุ่มทดสอบปริมาณสารไนเตรทและไนไตรท์จากตัวอย่างไส้กรอกในท้องตลาด 15 ตัวอย่าง โดยมีเพียงยี่ห้อเดียวคือค๊อกเทลซอสเซส ตราไทยซอสเซส ของบริษัทไทย – เยอรมัน มีท โปรดักส์ จำกัด ไม่พบทั้งไนเตรทและไนไตรท์ ขณะที่อีก 14 ยี่ห้อ หรือกว่าร้อยละ 93.33 มีการเจือปนของสารดังกล่าว
นักวิชาการฯ กล่าวต่อไปว่า ไส้กรอกร้อยละ 73.33 หรือจำนวน 11 ยี่ห้อใส่สารไนเตรทและไนไตรท์ไม่เกินมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด คือ 1.บีลัคกี้ 2.มิสเตอร์ ซอสเซส 3.บุชเชอร์ 4.JPM 5.เซเว่น เฟรช 6.TGM 7.My Choice 8.BMP 9.S&P 10.P.Pork และ 11.เบทาโกร
ส่วน 3 ยี่ห้อ หรือร้อยละ 20 พบปริมาณสารดังกล่าวเกินมาตรฐานคือ 1.เอโร่ 2.NP และ 3.บางกอกแฮม
“สารไนไตรท์และไนเตรทคือดินประสิว ใช้เพื่อฟอกสีเนื้อสัตว์ให้มีสีสด ถือเป็นการถนอมอาหารแบบหนึ่งโดยใช้วัตถุกันเสีย และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเสียเร็ว ซึ่งยังไม่มีผลแน่นอนว่าจะก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่ แต่หากได้รับปริมาณมากเกินค่ามาตรฐาน สำหรับคนที่แพ้สารดังกล่าวก็จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว จากการได้รับพิษเฉียบพลัน” นางสาวมลฤดี กล่าวและว่า “ตอนนี้ไส้กรอกกลายเป็นอาหารหลัก เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ จึงต้องการเตือนให้ผู้บริโภคบริโภคแต่น้อย อย่าบริโภคเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย”
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฯ ให้ความเห็นว่า นิตยสารฉลาดซื้อพยายามทำข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อของเหล่านี้ โดยความคาดหวังของคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ต้องการเห็นว่ามีพลังผู้บริโภคที่ไปสนับสนุนการซื้อ เช่น ไส้กรอกของบริษัทไทยเยอรมันฯ ที่ไม่มีสารไนเตรทและไนไตรท์ หากผู้บริโภคเลือกซื้อจะเป็นพลังที่บอกว่าพวกเราต้องการไส้กรอกที่ไม่ใช้สารดังกล่าว
“ผู้บริโภคมีข้อจำกัดว่าถ้าอยากกินไส้กรอกที่ไม่มีสารกันบูดจะเลือกยังไง เพราะไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า คนก็อยากกินไส้กรอกที่ไม่มีสารกันบูด นี่จึงเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อของ และพลังของผู้บริโภคจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อคุณซื้อหรือไม่ซื้อสินค้านั้นๆ” นางสาวสารีกล่าว
นางสาวสารี กล่าวว่า หวังว่าไส้กรอก 3 ยี่ห้อที่พบสารไนเตรทและไนไตรท์เกินมาตรฐาน ทาง อย.จะดำเนินการจัดการ เพราะ อย.มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานอาหาร ส่วนการแสดงฉลาก มีเพียง 6 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูล แต่เป็นการแสดงข้อมูลโดยใช้รหัส ซึ่งผู้บริโภคเข้าใจได้ยาก ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ฉลากเป็นมิตรกับผู้บริโภคว่าเห็นแล้วรู้ว่ายี่ห้อนี้ใส่สารกันบูดหรือไม่
ทั้งนี้ ค่ามาตรฐานตามประกาศของ อย.อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มไส้หรอกและแฮม ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนค่าไนไตรท์ใช้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม หรือหากใช้สารทั้ง 2 ชนิดให้ใช้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
สารเคมีตกค้างในพริกสูงสุด ไทยแพนจี้ก.เกษตรฯ ปฏิรูปตรา Q ของมกอช.