- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ขสมก.เคาะราคาจัดซื้อรถเมล์ NGV ต้น ก.ค. 59-‘เจ๊เกียว’ ชี้ไทยยังไม่พร้อมใช้ระบบไฟฟ้า
ขสมก.เคาะราคาจัดซื้อรถเมล์ NGV ต้น ก.ค. 59-‘เจ๊เกียว’ ชี้ไทยยังไม่พร้อมใช้ระบบไฟฟ้า
จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน คาดล๊อตเเรก ส่งมอบ ต.ค. 59 ผอ.ขสมก.เผยร่างทีโออาร์ฉบับใหม่ รวมจัดซื้อรถ-ซ่อมบำรุง 4 พันล. ใช้ประกันสัญญา 10% ของราคาประมูล 'เจ๊เกียว' มองไทยยังไม่พร้อมมีรถเมล์ไฟฟ้า 'ต่อตระกูล' เป็นผู้สังเกตการณ์ ชูข้อตกลงคุณธรรม จัดประมูลโปร่งใส
วันที่ 18 เมษายน 2559 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดการชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตงาน (TOR) โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมบำรุงซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร จำนวน 489 คัน ณ หอไทยนิทัศน์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
นายสุรชัย เอี่ยมวชิรกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงร่าง TOR ของโครงการฯ ซึ่งฉบับใหม่และฉบับเดิมนั้นมีความแตกต่างบางประการ แต่จะยึดฉบับเดิมเป็นหลัก โดยปรับปรุงภายใต้กรอบการแนะนำของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.)
เดิมจะมีการเสนอราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีอ๊อกชั่น) เฉพาะรถเมล์ และให้ดำเนินการจัดซื้อพิเศษ เรื่องการซ่อมบำรุงรักษา แต่ร่าง TOR ฉบับใหม่ กำหนดให้เสนอราคาจัดซื้อรถเมล์พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษาด้วย ทั้งสิ้น 489 คัน 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รถเมล์ 1,700 ล้านบาท ซ่อมแซมและบำรุงรักษา 10 ปี 2,300 ล้านบาท
ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะไม่มีการวางหลักประกันโดยแบงก์การันตีจำนวนเงินหลักพันล้านบาท เพราะมองว่ามากเกินไป เมื่อเทียบกับราคาค่างานทั้งหมด 4,000 ล้านบาท จึงเปลี่ยนเป็นหลักประกันสัญญา 10% จากราคาการประมูล นั่นคือ 400 ล้านบาท จะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าร่วมได้ โดยเปิดโอกาสให้นำเข้าหรือประกอบในประเทศได้
ส่วนกรณีสเปคของรถเมล์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยยังคงเป็นรถเมล์ขนาด 12 เมตร ชานต่ำ ใช้ก๊าซเอ็นจีวี อาจจะมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำบางประการให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ขณะที่วงเงินทุกจดทะเบียนใช้หลักการประมูล 5% ของราคามูลค่างานทั้งหมด และจะยึดราคา 3.549 ล้านบาท/คัน ซึ่งเป็นราคาประมูลสุดท้ายเป็นตัวตั้ง
อย่างไรก็ตาม กรณีที่บริษัทเอกชนเสนอราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางถือเป็นเรื่องดีและสามารถทำได้ แต่ราคาข้างต้นได้มีการพิจารณาอย่างถ่องแท้หลายรอบแล้ว และยืนยันจะเดินหน้าตามกำหนดเวลาการดำเนินงาน โดยจะประกาศเชิญชวนขายซองประกวดราคา 23-27 พฤษภาคม 2559 เปิดให้มีการเสนอราคาด้วยวิธีอีอ๊อกชั่น 8 กรกฎาคม 2559 และทำสัญญากับบริษัทเอกชนผู้ขายรถให้ ขสมก. 29 กรกฎาคม 2559 และคาดว่าการส่งมอบรถเมล์รอบแรกจะเกิดขึ้นประมาณตุลาคม 2559
สำหรับข้อกังวลกรณีกลุ่มกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (JVCC) ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีการยกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการนัดพิจารณาใด ๆ นั้น นายสุรชัย ระบุว่า ไม่สามารถทราบผลคำพิพากษาได้ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตามกรอบเวลาควบคู่กันไป ทั้งนี้ หากศาลปกครองมีคำพิพากษาอย่างไร ยินดีจะปฏิบัติตามทันที
ด้านนางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว ผู้บริหาร บริษัท เชิดชัย มอเตอร์เซลส์ จำกัด กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะมีรถเมล์ไฟฟ้าวิ่งบริการผู้โดยสาร ซึ่งขณะนี้อยู่ในแผนการพิจารณาของ ขสมก. ว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในเรื่องดังกล่าว เพราะรถเมล์ไฟฟ้าใช้ต้นทุนสูง รถคันหนึ่งต้องใช้แบตเตอรี่ 30 ลูก วิ่งได้ประมาณ 250 กิโลเมตร ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ ประกอบกับ ขสมก.มีหนี้สินจำนวนมาก จึงเป็นอุปสรรค แต่หลายประเทศเลือกใช้รถประเภทนี้ เพราะไม่ทำลายสภาพแวดล้อม
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทประกอบรถยนต์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน สื่อมวลชน และประชาชนผู้ใช้บริการ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่าง TOR ฉบับใหม่ เเต่อยากให้ระบุเนื้อหาให้ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นรถเมล์เอ็นจีวีจะต้องประกอบขึ้นในประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างงาน ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ โครงการจัดซื้อฯ มีนายต่อตระกูล ยมนาค เป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์ (Independence Observer) ในระบบข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งรัฐบาลเเละองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเห็นตรงกันว่า จะช่วยขจัดปัญหาการคอร์รัปชันได้
ด้านนายบุญชัย อุดมเเสวงโชค กก.บริษัท โนเวม เอนจิเนียริ่ง จำกัด ในฐานะผู้ติดตามนายต่อตระกูล เสนอเเนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดรูปเเบบรถเมล์เอ็นจีวี เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวรองรับกำลังการผลิตในประเทศ พร้อมกันนี้ ควรออกเเบบให้ทางขึ้นสามารถเปิดปิดเเละยื่นเทียบทางเท้าได้ ด้วยระบบไฟฟ้าหรือไฮโดรลิค โดยพนักงานขับรถ เเต่ต้องไม่ต่ำเกินไป เพราะหากเกิดน้ำท่วมขังจะไหลเข้าเเละส่งผลกกระทำต่อตัวเครื่องได้
ภาพประกอบ:เว็บไซต์เอ็มไทย