- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ปชป.ยื่นนายกฯ ทบทวนแผนลงทุนรถไฟเร็วสูง หวั่นระยะทางแค่โคราชไม่คุ้มทุน
ปชป.ยื่นนายกฯ ทบทวนแผนลงทุนรถไฟเร็วสูง หวั่นระยะทางแค่โคราชไม่คุ้มทุน
ปชป.ยื่นหนังสือ 'ประยุทธ์'กังวลปรับเเผนลงทุนรถไฟความเร็วสูงเหลือ กทม.-โคราช เสี่ยงกระทบสถานะทางการเงินประเทศ เเนะใช้อำนาจปฏิรูปการรถไฟฯ สร้างความเชื่อมั่น ปชช. ก่อนให้สิทธิ์ดูเเลโครงการ
วันที่ 28 มีนาคม 2559 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำโดยนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายอนุชา บูรพชัยศรี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. เข้ายื่นหนังสือเพื่อเป็นข้อมูลและข้อคิดเห็นแผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีพล.อ.สกนธ์ ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ ณ ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล
นายกรณ์ กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือว่า ปชป.ติดตามและสนับสนุนแนวความคิดการลงทุนระบบรางของประเทศมาโดยตลอด และในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้กำหนดแผนแม่บทพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ดังนั้น จึงดีใจที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการลงทุนพัฒนาเรื่องนี้ เพื่อประชาชนจะได้ใช้บริการระบบรางที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเดิมกำหนดมีระยะทางถึง จ.หนองคาย เพื่อเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงของจีน แต่ขณะนี้มีแนวคิดจะไปถึงนครราชสีมาเท่านั้น และตัดเส้นทางแก่งคอย-มาบตาพุด ออกจากแผนโครงการด้วย ประกอบกับตัดสินใจเดินหน้าการลงทุนเอง โดยไม่มีการร่วมทุนกับประเทศใด
อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ปชป.จึงมีความกังวลจะส่งผลกระทบต่อภาระในอนาคตต่องบประมาณของประเทศ รวมถึงโครงสร้างการบริหารจัดการโครงการ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงสร้างการบริหารงานปัจจุบัน และภารกิจที่มีมากอยู่แล้ว ในการพัฒนารถไฟทางคู่ในระบบเดิม และการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการต่าง ๆ ดังเช่น แอร์พอร์ตลิงก์ ทำให้ไม่มีกำลังเพียงพอในการขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งไม่มีประสบการณ์มาก่อนหรือไม่
จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลส่งสัญญาณให้ชัดเจนจะลงทุนพัฒนารถไฟทางคู่เป็นอันดับแรก รองลงมา คือ การพัฒนาระบบมอเตอร์เวย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะรถไฟทางคู่เชื่อว่า จะเป็นโครงการที่การรถไฟฯ มีศักยภาพดำเนินงานได้ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนกับผู้ประกอบการช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้า แต่รถไฟความเร็วสูงใช้รองรับผู้โดยสารเท่านั้น และยังเห็นว่าก่อนมอบหมายภารกิจที่สลับซับซ้อนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ควรใช้อำนาจที่มีอยู่ปฏิรูปการรถไฟฯ ให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการทำงาน
เมื่อถามถึงผลเสียในการไม่ร่วมลงทุนกับต่างประเทศ นายกรณ์ ระบุว่า มีความเสี่ยงทางการเงินอย่างปฏิเสธไม่ได้ โครงการนี้เดิมมีรูปแบบการลงทุนร่วมกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับจีน รัฐสภาจึงมีมติให้เจรจาร่วมลงทุน แต่มีการปรับเปลี่ยนแนวทางในรัฐบาลต่อมา ทั้งนี้ แม้โครงกรจะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มการขาดทุนทางการเงินสูงมาก ยิ่งกรณีมีการปรับแผนใหม่ในรัฐบาลปัจจุบันสร้างถึงนครราชสีมา ย่อมทำให้จำนวนผู้โดยสารจากสมมติฐานลดลง โอกาสความคุ้มค่าทางการเงินก็ลดลงด้วย
เมื่อถามอีกว่า มองอย่างไรที่นายกรัฐมนตรีระบุไม่เร่งดำเนินโครงการในรัฐบาลนี้จะไม่มีโอกาสก่อสร้างในอนาคต รมว.คลัง กล่าวเห็นด้วยที่จะริเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงในรัฐบาลปัจจุบัน แต่ก้าวแรกมีความสำคัญ การลงทุนไปก่อน เดี๋ยวอนาคตค่อยว่ากันนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงให้โครงการได้ เพราะการเริ่มลงทุนของไทยเอง อำนาจการต่อรองกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีนจะลดลง เพราะฉะนั้นอยากให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าวิธีใดเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ส่วนหน่วยงานใดที่ควรเข้ามารับผิดชอบโครงการ หากยังเป็นการรถไฟฯ ในรูปแบบโครงสร้างปัจจุบัน ถามว่าใครจะเชื่อมั่นว่าจะเดินหน้าไปสู่อนาคตได้ .