- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ‘ดร.วรากรณ์’ ยกคำ อ.ป๋วย มองครูที่นำความคิดใส่สมองเด็ก เป็นเรื่องผิดพลาด
‘ดร.วรากรณ์’ ยกคำ อ.ป๋วย มองครูที่นำความคิดใส่สมองเด็ก เป็นเรื่องผิดพลาด
ฉลอง 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก ‘ดร.วรากรณ์’ เผยหลัก 3 ข้อ เกี่ยวกับการศึกษา เน้น ปชต.-ยืดหยุ่นความคิด-ความดี งาม จริง เพิ่มในหลักสูตรได้เชื่อคนจะมีคุณภาพ ด้านราชบัณฑิตชำแหละระบบล้มเหลวตั้งแต่ประถมศึกษา ทำระบบการเมือง สังคมพังไปด้วย
คณะกรรมการจัดงาน 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ มูลนธิเสฐียร โกเศศ-นาคะประทีป มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 2559 ณ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยกิจกรรมในวันที่ 10 มีนาคม 2559 ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วงเช้า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานคณะกรรมการจัดงาน 100 ปี ชาตกาลฯ ได้อ่านประกาศรางวัลบุคคลสำคัญของโลกของยูเนสโก แก่ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากนั้นมีการเสวนาในหัวข้อ “แนวคิดทางการศึกษาของ อ.ป๋วย” ท่ามกลางผู้สนใจรับฟังคับคั่ง
ศ.เกียรติคุณ เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ราชบัณฑิต ประเภทสังคมศาสตร์ สาขาเศรษฐกิจ กล่าวว่า การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ หัวใจสำคัญขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชากร ระบบการเมือง และผู้นำ หากสามารถแก้ไขปัญหา ประเทศจะก้าวเดินต่อไปได้
ทั้งนี้ คุณภาพของประชากร ต้องมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีความรู้การศึกษาที่ดี ระเบียบวินัย คุณธรรม และความรับผิดชอบทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจสูงในการแก้ไขปัญหา แต่หากคุณภาพประชากร ด้านการศึกษาไม่ดี จะไม่ประสบความสำเร็จ
“อ.ป๋วย มีความคิดว่า เด็กทุกคนต้องเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเสมอภาค ดังนั้นทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่ดีมีมาตรฐาน” ราชบัณฑิต กล่าว และว่า แต่ระบบการศึกษาของไทยกลับมีปัญหาเชิงโครงสร้าง การบริหารการศึกษามีปัญหา และการจัดงบประมาณใช้จ่ายไม่เพียงพอ
ศ.เกียรติคุณ เกริกเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ท่านยังมองการศึกษาของไทยไม่ประสานกันในเต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ไม่มีลำดับก่อนหลัง หากจะให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาดี ต้องมีคุณภาพตั้งแต่ระดับประถมศึกษา แต่ปัจจุบันพบว่า เละลงทุกปี คุณภาพระดับล่างเกิดปัญหาทั้งหมด
“การบริหารการศึกษา มีการใช้จ่ายงบประมาณสูง แต่ผลลัพธ์ที่ได้มากลับน้อย เพราะฉะนั้นในภาพรวมถือว่าระบบการศึกษาไทยล้มเหลว ด้วยเหตุนี้ ระบบสังคม และการเมือง จึงล้มเหลวตามไปด้วย สำหรับอ.ป๋วยแล้ว มีแนวทางแก้ไขมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อตอบโจทย์การศึกษา เพราะเงินมีความสำคัญต่อการบริหารการศึกษา” ราชบัณฑิต กล่าว
ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า 3 ประการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีอยู่ในตัว อ.ป๋วย และควรจะมีอยู่ในคนทั่วไปด้วย คือ
1.ประชาธิปไตย ซึ่งท่านจะพูดถึงประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย ในเรื่องการแสดงความคิดเห็น โดยให้นักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโรงเรียนได้ เพราะไม่เชื่อว่าครูจะมีอำนาจสิทธิขาด โดยไม่คำนึงถึงจิตวิญญาณของเด็ก และระบบจะไม่มีความหลากหลาย ไม่มีความเจริญเติบโตทางสติปัญญาได้
2.การยึดติดทางความคิด ต้องมีความยืดหยุ่นทางความคิด โลกเราเปลี่ยนแปลงไปมากมาย และไม่เกิน 10 ปี จะเห็นรถยนต์ไร้คนขับในประเทศไทย หากเราไม่มีความยืดหยุ่นทางความคิด คิดแบบสิ่งที่เราเชื่อ คนรุ่นใหม่จะไปไม่รอด ฉะนั้นต้องทำให้คนคิดอย่างหลากหลาย
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อ่านประกาศรางวัลบุคคลสำคัญของโลก)
“อ.ป๋วยจะรังเกียจหากครูนำความคิดไปใส่ในสมองของเด็กถือเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เพราะครูและเด็กเติบโตขึ้นมาคนละยุคสมัย ที่สำคัญ ทำให้การเจริญเติบโตทางสติปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้”
3.ความดี ความงาม ความจริง มีความชื่นชมในความรู้สึกต้องเท่าเทียม โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 อ.ป๋วยเริ่มต้นเขียนเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนให้คนหันกลับมามองเรื่องความเท่าเทียมมากขึ้น ถือเป็นความงดงามที่แน่นอน
ความศรัทธาในสิ่งถูกต้องเป็นอีกหนึ่งความงาม และที่สำคัญคิดว่า ความดีเปรียบเหมือนเชื้อติดร่วมกัน ส่วนความจริงจะทำให้เรารู้เป็นใครมาจากไหน ต้องการอะไรในชีวิต และความจริงจะทำให้เรามีชีวิตที่ดี ถ้าอยู่บนความลวง ทุกอย่างก็ลวงหมด จึงควรนำเรื่องเหล่านี้บรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา รวมถึงสอนประชาชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา
“หากปฏิบัติตาม 3 ข้อ ได้แก่ ประชาธิปไตย การยืดหยุ่นทางความคิด ความดี ความงาม และความจริง เข้าไว้ในหลักสูตรการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เชื่อว่าจะได้คนที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม” อดีตอธิการบดี มธบ. กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงภาพรวมการศึกษาไทยปัจจุบันมีนักเรียนในระบบ 13 ล้านคน ระดับปริญญากว่า 2 ล้านคน โดยมีอัตราผู้เรียนสายสามัญต่อสายอาชีพ 2:1 และธุรกิจกวดวิชาเติบโตอย่างมากกว่า 2,500 แห่งทั่วประเทศ มีเงินหมุนเวียนปีละ 10,000 ล้านบาท
"สิ่งที่น่ากังวล คือ ในอนาคต เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ผู้เรียนในระดับต่าง ๆ จะลดลงอย่างมาก ในขณะที่มหาวิทยาลัยใหม่เปิดเพิ่มขึ้นตลอดเวลา"
นอกจากนี้ในอีก 5 ปี จะมีครูเกษียณ 1.9 แสนคน จากทั้งหมด 3.6 แสนคน แต่เรากลับพบว่า กำลังจะมีการผลิตครูในรูปแบบเดิมเข้าไปในระบบการศึกษา และปัญหาอื่น ๆ นักเรียนออกกลางคันไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา 3 แสนคน เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษากว่า 5 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กยากจน เร่ร่อน ไร้สัญชาติ แรงงานก่อสร้าง และยังมีแม่วัยใสเกิดขึ้นปีละหลายแสนคนอีกด้วย
รศ.ดร.อนุชาติ กล่าวว่า การศึกษาที่ผ่านมาล้มเหลว เป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ เกิดจากปัญหาซับซ้อน ตั้งแต่ระดับนโยบายเละแผนที่ไม่ต่อเนื่อง สถานศึกษาปรับตัวไม่ได้ ระบบประเมินที่สร้างภาระมากกว่าหนุนเสริม อีกทั้งค่านิยมครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง ยังขาดจิตวิญญาณ ถูกระบบทุนเข้าครอบงำ การศึกษากลายเป็นเชิงพาณิชย์มากกว่าบริการสาธารณะ
สิ่งต้องปฏิรูป คือ ต้องทอผ้าผืนใหม่ สร้าง Reconnection ระหว่างครูกับศิษย์ คือ จัดการศึกษาให้เด็กรักครูและครูรักเด็ก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 ซึ่งมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษย์วิทยา เคยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี 2508 โดยสเตฟาน คอลินยองส์ นักวิชาการร่วมสมัยชาวเยอรมัน กล่าวยกย่องท่านว่าเป็น “บิดาของเมืองไทยสมัยใหม่" ในฐานะผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และเป็นผู้มีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาด้วย .