- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ทีดีอาร์ไอ เสนอให้มีกม.รับฟังความเห็นเป็นมาตรฐานสากล ไม่ใช่แค่"พิธีกรรม"
ทีดีอาร์ไอ เสนอให้มีกม.รับฟังความเห็นเป็นมาตรฐานสากล ไม่ใช่แค่"พิธีกรรม"
‘ดร.เดือนเด่น’ ชี้ธรรมาภิบาลของหน่วยงานกำกับดูแลจะโปร่งใส ต้องเปิดเผยผลประโยชน์ต่อสาธารณชน ตั้ง สนง.ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม สร้างกฎแสดงความเห็นตามมาตรฐานโออีซีดี ให้ปชช.ทุกคนเข้าร่วมได้ เผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์
วันที่ 9 มีนาคม 2559 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาเรื่อง ดุลยพินิจรัฐไทย ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวตอนหนึ่งถึงข้อสรุปผลการศึกษา เรื่องธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจโทรคมนาคมและพลังงาน ว่า กรณีต้องการกำกับดูแลหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานอื่น ๆ ที่คุมอำนาจรัฐให้เกิดความโปร่งใส สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ ส่งเสริมจริยธรรมโดยให้บันทึกและเปิดเผยผลประโยชน์ที่ได้รับต่อสาธารณชน สร้างแนวปฏิบัติในกรณีที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนด้านการเงิน และให้ความรู้กับหน่วยงาน ซึ่งจัดตั้งให้มีสำนักงานที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม
นอกจากนี้องค์กรจะเกิดความโปร่งใสมากขึ้น ต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดของการใช้จ่ายเงิน เงินเดือน ผลประโยชน์ของกรรมการต่อสาธารณะ ซึ่งประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเฉพาะต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เท่านั้น และไม่มีใครเห็นข้อมูลที่มีการตรวจสอบเลย
ขณะที่การติดต่อกับบุคคลภายนอก ต้องกำหนดหลักการติดต่อบุคคลภายนอก (Ex parte rule) อนุญาตโดยสร้างเงื่อนไข เปิดเผยบันทึกการประชุมและเอกสารข้อมูลที่ได้รับการประชุมต่อสำนักงานและสาธารณะทุกครั้ง แต่ห้ามติดต่อแบบลับโดยเด็ดขาด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดที่ชัดเจน
ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการออกกฎ กรณีของประเทศไทย ยกตัวอย่าง ระเบียบ กสทช.ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็น พ.ศ.2548 ให้มีการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่มีผลใช้ บังคับเป็นการทั่วไปต้องรับฟังความคิดเห็น แต่ในทางปฏิบัติพบว่า การรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียง "พิธีกรรม" เท่านั้น มิใช่กระบวนการที่เป็นสากล เช่น ขาดการนำเสนอข้อมูลอย่างละเอียด และกำหนดประเด็นคำถามที่สมบูรณ์ ขาดการชี้แจงโต้ตอบที่น่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ ควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นที่เป็นมาตรฐานสากลและมีหน่วยงานกลางที่ดำเนินการ ซึ่งหลักการในการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชน ในการจัดทำกฎหมายขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุ ต้องเป็นข้อบังคับโดยไม่มีข้อยกเว้นและไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานราชการใด ๆ และต้องดำเนินการก่อนที่จะมีการยกร่างกฎหมาย มีแนวทางในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในรูปแบบคู่มือ
อีกทั้งประชาชนทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ โดยข้อมูลที่ได้รับจากเวทีการแสดงความคิดเห็นจะต้องมีการบันทึกไว้และต้องเผยแพร่แก่สาธารณชนทางเว็บไซต์ ขณะที่หน่วยงานที่เสนอกฎหมายจะต้องตอบข้อคิดเห็นที่ได้รับเป็นลายลักษณ์อักษร และข้อมูลใด ๆ ที่ได้รับจะต้องบันทึกไว้ในรายงานผลกระทบของกฎหมายด้วย สุดท้าย จะต้องมีหน่วยงานกลางที่ตรวจสอบคุณภาพของการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานราชการต่าง ๆ .