- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- 'ม.ร.ว.ดิศนัดดา' ชี้จัดการน้ำล้มเหลว ทำเเล้งหนัก ฝนตกปีละ 7.5 เเสนล้านลบ.ม. เก็บได้เเค่ 10%
'ม.ร.ว.ดิศนัดดา' ชี้จัดการน้ำล้มเหลว ทำเเล้งหนัก ฝนตกปีละ 7.5 เเสนล้านลบ.ม. เก็บได้เเค่ 10%
เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ หวังรัฐบาลนำ 'น้ำ' เป็นวาระเเห่งชาติ ชี้วิกฤติภัยเเล้งเกิดจากบริหารจัดการบกพร่อง ฝนตกปีละ 7.5 เเสนล้าน ลบ.ม. เก็บได้เเค่ 10% เเนะชาวบ้านขุดอ่างประจำครัวเรือน เผยคืบหน้าฟื้นฟูป่าน่าน ขอสื่อมวลชนช่วยเผยเเพร่ให้มาก คืนผืนป่าได้เเล้ว 2.5 เเสนไร่
วันที่ 7 มีนาคม 2559 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานเเนวพระราชดำริ จัดเเถลงข่าว ประจำปี 2559 เพื่อสรุปผลการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ที่ผ่านมา ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานเเนวพระราชดำริ เปิดเผยภายหลังการเเถลงผลงานถึงสถานการณ์ภัยเเล้งที่กำลังเป็นปัญหาของประเทศว่า ไม่มีรัฐบาลใดนำเรื่องน้ำเป็นวาระเเห่งชาติ ทั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานเรื่องนี้มาร่วม 60 ปี เเต่ไม่มีใครน้อมนำหลักการของพระองค์มาปฏิบัติ ดังนั้นถึงเวลาเเล้วที่รัฐบาลต้องทำให้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ไทยโชคดีตั้งอยู่ในดินเเดนสุวรรณภูมิ มีฝนตกประมาณ 7.5 เเสนล้าน ลบ.ม./ปี เเต่เก็บกักได้เพียงร้อยละ 10 ปัญหานี้จึงอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำบกพร่อง
ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มีฝนตก 2.3 เเสนล้านลบ.ม./ปี เเต่เก็บกักได้เพียงร้อยละ 2 ต่อปี ตั้งคำถามว่า ใครเป็นผู้บริหารจัดการน้ำ เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นใหญ่ เเทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลลงเเม่น้ำโขง ชี มูล ควรทำให้ไหลช้าที่สุด อาจทำโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำหรับกักเก็บน้ำก็ได้
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวอีกว่า ไม่เชื่อพื้นที่มีลักษณะเเบนจะเก็บกักน้ำไม่ได้ เพราะเต็มไปด้วยเทือกเขา จึงต้องพยายามหาวิธีโดยศึกษาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ หรือให้ชาวบ้านใช้พื้นที่เกษตรกรรมร้อยละ 10 สร้างบ่อเก็บกักน้ำไว้ ทั้งนี้ หากภาคอีสานเก็บกักน้ำได้ร้อยละ 20 รับรองอีสานเขียว
"คนไทยต้องรู้จักพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล เดี๋ยวนี้รอเเจกของ ทำอะไรไม่เป็นเเล้ว รอรัฐบาลก็จะไม่มีน้ำใช้ เพราะไม่มีกำลังจะช่วยเหลือทั้งประเทศได้" เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าว เเละว่า ขณะนี้กำลังร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย เป็นเเกนนำในการบริหารจัดการเรื่องน้ำระดับพื้นที่ โดยจะมีการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ให้มีประสิทธิภาพเเละชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ ไม่ต้องสร้างอะไรใหม่ เเต่ให้นำสิ่งที่มีอยู่มาปรับปรุง บริหารจัดการตามศาสตร์พระราชา
เมื่อถามถึงความคืบหน้าโครงการฟื้นฟูป่าน่าน ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า มีการพัฒนาที่ดีขึ้น เพราะสื่อมวลชนช่วยกันกระเเทกเเรง ๆ เเต่การดำเนินโครงการจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่างมูลนิธิเเม่ฟ้าหลวงได้ดำเนินการมาตั้งเเต่ปี 2556 จนสามารถฟื้นฟูป่าได้ 2.5 เเสนไร่ เคยเกิดไฟป่า 7.2 หมื่นไร่/ปี ปัจจุบันเหลือเพียง 84 ไร่/ปี มิใช่เพราะมีเจ้าหน้าที่ป้องกันไฟป่า เเต่เพราะสร้างความเป็นเจ้าของป่าเเก่ชาวบ้าน ด้วยการพัฒนาเป็นป่าเศรษฐกิจ ปลูกมะม่วงหิมพานต์ ลิ้นจี่ ถามว่าชาวบ้านจะปล่อยให้ไฟไหม้หรือไม่ ไม่มีทางเพราะพวกเขาเป็นเจ้าของ โดยโครงการพัฒนาให้ปลูกป่าเศรษฐกิจกั้นป่าอนุรักษ์เเละป่าใช้สอย ซึ่งรัฐบาลเห็นชอบให้มีการดำเนินโครงการ โดยขอคืนพื้นที่ป่าร้อยละ 60 เเต่มูลนิธิสามารถทำได้ร้อยละ 88 .