- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- วิจัยม.หอการค้าฯ เจาะพฤติกรรมวัยรุ่นเปลี่ยน ชมรายการทีวีผ่าน ‘สมาร์ทโฟน’ เกือบครึ่ง
วิจัยม.หอการค้าฯ เจาะพฤติกรรมวัยรุ่นเปลี่ยน ชมรายการทีวีผ่าน ‘สมาร์ทโฟน’ เกือบครึ่ง
'ดร.มานะ' ยันตัวเลขบ่งชี้วัยรุ่นรับชมรายการทีวีจากสมาร์ทโฟนเกือบครึ่ง แสดงให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป แนะช่องรายการใดต้องการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น แพลตฟอร์มจาก You Tube และ Line TV ยังน่าสนใจ ขณะที่การจดจำเลขสถานี พบส่วนใหญ่ตอบแทบไม่ได้ หรือจำไม่ได้เลย
วันที่ 27 มกราคม 2559 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการสำรวจ เรื่อง พฤติกรรมการรับชมรายการโทรทัศน์และการรับรู้ตราสินค้าสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลของกลุ่มผู้ชมวัยรุ่น ณ อาคาร 10 ชั้น 6 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง งานวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีการเก็บแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างจำนวน 800 คน อายุ 15-22 ปี เป็นชาย ร้อยละ 47.5 และหญิง ร้อยละ 52.5 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดเดือนธันวาคม 2558 ภายหลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่งให้เรียงช่องทีวีดิจิทัลเหมือนกันทุกแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ ผลการสำรวจ พบว่า อุปกรณ์ที่วัยรุ่นใช้ในการรับชมรายการโทรทัศน์ อันดับ 1 คือ ดิจิทัลทีวี ร้อยละ 59.5 สมาร์โฟน ร้อยละ 41.8 โน๊ตบุ๊ก ร้อยละ 29.3 แท็บเล็ต ร้อยละ 24.3 คอมพิวเตอร์ PC ร้อยละ 21.5 สมาร์ททีวี ร้อยละ 18.8 อนาล็อกทีวี ร้อยละ 7 และโทรศัพท์มือถือที่มีเสาอากาศ ร้อยละ 6
ขณะที่พฤติกรรมการชมรายการย้อนหลังของวัยรุ่น คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ระบุว่า เคยดูรายการย้อนหลัง ร้อยละ 85.8 ไม่เคยดูรายการย้อนหลัง ร้อยละ 14.2 โดยสื่อที่ใช้ในการรับชมมากที่สุด คือ You Tube ร้อยละ 73 Line TV ร้อยละ 36 Channel website ร้อยละ 22.3 Bugaboo TV ร้อยละ 10.5 APP ร้อยละ 4 และเว็บไซต์ ร้อยละ 3.5
“วัยรุ่นไม่ได้รับชมรายการโทรทัศน์จากดิจิทัลทีวีเท่านั้น แต่ตัวเลขบ่งชี้ว่า รับชมจากสมาร์ทโฟนเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป อาจบอกนัยยะสำหรับดิจิทัลทีวีที่ต้องการสื่อสารการตลาดกลุ่มวัยรุ่น ‘สมาร์ทโฟน’ เป็นแพลตฟอร์ม ที่ควรสนับสนุน” ดร.มานะ กล่าว และว่า ถ้าช่องรายการใดต้องการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ แพลตฟอร์มจาก You Tube และ Line TV ยังน่าสนใจ แต่ไม่ควรทิ้งเว็บไซต์องค์กร ควรพัฒนาการรับชมรายการย้อนหลังให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่จะรับชมเมื่อไหร่ก็ได้
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับช่วงเวลาในการรับชมรายการโทรทัศน์ พบวัยรุ่นนิยมช่วงเวลา 20.01-24.00 น. ร้อยละ 69 โดยประเภทรายการที่รับชมมากที่สุด คือ ละครไทย ร้อยละ 47.3 ภาพยนตร์ไทย/ต่างประเทศ ร้อยละ 39 และการ์ตูน ร้อยละ 37.8 ส่วนข่าว/วิเคราะห์ ร้อยละ 18 ซึ่งได้รับความสนใจใกล้เคียงกับถ่ายทอดสดกีฬา และวาไรตี้ ร้อยละ 17.5 และร้อยละ 17 ตามลำดับ
ทั้งนี้ หากมีการนำเสนอข่าวหรือบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เชื่อมั่นว่า วัยรุ่นจะให้ความสนใจในการรับชมเพิ่มขึ้นอีก แต่สำหรับรายการประเภทแนะนำสินค้า ร้อยละ 1.8 อยู่ในอันดับสุดท้าย กลุ่มเป้าหมายไม่นิยมบริโภคและพร้อมเปลี่ยนช่องอื่นทันที
ด้าน น.ส.กนกกาญจน์ บัญชาบุษบง อาจารย์ประจำสาขาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงสถานีที่วัยรุ่นเคยรับชมในรอบ 3 เดือน พบอันดับ 1 ได้แก่ ช่อง 3HD ร้อยละ 64 ช่อง 7HD ร้อยละ 53.5% ช่องเวิร์คพ้อยท์ ร้อยละ 48 ช่อง GMM ร้อยละ 32 ช่องวัน ร้อยละ 29.3 ช่อง 3SD ร้อยละ 25 ช่อง 8 ร้อยละ 21.8 ช่องไทยรัฐ ร้อยละ 15 ช่องโมโน ร้อยละ 14 และช่องทรู 4 ยู ร้อยละ 14 ตามลำดับ
“สาเหตุที่ช่อง 3HD และช่อง 7HD ได้รับความนิยมสูงสุดสองอันดับแรก อาจเนื่องจากแบรนด์มีมานานแล้ว วัยรุ่นจึงรับชมด้วยความคุ้นเคย ส่วนอันดับที่ 3-5 นั้น เป็นช่องเน้นความบันเทิง เจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นชัดเจน” อาจารย์ประจำสาขาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ กล่าว
น.ส.กนกกาญจน์ กล่าวต่อว่า เมื่อถามถึงการจดจำเลขสถานี พบกลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่ตอบไม่ได้ บางคนเขียนว่า ไม่เคยรับชมผ่านช่อง หรือจำไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม เลขช่องที่จดจำได้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ช่อง 7HD เลข 35 ร้อยละ 22.3 แต่ก็ยังเป็นตัวเลขน้อยมาก ตามมาด้วย ช่อง 3HD เลข 33 ร้อยละ 20.5 และช่อง 8 เลข 27 ร้อยละ 12.5
ทั้งนี้ สถานีที่วัยรุ่นชื่นชอบมากที่สุด คือ ช่อง 3HD ร้อยละ 24 ตามมาด้วย ช่อง 7HD ร้อยละ 14.5 ช่องเวิร์คพ้อยท์ ร้อยละ 14 ช่องวัน ร้อยละ 11 ช่องจีเอ็มเอ็ม ร้อยละ 7.5 ช่องโมโน ร้อยละ 4.8 ช่อง 3SD ร้อยละ 3.8 ช่อง 8 ร้อยละ 3.5 ช่องไทยพีบีเอส ร้อยละ 2.5 ช่อง 3 แฟมิลี่ และช่อง 11 ร้อยละ 1.5 และช่อง PPTV ร้อยละ 1
ส่วนโลโก้ของสถานีโทรทัศน์ อาจารย์ประจำสาขาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ กล่าวว่า วัยรุ่นรู้จักโลโก้ช่อง 7HD มากที่สุด ร้อยละ 90.3 ช่องเวิร์คพ้อยท์ ร้อยละ 76.8 ช่องจีเอ็มเอ็ม ร้อยละ 75.8 ช่อง 3HD ร้อยละ 74.8 ช่องวัน ร้อยละ 74.3 ช่อง 5 ร้อยละ 73.8 ช่อง 8 ร้อยละ 70.3 ช่อง 9 ร้อยละ 66.0 ช่อง 3SD ร้อยละ 58.3 และช่องไทยรัฐ ร้อยละ 55.3 ซึ่งการจดจำโลโก้ได้ เนื่องจากบางช่องมีการนำโลโก้เดิมเป็นที่นิยมมานำเสนอนั่นเอง
“นอกเหนือจากการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบในการรับชมรายการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชมแล้ว แบรนด์ของสถานีโทรทัศน์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่สถานีต้องให้ความสำคัญในการสร้างและการสื่อสารแบรนด์ เหมือนกับสินค้าอื่น ๆ ที่การพัฒนาเพียงตัวผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการเอาชนะใจลูกค้า โดยอันดับแรกควรมุ่งเน้นให้เกิดการจดจำโลโก้และเลขช่องได้ เห็นได้จากผลสำรวจครั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจการจดจำเลขช่องกับการวัดเรตติ้งของ กสทช. ในช่วงเวลาเดียวกัน จะเห็นว่า สถานีที่ผู้ชมจดจำเลขช่องได้ จะมีเรตติ้งที่สูงกว่าสถานีช่องอื่น ๆ” น.ส.กนกกาญจน์ กล่าวในที่สุด .