- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ภาคปชช.ค้านรัฐจ่ายซ้ำ ค่าโง่คลองด่าน 9.6 พันล. ชี้เอกชนมีส่วนก่อความเสียหาย
ภาคปชช.ค้านรัฐจ่ายซ้ำ ค่าโง่คลองด่าน 9.6 พันล. ชี้เอกชนมีส่วนก่อความเสียหาย
ภาคปชช.ค้านรัฐจ่ายซ้ำ ค่าโง่คลองด่าน 9.6 พันล. แนะปรึกษากฤษฎีกา หรือรอการพิจารณาคดีอาญาการฉ้อโกงสัญญา ที่คพ.ฟ้องเอกชน 19 รายก่อน เชื่อไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว ยันชิง เร่งจ่ายเงิน รัฐบาลต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกับคดีจำนำข้าว
ตามที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 เห็นชอบให้สำนักงบประมาณเบิกจ่ายงบประมาณรวมเป็นเงินกว่า 9.6 พันล้านบาท เพื่อชำระค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียตำบล คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยจะแบ่งการชำระเงินออกเป็น 3 งวด คือ งวดแรก- ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 ชำระ 40% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงินกว่า 3,174 ล้านบาท และอีกกว่า 21.71 ล้านเหรียญสหรัฐ, งวดที่ 2-ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และอีกกว่า 16.88 ล้านเหรียญ, และงวดที่ 3- ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และอีกกว่า 16.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
วันที่ 19 พฤศจิกายน นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และนางสาวดาวัลย์ จันทรหัสดี อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่าน เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลขน ณ สำนักงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ ถนนงามวงศ์วาน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ทั้งนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ เห็นว่า ยังมีช่องทางที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายแก่งบประมาณแผ่นดินอันเกิดจากการด่วนตัดสินใจจ่ายเงินแก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ทั้งนี้เพราะกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ได้ปกปิดข้อมูลสำคัญ อันเป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษพลาดพลั้งทำสัญญาว่าจ้างให้ดำเนินโครงการ จนกลายเป็นความเสียหายบานปลายแก่ประเทศในที่สุด และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสัญญาโครงการนี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546
อนึ่ง การยุติโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียตำบลคลองด่าน ยังคงมีข้อมูลและข้อเท็จจริงจำนวนมากที่รัฐบาลควรใคร่ครวญไตร่ตรองให้ละเอียด ก่อนจะตัดสินใจจ่ายเงินให้แก่บริษัทเอกชน ดังนี้
1.ปัจจุบันการต่อสู้คดีอาญาการฉ้อโกงสัญญาที่ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นผู้ฟ้องคดีบริษัทเอกชน 19 ราย ยังไม่ถึงที่สุด และยังอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา คาดไม่เกินต้นปีหน้าที่จะมีการพิจารณาคดีนี้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องรอให้การพิจารณาคดี ถึงที่สุด ก่อนตัดสินใจเรื่องการดำเนินการชำระเงินค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชนตามการตัดสินของสถาบันอนุญาโตตุลาการ และตามการชี้ขาดของศาลปกครอง
หากศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ คพ.เป็นผู้ชนะคดีและบริษัทเอกชนเป็นฝ่ายแพ้คดี เพราะฉ้อโกง ตามหลักกฎหมายแล้ว การดำเนินใดๆ ให้ถือตามการตัดสินของศาลอาญาเป็นหลัก ไม่ใช่การตัดสินของศาลแพ่ง ศาลปกครอง หรือสถาบันอนุญาโตตุลาการ ดังนั้นจึงควรรอผลการพิจารณาคดีของศาลฎีกา
รัฐบาลชุดปัจจุบัน ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ เช่นเดียวกับกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องรับผิดชอบต่อกรณีทุจริตจำนำข้าว
หากรัฐบาลผลีผลามจ่ายเงินค่าเสียหายแก่เอกชนตามคำตัดสินของสถาบันอนุญาโตตุลาการ และการชี้ของศาลปกครอง โดยไม่รอฟังผลการพิจารณาของศาลฎีกา รัฐบาลจะไม่สามารถทวงเงินที่จ่ายให้เอกชนคืนสู่รัฐได้อีกเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น หากในอนาคตมีผู้ฟ้องร้องว่า รัฐบาลหละหลวมในการดำเนินการเรื่องนี้ จนเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียหาย รัฐบาลชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อจำนวนเงินดังกล่าว
2.รัฐบาลควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าควรจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ศึกษาเรื่องราวทั้งหมดและตีความเสียก่อนว่า รัฐบาลควรชำระเงินจำนวน 9.6 พันล้านหรือไม่