- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ทีดีอาร์ไอ ชี้สิ่งทอไทยเตรียมกระอัก หลังเวียดนามร่วมเป็นสมาชิก TPP
ทีดีอาร์ไอ ชี้สิ่งทอไทยเตรียมกระอัก หลังเวียดนามร่วมเป็นสมาชิก TPP
ไทยไม่ได้เนื้อหอมดึงดูดการลงทุนอีกต่อไปแล้ว 12 ชาติบรรลุ ข้อตกลง TPP ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ชี้มีผลกระทบโดยตรงส่งออกไทยแน่ เจอภาษีสูงทันที ขณะที่ส่งออกรถยนต์นั่งอีโคคาร์ ไปสหรัฐฯ ยังพอมีแสงสว่าง ปิกอัพหมดสิทธิ์
ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ซึ่งเป็นความตกลงการเปิดเสรีทางการค้าขนาดใหญ่ ขณะนี้มีสมาชิก ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น จำนวน 12 ประเทศ ว่า มีผลกระทบโดยตรงกับสินค้าส่งออกของไทยที่ส่งไปยังสหรัฐฯ ซึ่ง TPP ให้แต้มต่อกับสินค้าจากประเทศสมาชิก โดยเฉพาะมาเลเซีย และเวียดนาม คือ กลุ่มสินค้าสิ่งทอ
ดร. เดือนเด่น กล่าวถึงสินค้าส่งออกสิ่งทอของไทย พบว่า อัตราภาษีสิ่งทอของสหรัฐฯ ยังคงสูง ทำให้ไทยจะยิ่งเสียเปรียบเวียดนาม อีกทั้งยังมีสินค้าสิ่งทออีกหลายตัวที่ส่งไปสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากข้อตกลง TPP ทันที
“ส่วนสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วน อาจมีแสงสว่างบ้าง ภาษีรถยนต์นั่งไปสหรัฐฯ ปัจจุบันอัตราค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 2.5 % ซึ่งไทยเริ่มส่งรถยนต์นั่งอีโคคาร์ จากที่เคยส่งออกรถกระบะ ซึ่งมีอัตราภาษีสูงกว่า”
ผอ. ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการคุ้มครองการลงทุน ประเทศสมาชิก TPP เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จะมีสิทธิประโยชน์ให้เอื้อต่อการคุ้มครองการลงทุน และเปิดเสรีภาคบริการมากกว่าเดิม ขณะที่ไทยไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก 3 ประเทศนี้ไทยไม่มีการทำความตกลง
“ต่อไปนี้การเลือกลงทุนจะมองประเทศสมาชิก TPP แม้กระทั่งจีน ก็เริ่มมองเวียดนาม หากจีนอยากส่งออกสินค้าสิ่งทอไปสหรัฐฯ เริ่มไปตั้งโรงงานสิ่งทอในเวียดนามแล้ว”
ดร. เดือนเด่น กล่าวถึงสิ่งที่น่าห่วงในข้อตกลง TPP คือ เรื่องลิขสิทธิ์ที่จะขยายการคุ้มครอง หลังจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียชีวิตจาก 50 ปี เป็น 70 ปี คือ ยืดขึ้น รวมถึงสิทธิบัตรยาใหม่ ระหว่าง 8 -12 ปี เชื่อว่า สุดท้ายสหรัฐฯ จะถอยเหลือ 8 ปี เพราะออสเตรเลียไม่ยอม
“TPP เป็นการทำข้อตกลงที่ไม่มีเนื้อหาลายลักษณ์อักษร ณ จุดนี้รัฐบาลไทยต้องประเมินเราควรเข้าร่วมหรือไม่ในอนาคตเมื่อข้อตกลงนั้นลงตัวแล้ว พยายามหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ตรงไหน ตรงไหนเสีย มีกลไกวิธีการเยียวยาปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่มีความตกลงอะไรที่เราจะได้ทุกอย่าง”
ผอ. ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ในข้อตกลง TPP มีสำหรับสิ่งดีๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการค้า การเปิดตลาดใหม่ ซึ่งไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องหาตลาดใหม่ๆ อย่างเร่งด่วน อีกทั้งเงื่อนไขหลายอย่างในข้อตกลง TPP เน้นระบบธรรรมาภิบาล เช่น เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ไม่จ้างแรงงานเด็ก ผิดกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เป็นต้น