- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- เอ็นจีโอแนะอธิบดีประมงใช้วิกฤติเป็นโอกาสสางปัญหาทะเลไทย
เอ็นจีโอแนะอธิบดีประมงใช้วิกฤติเป็นโอกาสสางปัญหาทะเลไทย
กรีนพีซเปิดตัวคู่มือ-แอปพลิเคชั่น ‘จากเล สู่จาน’ สร้างตระหนักรู้คนไทยรักษ์ทะเล หลังประมงเกินขนาดทำเสื่อมโทรม ผู้บริหาร กรีนพีซฯ เผยปี 55 จับสัตว์น้ำได้ 18.2 กก./ชม. จาก 298 กก./ชม. เมื่อ 50 ปีก่อน ด้านผจก.ประมงพื้นบ้าน มั่นใจอธิบดีกรมประมงคนใหม่ ‘วิมล จันทรโรทัย’ ใช้โอกาสเวลานี้สางปัญหาสำเร็จ
วันที่ 11 กันยายน 2558 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานเปิดตัวคู่มือและแอปพลิเคชันบนมือถือ ‘จากเล สู่จาน:A quide to Sustainabli Seafood’ ณ ชั้น 5 ควอเทียร์ วอเตอร์ การ์เด้นท์ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ
ดร.ศศิวิมล สมิตติพัฒน์ คณะกรรมการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนเรื่องวิกฤติท้องทะเลที่เกิดขึ้น และต้องจำเป็นต้องเร่งให้มีการประมงอย่างรับผิดชอบ และยั่งยืน โดยกรีนพีซฯ เปิดตัวคู่มือ และแอปพลิเคชั่นในมือถือ สำหรับการรวบรวมข้อมูลแนวทางการบริโภคอาหารทะเลแก่ผู้บริโภค จะได้เข้าใจวิกฤตและอาหารทะเลปัจจุบัน รวมถึงสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนหันมาบริโภคอาหารทะเลที่ใส่ใจความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ ทะเลไทยเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร แต่ปัจจุบันทะเลกำลังประสบปัญหา เนื่องจากเกิดการประมงเกินขนาด ทำให้ปลามีปริมาณลดลง โดยจากรายงานการประมง เมื่อ 50 ปีก่อน พบว่า สามารถจับสัตว์น้ำในอ่าวไทยได้ 298 กิโลกรัม/ชั่วโมง แต่ในปี 2555 กลับจับสัตว์น้ำได้เพียง 18.2 กิโลกรัม/ชั่วโมง เท่านั้น และในจำนวนนี้เป็นปลาขนาดเล็ก เจริญเติบโตไม่เต็มวัย ร้อยละ 34 ดังนั้น หากยังเพิกเฉยต่อปัญหา อนาคตความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนไม่เหลือให้ลูกหลาน
(ดร.ศศิวิมล สมิตติพัฒน์)
ด้าน ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวถึงรูปธรรมการประมงอย่างรับผิดชอบว่า โครงการได้ประสานความร่วมมือกับประมงพื้นบ้านจำหน่ายสัตว์น้ำปลอดจากสารเคมี ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ต้องทำประมงที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดจากสารเคมี ตรวจสอบที่มาย้อนกลับ และมีแหล่งประมงชัดเจน
โดยที่ผ่านมา กลุ่มเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว เพราะทำได้จะส่งผลกระเทือนหลายด้าน กล่าวคือ ด้านอาหารปลอดภัย กลายเป็นความต้องการของผู้บริโภคในสังคมไทย และจากการเปิดตลาดมา 2 ปี พบการตอบรับที่ดี ด้วยความจริงแล้วอาหารทะเลสดของไทยหายากมาก ขณะที่มีชายฝั่งทะเลยาว แต่คุณภาพกลับไม่ได้มาตรฐาน แม้กระทั่งเชฟโรงแรมห้าดาวยังต้องสั่งวัตถุดิบจากต่างประเทศแทน
“การให้ความสำคัญทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีความรับผิดชอบ รักทะเล และมีตัวตนในสังคม เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มทราบว่า ใครเป็นคนจับ และเราสามารถเล่าเรื่องได้ ผิดกับสมัยก่อนการซื้อปลาในตลาด เราไม่สามารถทราบแหล่งที่มาได้” ผู้จัดการโครงการฯ กล่าว และว่าปัจจุบันห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเริ่มติดป้ายระบุแหล่งที่มาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทอยู่ และอีกอย่างยังสร้างรายได้แก่ชุมชน ไม่มีพ่อค้าคนกลาง ลดขั้นตอนการขนส่งได้
(ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ)
ดร.สุภาภรณ์ ยังกล่าวถึงกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลือง IUU แก่ไทยนั้น ไม่เป็นปัญหาสำหรับประมงพื้นบ้าน แต่จะเป็นปัญหาประมงขนาดใหญ่ เนื่องจากละเลยมานาน กฎหมายหรือนโยบายยังมีปัญหา รวมถึงกรณีไทยถูกปรับลดอันดับอยู่ใน Tier 3 จากรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ จึงเห็นว่า การสั่นกระดิ่งขององค์กรระดับสากลช่วยตรวจสอบไทยกำลังมีปัญหา ดังนั้นต้องหันกลับมาดูและแก้ไข
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ) โดยให้นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัด กษ. กลับมาเป็นอธิบดีกรมประมง อีกครั้งหนึ่ง ผู้จัดการโครงการฯ ระบุว่า อธิบดีเป็นคนมีความรู้ความสามารถ แต่ที่ผ่านมาแก้ปัญหาไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกระแสโลกกดดัน ทำให้อะไรเกิดขึ้นได้ยาก เพราะกลุ่มทุนประมงในไทยใหญ่มาก แต่ปัจจุบันมีแรงส่งจากมาตรการระดับสากล ฉะนั้นกรมประมงจะดำเนินนโยบายเรื่องที่ดีต่อทะเลไทยก็ควรใช้โอกาสนี้ เพราะกลุ่มทุนจะมีเสียงตกลง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กิจกรรม ‘จากเล สู่จาน:A quide to Sustainabli Seafood’ จะจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ -13 กันยายน 2558 ตั้งแต่เวลา 11.00-20.00 น. ณ ณ ชั้น 5 ควอเทียร์ วอเตอร์ การ์เด้นท์ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ โดยมีร้านค้ามากมาย ตลอดจนการสาธิตทำอาหารทะเลจากวัตถุดิบยั่งยืน โดยเชฟชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น เชฟ Dylan Jones ร้าน โบ.ลาน, เชฟน่าน หงส์วิวัฒน์ รายการ City Cook It Yourself และอ้อม พิยดา จุฑารัตนกุล และอื่น ๆ อีกมากมาย
ทั้งนี้ สำหรับผู้สนใจดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ‘จากเล สู่จาน’ ได้ทั้งในระบบ iOS และ Android โดยพิมพ์ ‘จากเลสู่จาน’ ใน App Store หรือ Play Store หรืออ่านรายละเอียดได้ที่ www.greenpeace.or.th/oceans .