- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- นักข่าวบันเทิงระวัง นำภาพดาราจาก IG เเม้ขออนุญาต เเต่อาจผิด กม.อื่น
นักข่าวบันเทิงระวัง นำภาพดาราจาก IG เเม้ขออนุญาต เเต่อาจผิด กม.อื่น
เรียนรู้ กม.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ ย้ำดาวน์โหลด เผยเเพร่ ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ยันวลีสั้น ในเฟซบุ๊ก ไม่ถือเป็นงานลิขสิทธิ์ เตือนนักข่าวบันเทิงนำภาพดาราจากอินสตาเเกรม เเม้ขออนุญาต เเต่อาจผิด กม.อื่น ฐานล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
วันที่ 5 สิงหาคม 2558 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘รู้จักกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่’ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ณ อาคารพินิตประชานาถ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ส่วนใหญ่ประชาชนมักมีข้อกังวลจะสามารถทำซ้ำ ดาวน์โหลด เผยแพร่ งานที่มีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ซึ่งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก หรือช่องทางออนไลน์อื่น ๆ กระทำได้มากน้อยเพียงใด โดยมีข้อควรระวัง ทุกครั้งที่จะใช้งานต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการ ยกเว้น กรณีใช้สิทธิโดยธรรม ซึ่งอนุญาตให้ใช้ในบางกรณี ยกตัวอย่าง ใช้เพื่อการศึกษา ใช้เพื่อส่วนตัว แต่เป็นไปในปริมาณจำกัด และไม่กระทบกระเทือนและขัดต่อการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์
“สมมตินึกสนุกอยากแชร์งานเพลงที่มีลิขสิทธิ์เข้าไปในกลุ่มไลน์ส่วนตัว ซึ่งมีเพื่อนอยู่หลักพันยูสเซอร์ ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์จะได้รับผลกระทบ แทนที่จะขายเพลงนั้นได้ก็ขายไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นข้อโต้แย้งของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะหยิบยกขึ้นมาฟ้องร้องผู้กระทำการ”
รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดให้ยอมความกันได้ หากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ติดใจ แต่ถ้าติดใจก็ดำเนินการฟ้องร้อง อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานว่า งานทุกชิ้นที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะภาพถ่ายล้วนมีลิขสิทธิ์ ฉะนั้นหากใครจะแชร์จำเป็นต้องหาแหล่งที่มาของเจ้าของลิขสิทธิ์กำกับ ส่วนแชร์เพื่อการค้าต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง จะด้วยวิธีทำหนังสือหรืออื่นใด ขึ้นอยู่กับการตกลง
กระนั้น ภาพหรือข้อความที่มีการแชร์กันจะเป็นงานลิขสิทธิ์ย่อมมีเงื่อนไขกำกับพอสมควร ด้วยต้องเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่เห็นถึงความพยายามและความตั้งใจ และมักเป็นงานที่กฎหมายคุ้มครอง หากเป็นวลีหรือข้อความสั้น ๆ ไม่ถือว่าครบองค์ประกอบงานลิขสิทธิ์ ยกตัวอย่าง ข่าว เป็นข้อเท็จจริง ไม่มีลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ถ้าถ่ายทอดผลงานเป็นเรื่องราวก็เข้าข่าย ทั้งนี้ ต้องไม่ลอกเลียนแบบจากใคร
นายทศพล กล่าวเพิ่มเติมถึงการอ้างอิงแหล่งที่มาว่า กฎหมายกำหนดไว้ในบางกรณี อย่างการทำข่าว หากนำภาพข่าวมาเผยแพร่ก็ควรอ้างอิงแหล่งที่มา เพียงแต่ควรทำอย่างจำกัด ส่วนในปริมาณเท่าไหร่ต้องวัดจากผลกระทบกระเทือนต่อเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ศาลจะเป็นผู้พิจารณาเป็นราย ๆ ไป เราไม่สามารถระบุชัดได้
สำหรับข้อกังวลจะแชร์รูปภาพดารานักแสดงในอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊ก ซึ่งตามปกติแล้วเชื่อว่าเจ้าของลงรูปภาพเพื่อให้รับชมเฉย ๆ อีกอย่างใช่ว่าดารานักแสดงคนนั้นจะเป็นเจ้าของภาพดังกล่าว แม้จะมีตัวเองปรากฏอยู่ในภาพก็ตาม เพราะฉะนั้นลิขสิทธิ์จึงเป็นของผู้สร้างสรรค์ผลงานมากกว่า
ส่วนปุ่มกดแชร์ที่โปรแกรมตั้งค่าไว้ ต้องคิดแยกส่วนกันระหว่างเทคโนโลยีกับการอนุญาต เปรียบกับเราทำมีด เมื่อคนนำมีดไปแทงผู้อื่น คนทำมีดไม่ต้องไปรับผิดด้วย ดังนั้น จะแชร์สิ่งใดควรดูความจำเป็น และกลับไปดูว่าเข้าข่ายทำซ้ำ ดัดแปลงหรือไม่
“กรณีผู้สื่อข่ายบันเทิงนำรูปจากอินสตาแกรมลงข่าว แม้จะอ้างอิงแหล่งที่มา แต่ก็ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิส่วนบุคคล หากดารานักแสดงไม่ต้องการให้ภาพนั้นปรากฏในสื่อก็อาจละเมิดกฎหมายอื่นได้ ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ไม่ได้ครอบคลุมถึงสิทธิส่วนบุคคล” รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทิ้งท้าย .
ได้รับการสนับสนุนภาพจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์