- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- วสท.แนะโมเดลแก้ถนนทรุด จ่ายเงินชดเชยหยุดชาวบ้านสูบน้ำริมคลอง
วสท.แนะโมเดลแก้ถนนทรุด จ่ายเงินชดเชยหยุดชาวบ้านสูบน้ำริมคลอง
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แนะ 4 แนวทางแก้ปัญหาถนนทรุดอย่างยั่งยืน พร้อมวอนชาวบ้านที่อยู่ริมคลองอย่าสูบน้ำ ชี้ ทำลายโครงสร้างทางวิศวกรรมและทำให้ตลิ่งชันมากขึ้น
9 มิถุนายน 2558 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) แถลงข่าวสื่อมวลชน วิเคราะห์สาเหตุภัยพิบัติถนนทรุด ณ อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) กล่าวถึงวิกฤติภัยแล้งและผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานและถนน ว่า วิกฤติภัยแล้งได้ส่งผลกระทบทั้งด้านคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่ขาดน้ำสำหรับใช้ทำนาและอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานในบางพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณที่มีตลิ่งสูงชันและถนนที่อยู่เลียบแม่น้ำลำคลอง เกิดการทรุดตัวและพังทลายเสียหายมากในพื้นที่ จ.สระบุรี , พระนครศรีอยุธยา, และ ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคูคลองจำนวนมาก ในขณะที่ชัยนาทมีบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแห้งลง จนเป็นเหตุให้บ้านริมตลิ่งเสียหายและทรุดตัวลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอเมือง และอำเภอมโนรมย์ 13 หลัง
ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่าการวิบัติทางวิศวกรรมโดยทั่วไปมี 4 สาเหตุ คือ1.การออกแบบถูกต้องหรือไม่ 2.การก่อสร้างเป็นไปตามแบบและข้อกำหนดของวิธีปฏิบัติหรือไม่ 3.มีการใช้งานผิดประเภท 4.เกิดจากภัยพิบัติที่ไม่คาดคิด ทั้งนี้ในกรณีถนนเรียบคลองทรุดเสียหายหนักในพื้นที่จ.สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ทางวสท.ได้ส่งทีมสำรวจพบว่าภาวะแล้งที่รุนแรงและยืดเยื้อ น้ำในแม่น้ำคูคลองเหลือน้อยมากทำให้ถนนบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย
“สำหรับสิ่งที่วสท.อยากแนะนำเพิ่มเติม คืออยากให้กรมทางหลวงชนบทเร่งสำรวจถนนที่มีความเสี่ยงว่ามีพื้นที่ใดบ้าง เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลให้ฝ่ายวิศวกรรมลงไปสำรวจและขุดเจาะดินออกมาศึกษาว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ หากเป็นในเรื่องโครงสร้างการสร้างถนนที่ผิดปกติก็ได้แก้ไขให้ถูกวิธี แต่หากเป็นเพราะภาวะภัยแล้งที่ยาวนาน ความลาดชันของตลิ่งจะได้ตอกเสาเข็มยึดไว้ ไม่ใช่แก้โดยไม่รู้สาเหตุแล้วปล่อยให้กลายเป็นยิ่งแก้ยิ่งแย่ ถ้ารู้ข้อมูลที่แท้จริงสามารถใช้ความรู้ทางวิศวกรรมแก้ไขได้”
ด้านรศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อุปนายกและประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมปฐพี วสท. กล่าวว่า ถนนส่วนใหญ่ที่เสียหายเป็นถนนริมคลอง ที่ก่อสร้างมารองรับการขนส่งพืชผลทางการเกษตรเท่านั้น ซึ่งภัยพิบัติของถนนริมคลองเกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปีแล้ว เพียงแต่ปีนี้เกิดมากตามระยะเวลาของความแห้งแล้งที่ยาวนาน ซึ่งจากการตรวจสอบและประมวลการศึกษาวิจัยพบสาเหตุดังนี้
1.ถนนริมคลองส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นดินเหนียวอ่อน มีพื้นที่ดินรากฐานเป็นดินเหนียวอ่อนและหนามากจึงมีโอกาสของการพิบัติมากกว่า
2.คลองชลประทานมีโอกาสเกิดการลดลงของระดับน้ำอย่างรวดเร็ว
3.ฤดูแล้งที่ยาวนานส่งผลต่อการพิบัตของลาดตลิ่งริมคลองเนื่องจากระดับน้ำต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดที่ออกแบบไว้ ไม่มีน้ำมาพยุงตลิ่ง เกิดการกัดเซาะของลาดตลิ่งที่ทำให้ตลิ่งชัน ที่สำคัญที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือการสูบน้ำของเกษตรกรโดยการขุดลาดตลิ่งให้ชันหรือเป็นหลุม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางวิศวกรรม
ดังนั้นทางวสท.จึงเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปพิจารณาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต ดังนี้
1.ตั้งคณะกรรมการกลางในการแก้ไขปัญหามาทำงานร่วมกัน ทั้งกรมทางหลวงชนบท หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งวสท.ยินดีเป็นเจ้าภาพในการทำงาน
2.ทบทวนระดับความสำคัญของถนนให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริง เพื่อที่จะได้ทำการปรับปรุงทางวิศวกรรมให้เหมาะสมต่อไป เช่นปรับสภาพฐานรากเดิมของถนนให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
3.สำรวจชั้นดินฐานรากให้มีความครอบคลุมเพราะมีความสำคัญมากในการก่อสร้างถนนริมคลองในพื้นที่ดินอ่อน แต่อย่างไรก็ตามการเจาะสำรวจอย่างเดียวอาจไม่สามารถครอบคลุมได้ จึงอาจพิจารณาใช้การสำรวจทางฟิสิกส์ควบคู่ไปด้วย
4.ถนนบางสายอาจจะออกแบบให้ใช้ประโยชน์ให้การป้องกันน้ำท่วมควบคู่ไปกับการใช้เป็นถนนเพื่อการจราจร และถนนเหล่านี้ควรถูกยกระดับความสำคัญให้มากและควรมีงบประมาณที่เพียงพอในการดำเนินการให้ปลอดภัย
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้อยากเสนอโมเดลในการแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อลดการพิบัติของถนนริมคลอง โดยการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นในการเพาะปลูกพืช เนื่องจากยิ่งชาวบ้านยิ่งสูบน้ำออกไปจากคลองยิ่งเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางวิศวกรรมและส่งผลให้พื้นที่บริเวณนั้นมีการพิบัติเพิ่มมากขึ้น หากเป็นไปได้ก็จะสามารถหยุดการขยายความพิบัติลงไปได้ส่วนหนึ่ง
“แค่อยากจะลองโยนโมเดลนี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลองเก็บไปคิดดู เพราะสามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ ถ้ามีใครจะศึกษาและดูความเป็นไปได้ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ก็อาจจะมีบางพื้นที่ที่ทำได้และทำไม่ได้ อาจจะต้องไปดูรายละเอียดและทิศทางอีกครั้ง”