- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- โรงไฟฟ้ากระบี่เป็นปัญหาใต้! ภาคประชาสังคมเชื่อรัฐสร้างรองรับอุตฯ ขนาดใหญ่
โรงไฟฟ้ากระบี่เป็นปัญหาใต้! ภาคประชาสังคมเชื่อรัฐสร้างรองรับอุตฯ ขนาดใหญ่
เวทีขึงพืดพัฒนาภาคใต้เผยเปิดประมูล ‘โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่’ พยายามให้เกิดความคืบหน้า หวั่นสร้างภาระผูกพันหยุดโครงการไม่ได้ ‘เครือข่ายปกป้องอันดามัน’ รณรงค์ชวนคน กทม.ร่วมต้าน ที่สวนลุมฯ ด้านนักวิชาการเชื่อ รบ.ยังเดินหน้าต่อ ฟังเสียง ขรก.มากเกินไป
วันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จัดเสวนา ‘ขึงพืดการพัฒนาภาคใต้ ประเคนทรัพยากรละเลงลงทุน’ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งจะมีการประมูลในวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ว่า ที่ผ่านมามีความพยายามทำให้โครงการเกิดความคืบหน้า ยกตัวอย่าง การเร่งขุดประปาให้คนในพื้นที่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจ หรือการอ้างถึงกองทุนโรงไฟฟ้า หากก่อสร้างสำเร็จจะมีมูลค่าถึง 2 พันล้านบาท แต่ผู้ได้รับผลประโยชน์เป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น กระทั่งล่าสุด จะทำให้เกิดภาระผูกพันด้วยการประมูล จนไม่สามารถหยุดดำเนินโครงการได้ ซึ่งความจริงไม่จำเป็นเลย
ส่วนข้อมูลระบุว่าปริมาณไฟฟ้าในภาคใต้ไม่เพียงพอนั้น ผู้แทนเครือข่ายปกป้องอันดามันฯ กล่าวว่า กฟผ.รายงานปี 2557 มีกำลังไฟฟ้าพร้อมใช้ 3,800 เมกกะวัตต์ ใช้ไฟฟ้าสูงสุด 2,400 เมกกะวัตต์ ในวันที่ 24 เมษายน 2557 จึงเหลือไฟฟ้าใช้อีก 1,400 เมกกะวัตต์ ฉะนั้นการอ้างว่าภาคใต้ประสบวิกฤตพลังงานจึงไม่จริง และเห็นได้ว่า โครงการนี้มุ่งเพิ่มปริมาณไฟฟ้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนภาคใต้ให้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากกว่า
“แม้โครงการนิคมอุตฯ จะถูกปิดอำพรางให้ตั้งกระจายในแต่ละจังหวัด และมีการเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมหมดแล้ว เพราะฉะนั้นน่ากังวลว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ คงไม่ใช่ปัญหาของคนกระบี่เท่านั้น แต่เป็นจิ๊กซอว์หนึ่งในการเปลี่ยนภาคใต้จากแหล่งความมั่นคงทางอาหารและการท่องเที่ยวอย่างสิ้นเชิง” นายธีรพจน์ กล่าว
ด้านนายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนพัฒนาเมืองเทพา จ.สงขลา กล่าวถึงการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 (ค.3) ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา น่าจะมีบรรยากาศคล้ายคลึงกับ ค.1 และค.2 คือ มีกำลังทหารจำนวนมาก และกังวลจะได้แสดงความคิดเห็นคนละ 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเวลาน้อยมาก อย่างไรก็ตาม อยากให้ยกเลิกการจัดเวทีครั้งนี้ออกไป ถ้าคนไทยเห็นว่า โครงการไม่มีความชอบธรรมตามหลักการมีส่วนร่วมและปฏิรูปประเทศ เพราะมีความบกพร่องทางวิชาการหลายด้านที่ยอมรับไม่ได้ และหากปล่อยให้ดำเนินโครงการต่อไปจะถือเป็นตราบาปให้ประเทศ
นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการกลุ่มจับตาพลังงาน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2550 ไทยพยายามดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมควรตั้งในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย ทำให้ช่วงแรกมีนโยบายจัดตั้งที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.ปะทิว อ.ละแม จ.ชุมพร และอ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช แต่ถูกชาวบ้านคัดค้าน จนต้องมาตั้งฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ แทน เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าเดิมอยู่แล้ว และขณะนี้กำลังมีความคืบหน้ามากที่สุด
“ภาคใต้ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่และเทพา จ.สงขลา อย่างน้อยในช่วง 10 ปีนี้ และกังวลว่า การเซ็นสัญญากับบริษัทก่อสร้างที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นภาระผูกพันต่อการดำเนินโครงการได้” นักวิชาการกลุ่มจับตาพลังงาน กล่าว และว่า เลิกอ้างภาคใต้มีปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอ เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะสาเหตุดังกล่าว แต่เกิดจากการบริหารงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กฟผ. และปตท. ขาดประสิทธิภาพมากกว่า
ขณะที่ดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลต่อการพัฒนาภาคใต้ว่า รัฐบาลปัจจุบันกำลังรุกหนัก มักฟังเสียงข้าราชการประจำ และได้รับอิทธิพลจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรมอีกต่อหนึ่ง ประกอบกับการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีค่อนข้างชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เตรียมผลักดันโครงการแน่นอน ทั้งนี้ หากรัฐบาลอยู่ในวาระเกิน 2 ปี มีโอกาสเกิดนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ในบางพื้นที่ โดยใช้มาตรา 44 หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จ
รัฐบาลจึงเข้ามาบริหารประเทศเพื่อปลดล๊อกอุตสาหกรรม กล่าวคือ ทำให้อุตสาหกรรมทั้งหมดเป็น One Stop Service ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะกฎหมายที่ผ่านมาไม่ใช่กฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจสิทธิชุมชนในการกำหนดอนาคตชีวิตตัวเองด้วย
นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าวอีกว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยศึกษาวิจัยโครงการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ปี 2555-56 ในรัฐบาลปกติ พบโครงการส่วนใหญ่ละเมิดสิทธิชุมชน โดยเฉพาะสิทธิในการตัดสินใจและกำหนดอนาคตตนเอง รวมถึงสิทธิในการพัฒนาและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติด้วย จึงไม่อยากฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชนเลย ดังนั้นต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 27-28 กรกฎาคม 2558 กฟผ.จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 (ค.3) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา และท่าเรือน้ำลึก ณ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา
ขณะที่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจัดกิจกรรมเชิญชวนคนกรุงเทพฯ ร่วมรณรงค์ ณ สวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 16.00-20.00 น. จนกว่ารัฐบาลจะประกาศยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ .