- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- นักวิจัยหอการค้า ชี้ ร่างพ.ร.บ.ยาสูบลิดรอนสิทธิเสรีภาพของปชช.
นักวิจัยหอการค้า ชี้ ร่างพ.ร.บ.ยาสูบลิดรอนสิทธิเสรีภาพของปชช.
นักวิจัยหอการค้าไทยเผยผลวิจัย พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์ยาสูบมีการจำกัดสิทธิ์เกินความจำเป็น แนะกฤษฎีกา สนช.ทบทวนแก้ไข หวั่นเกิดปัญหาในอนาคต วอนยกเลิกม.38 การไม่แบ่งขายยาสูบ ระบุเป็นการจำกัดปชช.ให้ซื้อเป็นซองเท่านั้น
25 มิ.ย. 2558 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย อาคาร 5 ชั้น 2 จัดงานแถลงข่าว “ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ คุ้มครองสุขภาพหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ” โดยสถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล (APaR) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม หัวหน้าโครงการวิจัย สถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและกำกับดูแล และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลการวิจัยว่า ร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมีประเด็นบกพร่องเกี่ยวกับทางกฎหมายหลายประการ รวมทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงพาณิชย์และสิทธิเสรีภาพ โดยทางสถาบันฯ เสนอให้มีการพิจารณาและทบทวนแก้ไขร่างกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสุขภาพประชาชนกับเสรีภาพของผู้ประกอบการ
“กฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องที่พิจารณายากแต่ก็ควรที่จะปรับปรุงแก้ไข และกฎหมายฉบับนี้สามารถออกเป็นกฎหมายผลิตภัณฑ์ยาสูบได้ แต่ต้องไม่กระทบต่อหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศ และไม่จำกัดหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถ้าแก้ไขได้ก็สมควรแก้ เพื่อให้เป็นกฎหมายที่มีความสมดุลและ เป็นกฎหมายที่ดีต่อไป”
ด้านนางสาวปวินี ไพรทองอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าในพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ถูกลิดรอนเกินความจำเป็น “หลักความได้สัดส่วน” ตามมาตรา 29 โดยมีการบัญญัติสิทธิเสรีภาพต้องกำหนดไว้เท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ อาทิ มาตรา 37 การใช้มาตรการซองเรียบ (Plain Packaging) จึงเป็นการจำกัดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของอย่างหนึ่งในการประกอบอาชีพ และในเรื่องของการที่ประเทศไทยได้เป็นภาคี กับ TRIPS Agreement ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงสาธารณะสุขมีการบัญญัติในส่วนของ คำเตือน ภาพ ที่ต้องแสดงถึงโทษและคำเตือนไว้ 2 อย่าง คือพื้นที่ด้านข้างร้อยละ 60 และพื้นที่ด้านหน้าด้านหลังพื้นที่ร้อยละ 85 จึงเห็นว่าปัจจุบันพื้นที่เครื่องหมายการค้าอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดมาก เครื่องหมายการค้าไม่เป็นผลต่อการโฆษณาเพราะไม่มีความดึงดูดความสนใจต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว จึงเสนอให้ทบทวนในเรื่องนี้
นางสาวปวินี กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังขัดต่อกรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (FCTC) ต้องเป็นไปตามหลักการของกฎหมายภายในประเทศภาคีสมาชิก การร่างกฎหมายจึงต้องคำนึงถึงรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการเข้มงวดเกินกว่าที่วางไว้ ซึ่งยังมีการใช้ถ้อยคำที่กว้างและยังคลุมเครือ เช่น ในเรื่องของ “การสื่อสารการตลาด” ก่อให้เกิดความสับสนทางด้านของการปฏิบัติ ว่าตกลงแล้วเป็นการสื่อสารการตลาดกับใคร ระหว่างผู้ผลิตหรือผู้ค้าส่ง หรือระหว่างใครกับใคร นักวิจัยคิดว่า ควรมีการจำกัดในคำนิยามนี้ให้ชัดเจนกว่านี้ และควรเน้นในเรื่องของการจำกัดในตัวเยาวชนและผู้บริโภคเท่านั้น และในเรื่องของ “ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ” มีการบอกไม่ชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใด เพราะคำนิยามนี้มีความกว้าง ในเรื่องของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีทั้ง ผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง โชห่วย ฯลฯ ซึ่งอาจจะก่อปัญหาในอนาคตได้
“มาตรา 38 อาจก่อให้เกิดเป็นดาบสองคม ในเรื่องของการไม่แบ่งขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในข้อดีนั้นเห็นว่าการไม่แบ่งขายนั้นเป็นการสกัดกั้นการซื้อบุหรี่ได้ยากขึ้น เนื่องจากเยาวชนมีเงินน้อยจึงต้องใช้วิธีการแบ่งซื้อ แต่อีกด้านที่เป็นผลเสียคือ การที่ผู้ที่กำลังจะเลิกสูบบุหรี่ หรือด้านของผู้ที่มีรายได้น้อย แต่กลับต้องถูกจำกัดให้ซื้อเป็นซองเท่านั้น ดังนั้นจึงมองได้สองด้านสองมิติ จึงอยากให้พิจารณายกเลิก”
อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ ยังกล่าวอีกว่า ขอให้ผู้ร่างกฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาสร้างความสมดุลระหว่างความคุ้มครองระหว่างสุขภาพของประชาชน และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพให้เป็นไปอย่างจำเป็นเท่าที่นำไปสู่วัตถุประสงค์ ไม่ควรลิดรอนอย่างเกินความจำเป็น และกว้างเกินไป