- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ส.โรงแรม ร่วมรณรงค์ลดหวาน ทุกการประชุม ดีเดย์ 2 เดือน พร้อมเสิร์ฟน้ำตาล 4 กรัม/ซอง
ส.โรงแรม ร่วมรณรงค์ลดหวาน ทุกการประชุม ดีเดย์ 2 เดือน พร้อมเสิร์ฟน้ำตาล 4 กรัม/ซอง
สธ.ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์โรงแรมลดปริมาณน้ำตาลเหลือ 4 กรัม/ซอง หวังลดบริโภคหวาน ต้านกลุ่มโรคเอ็นซีดี รองอธิบดีกรมอนามัยเผย 8 มิ.ย. 58 ‘นพ.รัชตะ’ จัดแถลงใหญ่ ด้านผู้ประกอบการโรงแรมเห็นด้วย แต่ขอเวลาปรับตัวมากกว่า 2 เดือน เหตุเกี่ยวต้นทุนผลิต
วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และมูลนิธิทันตสาธารณสุข จัดประชุม เรื่อง การจัดอาหารว่างและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ (Healthy Meeting) ภายใต้โครงการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านอาหารว่างและเครื่องดื่มอ่อนหวานสำหรับคนไทย โดยมีผู้แทนจากโรงแรมต่าง ๆ เข้าร่วมหารือ ณ โรงแรมไมด้า ซิตี้ รีสอร์ท กรุงเทพฯ
โดยในที่ประชุมเห็นด้วยให้โรงแรมจัดหาน้ำตาลปริมาณ 4 กรัม/ซอง แก่ผู้บริโภค แต่ควรให้เวลาปรับตัวมากกว่า 2 เดือน ตามที่เสนอ เพราะเกี่ยวกับต้นทุนการผลิต พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชาสัมพันธ์โครงการทุกรูปแบบให้กลายเป็นวาระสำคัญของประเทศ และสนับสนุนให้มีมุมสุขภาพในพื้นที่โรงแรม เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าด้วย
ทพ.สุธา เจียมมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การรณรงค์ลดบริโภคน้ำตาลเป็นนโยบายของ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม ด้วยปัจจุบันมีอัตราการบริโภคมากขึ้น ส่งผลให้กลายเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (Non-Communicable diseases:NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ มะเร็ง เป็นต้น คร่าชีวิต โดยพบประชาชนภาคตะวันออกและภาคใต้บริโภคมากสุด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโรงแรมถูกกฎหมายในประเทศราว 8,000 แห่ง เป็นสมาชิกสมาคมโรงแรมไทยร้อยละ 10 ซึ่งให้บริการ 3 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย เชื่อว่า หากร่วมมือรณรงค์จะเป็นช่องทางส่งเสริมลดบริโภคน้ำตาลได้ และมองไปถึงการจัดอาหารว่างระหว่างการประชุมที่ให้ปริมาณเพียงพอด้วย
รองอธิบดีกรมอนามัย ยังกล่าวว่า วันที่ 8 มิถุนายน 2558 นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นประธานในการแถลงข่าวการรณรงค์เรื่องดังกล่าว ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งเบื้องต้นท่านต้องการให้โรงแรมทุกแห่งใช้น้ำตาลในการประชุมปริมาณ 4 กรัม/ซอง
ด้านนายสุจินต์ เจียรจิตเลิศ เลขาธิการสมาคมโรงแรมไทย กล่าวเห็นด้วยกับแนวคิดให้โรงแรมใช้ผลิตภัณฑ์น้ำตาลปริมาณ 4 กรัม/ซอง เพราะช่วยลดการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ซึ่งสมาคมโรงแรมไทยพร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ
ส่วนปัจจุบันคนไทยไม่ลดปริมาณน้ำตาลในกาแฟ เลขาฯ สมาคมโรงเเรมไทย ระบุว่า เนื่องจากคนไทยไม่ดื่มกาแฟเพื่อลิ้มรสเหมือนต่างประเทศ แต่ดื่มด้วยค่านิยมหรือสิ่งที่เสิร์ฟ และใส่น้ำตาลปริมาณมาก เพราะกลัวขม
ทั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่กระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาให้โรงแรมตั้งซองน้ำตาลขนาด 4 กรัม คู่กับ 6 หรือ 8 กรัม เพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคที่ต้องการน้ำตาลปริมาณมาก
ขณะที่ภญ.กมลรัตน์ นุตยกุล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยผลสำรวจผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายบรรจุซองที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ พบมีผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายบรรจุซองทั้งหมด 17 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ร้อยละ 82 มีขนาดบรรจุ 8 กรัม ในซองกระดาษแบบยาว
ส่วนการสำรวจใช้ปริมาณการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายบรรจุซองของกลุ่มธุรกิจโรงแรม มีโรงแรมตอบแบบสอบถามกลับมา 36 แห่ง จาก 200 แห่ง พบค่าใช้จ่ายของน้ำตาลทรายบรรจุซองเฉลี่ย 1-5 หมื่นบาท/ปี นิยมใช้น้ำตาลขนาด 8 กรัม ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการกำหนดขนาด 4 กรัม/ซอง เนื่องจากลดการบริโภคและประหยัด
ผู้แทน อย. กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล ส่วนใหญ่มีการผลิตขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า และไม่เห็นด้วยกับการกำหนดขนาดบรรจุภัณฑ์ของน้ำตาลทรายบรรจุซองเท่ากับ 4 กรัม/ซอง เนื่องจากปริมาณ 4 กรัม ไม่เพียงพอต่อความต้องการและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินงานในปี 2558 ภายใต้ความร่วมมือของ สสส. อย. และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ภญ.กมลรัตน์ ระบุว่า ได้จัดทำแนวทางการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์น้ำตาลตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ เรียบร้อยแล้ว
โดยกำหนดให้น้ำตาลซองบรรจุต้องมีฉลากผลิตภัณฑ์ ชื่ออาหาร ควรบริโภคก่อน น้ำหนักสุทธิ และสถานที่ผลิต อีกทั้ง จัดประชุมชี้แจงผู้ประกอบการ ขอความร่วมมือให้ผลิตน้ำตาลซองปริมาณ 4 กรัม/ซอง พร้อมประชาสัมพันธ์ รณรงค์ต่อไป
“ถ้าลดปริมาณน้ำตาลจาก 6 กรัม/ซอง เหลือ 4 กรัม/ซอง นอกจากลดการเกิดโรคต่าง ๆ แล้ว ยังลดการสูญเสียผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ 174.2 ล้านบาท/ปี” ผู้แทน อย. กล่าว .