- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ผู้บริหารกรุงเทพโปรดิ๊วสยันไม่รับซื้อผลผลิตทุกชนิดจากแหล่งไม่ถูกต้อง
ผู้บริหารกรุงเทพโปรดิ๊วสยันไม่รับซื้อผลผลิตทุกชนิดจากแหล่งไม่ถูกต้อง
กรุงเทพโปรดิ๊วส จับมือ ส.ป.ก.พัฒนาเกษตรกรปลูกข้าวโพดยั่งยืน หวังลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม นำร่อง 8 จว. ครอบคลุม 4.5 หมื่นไร่ ในปี 2560 เลขาฯ ส.ป.ก. ชี้ปัญหาหมอกควันไม่เกี่ยว บ.เอกชนรับซื้อผลผลิต วอนทุกฝ่ายให้ความเป็นธรรม เผย ‘เบทาโกร’ เล็งวิจัยหาพืชชนิดใหม่ทำอาหารสัตว์ทดแทน
วันที่ 2 เมษายน 2558 บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) จัดทำบันทึกข้อตกลงกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ภายใต้ความร่วมมือด้านการอบรมพัฒนาเกษตรกร โครงการ ‘เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน’ ณ สำนักงาน ส.ป.ก.
โดยปี 2558 โครงการดังกล่าวกำหนดพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เลย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. ครอบคลุม 4.5 หมื่นไร่ ภายใน 3 ปี และตั้งเป้าหมายมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2 หมื่นคน ครอบคลุมพื้นที่ 2.25 แสนไร่ ภายในปี 2562
นายสมชาย กังสมุทร กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงรายละเอียดโครงการว่า ต้องการให้เกษตรกรมีความรู้ในการเพาะปลูกข้าวโพดอย่างถูกต้อง รู้จักการวิเคราะห์ดินด้วยตัวเอง และใส่ปุ๋ยให้เหมาะกับดิน ทำให้ได้รับผลผลิตต่อไร่สูง ต้นทุนต่อหน่วยลดลง รายได้สูงขึ้นจากคุณภาพผลผลิตที่ดี อีกทั้ง สามารถผลิตข้าวโพดตรงตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ลดปัญหาสุขภาพจากสารเคมี และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการเพาะปลูก เช่น การเผาตอซัง การบุกรุกป่า การเผาในพื้นที่หวงห้าม เป็นต้น
สำหรับปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือที่เกิดขึ้นทุกปี ผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด ระบุว่า หน่วยงานจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ไม่มีนโยบายสนับสนุนการนำเมล็ดพันธุ์เพราะปลูกในพื้นที่ไม่ถูกต้อง โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขแก่ผู้แทนจัดจำหน่าย หากพบรายใดนำสินค้าของบริษัทจำหน่ายเพื่อปลูกในพื้นที่ไม่ถูกต้องจะสั่งยกเลิกสัญญาทันที
“เรายืนยันไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากแหล่งผลิตไม่ถูกต้อง ไม่เฉพาะข้าวโพดเท่านั้น แต่หมายถึงผลผลิตทุกชนิด” นายสมชาย กล่าว และว่า ยินดีเป็นผู้นำในการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นที่จากการเพาะปลูกข้าวโพด
ผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด ยังกล่าวถึงเกษตรกรบางกลุ่มไม่เห็นความสำคัญของตอซัง โดยเข้าใจว่า ต้องเผาทิ้งเท่านั้น ทั้งที่สามารถไถกลบเพิ่มคุณค่าให้ดินได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดก็ตาม แม้ดูเหมือนทำให้ต้นทุนสูง แต่ได้เสริมอาหารให้แก่ดินแล้ว การใส่ปุ๋ยจะมีปริมาณลดลง ช่วยลดต้นทุนโดยภาพรวม
ส่วนข้อกังวลไถกลบในพื้นที่ราบสูงลำบาก นายสมชาย กล่าวว่า อนาคตต้องทบทวนมาตรการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวโพดให้อยู่ในพื้นที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเพาะปลูกทุกพื้นที่ และแม้จะเป็นพื้นที่ราบสูงก็มีวิธีอื่นในการเตรียมพื้นที่โดยไม่ต้องเผาตอซัง ซึ่งนักวิชาการหลายคนมีข้อมูลเหล่านี้
ด้านนายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับบริษัทเอกชนเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผา อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อหรือไม่รับซื้อผลผลิต แต่สาเหตุเกิดจากการเผาช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร หากใช้วิธีตัด ไถ รวม เผา ต้องใช้ต้นทุนสูง ซึ่งอาจเป็นความเห็นแก่ตัวของเกษตรกร ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาต้องค่อย ๆ ฝึก และบังคับกฎหมายเด็ดขาด โดยไม่ต้องใช้มาตรการทางการเงินการคลังช่วย เเต่ควรใช้มาตรการเลิกเผาอย่างเดียว
“กลุ่มบริษัทเครือเบทาโกรมีแนวคิดศึกษาวิจัยพืชชนิดใหม่มาทำอาหารเลี้ยงสัตว์แทนข้าวโพดที่มีต้นทุนสูง แต่ได้รับผลผลิตน้อย” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว และว่าปัจจุบันเรานำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าไทย และเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วยิ่งต้องเพิ่มคุณภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุนและแข่งขันได้
นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า ไทยกำลังประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพราะในอดีตรัฐส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชได้ตามใจชอบ โดยขาดการดูแลตลาด ทำให้มีผลผลิตล้นตลาด จึงต้องปรับโครงสร้างการผลิต พืชชนิดใดมีมากก็ลด พืชชนิดใดมีน้อยก็เพิ่ม เช่นเดียวกับข้าวโพดควรส่งเสริมมากน้อยเพียงใด แต่ไม่ใช่ส่งเสริมทั้งประเทศ .