- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- สุ่มตรวจ 10 ชนิดผักยอดฮิต พบ 'กะเพรา' มีสารพิษตกค้างมากสุด 62.5%
สุ่มตรวจ 10 ชนิดผักยอดฮิต พบ 'กะเพรา' มีสารพิษตกค้างมากสุด 62.5%
Thai-PAN เผยผลเฝ้าระวังตรวจสารเคมีตกค้างในผัก 10 ชนิด พบภาพรวมเกินมาตรฐาน 25% กะเพรามากสุด 62.5% ผักกาดขาวปลี-กะหล่ำปลี ไม่พบเลย
วันที่ 26 มีนาคม 2558 ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประจำปี 2558
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผัก โดยเก็บตัวอย่างผักผลไม้ที่คนไทยนิยมบริโภคมากที่สุด 10 ชนิด ประกอบด้วย คะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ พริกแดง กะเพรา กวางตุ้ง และผักบุ้งจีน จากห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรด (เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี แมคโคร) และผักที่มีตราเครื่องหมาย Q รับรอง
นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างผักผลไม้จากตลาดสดจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ตลาดไท ปากคลองตลาด สี่มุมเมือง และตลาดบางใหญ่ พบว่า โดยภาพรวมมีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน (ค่า MRL) ของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 25%
"ผักที่พบการปนเปื้อนมากที่สุด คือ กะเพรา มีสารพิษเกินมาตรฐานถึง 62.5% รองลงมา คือ ถั่วฝักยาว และคะน้า 32.5%" ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าว เเละว่า ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะ พบสารพิษเกินค่ามาตรฐาน 25% แตงกวา และพริกแดง 12.5%
ส่วนผักกาดขาว และกะหล่ำปลีไม่พบการตกค้างเลย
นางสาวปรกชล กล่าวต่อว่า ผลการตรวจในปีนี้ตัวอย่างจากห้างโมเดิร์นเทรด เเละมาตรฐาน Q มีการตกค้างเกินมาตรฐานเฉลี่ยเพียง 20% น้อยกว่าปี 2557 ที่สูงถึง 53.33% ขณะที่ตลาดสดกลับพบว่ามีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานเฉลี่ย 30%
ส่วน ตลาดบางใหญ่พบตัวอย่างผักที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 40% ขณะที่ผักที่ปากคลองตลาดมีสารตกค้างเฉลี่ย 20% เท่า ๆ กับโมเดิร์นเทรด
“การที่ภาคสังคมได้รวมตัวกันเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้โดยได้เผยแพร่ผลการตรวจ และได้รับความร่วมมือจากสมาคมค้าปลีกและสมาคมตลาดสดไทย ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมวิชาการเกษตร โดยได้ประชุมกันหลายครั้งในปีที่ผ่านมา ทำให้มีการแก้ปัญหานี้ในระดับหนึ่ง แต่ในฐานะผู้บริโภคเราคิดว่าตัวเลขการตกค้างของสารพิษในระดับ 25% ยังเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป”นางสาวปรกชลกล่าว
ด้านนายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะนัดหมายผู้ประกอบการทั้งสมาคมค้าปลีกไทย สมาคมตลาดสดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)เพื่อหารือการแก้ปัญหาร่วมกัน
"ครั้งนี้จะมีการหยิบยกมาตรการทางกฎหมายมาดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้กระทำความผิดซ้ำซาก เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้มีโอกาสบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย ไม่ตายผ่อนส่งเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"
ผู้ประสานงานโครงการฯ มีข้อเสนอด้วยว่า ควรพัฒนาระบบการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในอาหาร ส่วนการแก้ปัญหาจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีมาตรการที่ชัดเจน เเละหน่วยงานภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางอาหาร ทั้งในกรณีที่พบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่3)พ.ศ.2551