- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ศาลปค.สูงสุดให้กฟผ. ติดตั้งม่านน้ำ อพยพคนพ้นรัศมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะภายใน 3 เดือน
ศาลปค.สูงสุดให้กฟผ. ติดตั้งม่านน้ำ อพยพคนพ้นรัศมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะภายใน 3 เดือน
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาสั่ง กฟผ. แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ทั้งติดตั้งม่านน้ำ อพยพคนออกจากพื้นที่นอกรัศมีผลกระทบ ๕ กม. ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิม ปลูกป่าทดแทนพื้นที่สนามกอล์ฟ ปลายเดือนลุ้นอีกคดีชาวบ้านแม่เมาะะฟ้องโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ให้จ่ายค่าชดเชย
วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ศาลปกครองเชียงใหม่ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ. ๑๖-๓๑/๒๕๕๓ หมายเลขแดงที่ อ. ๗๔๙-๗๖๔/๒๕๕๗ ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวกรวม ๓๑๘ คน (ผู้ฟ้องคดี) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๑ คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๖ สำนวน ๓๑๘ คน ฟ้องมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหิน ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ละเลยมิได้ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองแร่ แผนผังโครงการ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตรหลายประการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ (อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ก่อให้เกิดมลพิษและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับอันตรายต่อชีวิต สุขภาพอนามัย และทรัพย์สินเสียหาย
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ (อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ (อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำเหมืองแร่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ (กรมควบคุมมลพิษ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ (อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ) ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการควบคุมมลพิษรวมทั้งเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ยุติหรือระงับการก่อเหตุรำคาญ
ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๖ สำนวนมีคำขอให้ (๑) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง ๑๑ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย (๒) ให้เพิกถอนประทานบัตรของ กฟผ. (๓) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๑ แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับฟื้นคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม รวมทั้งให้ กฟผ.หยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษ และให้กรมควบคุมมลพิษ และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เรียกค่าเสียหายจาก กฟผ. และ(๔) ให้กฟผ.ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีพร้อมด้วยดอกเบี้ย
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ กฟผ. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้
๑) ให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว ๘๐๐ เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้
๒) ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ ๕ กิโลเมตร
๓) ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่กฟผ.นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ
๔) ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุกๆ ๑๘ เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน wetland
๕) ให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker ในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด
ส่วนกรณีมาตรการฯ รายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) นั้น กฟผ.ได้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) เสนอต่อ สผ.แล้ว จึงไม่จำต้องออกคำบังคับให้ กฟผ. ดำเนินการตามมาตรการข้อนี้ และให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของกฟผ. ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ หาก กฟผ. ไม่ปฏิบัติตาม ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๓๘ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกฟผ.ดำเนินการตามคำพิพากษา ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับคดีชาวบ้านแม่เมาะะฟ้องโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ให้จ่ายค่าชดเชยชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าฯ ลุ้นกันอีกทีวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์นี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้ามีคำพิพากษา นางมะลิววรรณ นาควิโรจน์ ผู้ฟ้องคดี โพสต์ข้อความในเฟชบุคส่วนตัว ต่อกรณีดังกล่าวว่า “เรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว แต่อนาคตจะต้องอยู่ร่วมกันต่อไป อยากให้ กฟผ.เข้าไปหาชาวบ้าน และช่วยเหลือด้วยความจริงจัง และจริงใจ ซึ่งชาวบ้านก็พร้อมที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน”
ที่มา:https://www.facebook.com/suriyan.tonghnueid?pnref=story