- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- อธิบดีกพร. ยันพร้อมเปิดชื่อชาวบ้านเหยื่อพิษเหมืองทองพิจิตร ต่อสาธารณะ
อธิบดีกพร. ยันพร้อมเปิดชื่อชาวบ้านเหยื่อพิษเหมืองทองพิจิตร ต่อสาธารณะ
ชาวบ้านเหมืองทอง จ.พิจิตร จี้เปิด 250 รายชื่อ ผู้ได้รับกระทบ ด้านอธิบดี กพร.เผยให้เวลาบ.อัคราฯ 30 วัน ยันพร้อมเปิดเผยต่อสาธารณะ
สืบเนื่องจากชาวบ้าน จ.พิจิตร ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึงนายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยหนึ่งในข้อเรียกร้อง ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายชื่อประชาชนผู้ป่วยจำนวน 250 คน ที่อธิบดี กพร.มีคำสั่งให้บริษัทฯ นำไปรักษา เพื่อขอให้ทราบในการดำเนินการนั้น
นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กรณีชาวบ้าน 250 คน อ้างว่า สุ่มตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกาย อันเนื่องจากการประกอบกิจการโลหกรรมของบริษัทฯ นั้น และเรียกร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลรายชื่อชาวบ้าน เพื่อให้บริษัทฯ นำไปรักษา ตามคำสั่ง กพร.เพื่อให้ทราบการดำเนินการนั้น ขณะนี้บริษัทฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล ก่อนจะเปิดเผยต่อสาธารณะภายใน 30 วัน และหลังจากนั้นก็จะสั่งให้จัดเวทีสาธารณะในพื้นที่ต่อไป
“รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) ระบุเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการว่า หากการดำเนินกิจการตรวจสอบพบผู้ป่วยมีสารปนเปื้อนในร่างกายจะต้องรับตัวไปดำเนินการทางสาธารณสุขทันที ดังนั้น กพร.จึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ เร่งหาสาเหตุการปนเปื้อนดังกล่าว”
สำหรับกรณีเตรียมของบประมาณจากกองทุนประกันความเสี่ยง อธิบดี กพร. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันความเสี่ยงได้อนุมัติเงิน 4 ล้านบาท ให้แก่จังหวัดพิจิตร เพื่อนำไปใช้ในการตรวจเลือดในพื้นที่เสี่ยงตามหลักวิชาการ โดยอาจร่วมมือกับพญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และนักวิชาการ ม.รังสิต ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของจังหวัด
ด้านน.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ กล่าวไม่เห็นด้วย หาก กพร.จะให้ระยะเวลาแก่บริษัทฯ นานถึง 30 วัน ที่จะเปิดเผยข้อมูลรายชื่อชาวบ้าน 250 คน เพราะสิ่งที่ร้องขอเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของราชการ
ส่วนเงินกองทุนประกันความเสี่ยง 4 ล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัตินั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่ากำลังเกิดปัญหา เพราะการใช้จ่ายเงินดังกล่าวต้องเป็นไปตามระเบียบส่วนราชการ กำหนดไม่ให้เบิกเงินย้อนหลัง ทำให้ไม่สามารถเบิกเงินจากกองทุนใช้จ่ายในการตรวจเลือดที่ผ่านมาได้ ดังนั้นชาวบ้านจะต้องเข้าไปเจรจากับอธิบดี กพร.อีกครั้ง ว่าจะมีหลักปฏิบัติอย่างไร
น.ส.สื่อกัญญา ยังกล่าวถึงการลงพื้นที่ของนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า ท่านรับปากจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมระดับกระทรวงเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาต่อไปในวันที่ 28 มกราคม 2558
ส่วนสถานการณ์ในวันนี้ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ ได้เชิญชวนให้ชาวบ้านเข้าไปตรวจสารปนเปื้อนในร่างกายของเหมือง ซึ่งมีหลายคนเข้ามาสอบถามว่า พญ.คุณหญิง พรทิพย์ จะมาตรวจเองหรือไม่ เราจึงบอกไปว่าไม่ได้มา ซึ่งกรณีนี้อาจเกิดจากการปล่อยข่าวของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านอยากตรวจร่างกายอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มั่นใจในความโปร่งใส หากบริษัทฯ จะจัดบริการตรวจด้วยตัวเอง
“ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งมีคำสั่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และม.รังสิต ลงพื้นที่ตรวจสารปนเปื้อนในร่างกายของชาวบ้านที่เหลือทุกคน และขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมทบทวนการอนุมัติโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ ดังเช่น เหมืองทองคำ จ.พิจิตร เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่คุ้มค่ากับค่าภาคหลวงที่ประเทศได้รับ” น.ส.สื่อกัญญา ทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันที่ 27 มกราคม 2558 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ จ.พิจิตร จะเข้าพบนายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดี กพร. เวลา 9.00 น. ณ กพร. และในวันที่ 28 มกราคม 2558 จะมีการประชุมร่วม 3 จังหวัดถึงแนวทางดูแลและตรวจสอบสารโลหะหนักในร่างกาย ที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร
ขณะที่ผู้สนับสนุนบริษัทฯ จะเข้าชี้แจงข้อมูลอีกด้านหนึ่งแก่นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดี กพร. เช่นกัน เวลา 12.00 น. ณ กพร.