- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ปลดแล้ว!! ‘ไม้ยางพารา’ ออกจากบัญชีแนบท้าย ร่างพ.ร.บ.สวนป่า
ปลดแล้ว!! ‘ไม้ยางพารา’ ออกจากบัญชีแนบท้าย ร่างพ.ร.บ.สวนป่า
‘ศ.สนิท อักษรแก้ว’ เผยกมธ.วิสามัญฯ ถอน ‘ไม้ยางพารา’ ออกจากบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.สวนป่า แล้ว ระบุตั้งกองทุนสนับสนุนฯ สวนป่าเศรษฐกิจยังไม่ถึงเวลา ชี้อนาคตไม่แน่ คาดสนช.พิจารณาวาระ 2-3 อีก 2 สัปดาห์ ยันกม.นี้ช่วยส่งเสริมการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่า ป้องกันการบุกรุก
กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สวนป่า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... วาระแรก เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ 15 คน มีพล.อ.ดนัย มีชูเวท เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. วาระ 2 และวาระ 3 ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ชาวสวนยางพาราออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถอนไม้ยางพาราออกจากบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพราะเมื่อพ่อค้ารับซื้อไม้ยางพารา ต้องจ่ายส่วย ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กดราคารับซื้อไม้ยางพาราจากชาวสวนยาง จนสร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกร และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์
ศ.สนิท อักษรแก้ว กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) ถึงแนวคิดเพิ่มไม้ยางพาราในบัญชีแนบท้าย แต่เดิมมองว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากไม้ยางพาราจะมีมากขึ้น ซึ่งอนาคตอาจประสบปัญหาได้ หากต่างประเทศยึกยัก เน้นสิทธิการจัดการยั่งยืนที่ต้องให้ผลิตภัณฑ์มาจากสวนป่า เราจึงต้องบัญญัติไว้เพื่อรับรอง
"ปัจจุบันได้ถอนไม้ยางพาราออกจากบัญชีแนบท้ายแล้ว แต่อนาคตหากประสบปัญหาขึ้น ก็สามารถนำเข้ามาใหม่ได้พระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวง"
ส่วนข้อเสนอแนะให้ร่างพ.ร.บ.สวนป่า ฉบับนี้ ตั้งกองทุนสนับสนุนการปลูกสร้างสวนป่าเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อขึ้นทะเบียนทำสวนป่าร่วมกันนั้น กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวต่อว่า ส่วนมากเกษตรกรรายย่อยจะปลูกสวนป่าก็สามารถทำได้ ส่วนเกษตรกรรายใหญ่อย่างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ก็มีธุรกิจคงไม่มีปัญหา ฉะนั้นกองทุนฯ นี้จะไม่ถูกพูดถึงในกฎหมาย
“หากต่อไปจะจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ผลักดันขึ้นจากระเบียบ หากเห็นว่าสร้างประโยชน์” ศ.สนิท กล่าว
กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.สวนป่า ให้สิทธิเกษตรกรจดทะเบียนตามความสมัครใจ หากไม่ประสงค์ก็สามารถปลูกหรือตัดได้ โดยไม่มีผลตามกฎหมาย ซึ่งข้อดี คือ การจดทะเบียนจะทำให้การตรวจสอบที่มาของไม้ที่ตัดได้ง่าย แต่หากไม่ได้จดทะเบียนอาจต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ช่วยให้ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ควบคุมสวนป่า และเพิ่มพื้นที่ป่า ต่อไปหน่วยงานภาครัฐจะทำงานหนักขึ้น เพราะมีขั้นตอนการตรวจสอบ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกร
“กรมป่าไม้จะเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งภาระงานจะมีเพิ่มมากขึ้น” ศ.สนิท กล่าว และว่าเป็นข้าราชการก็ต้องทำงาน งานใดทำแล้ว ประเทศได้รับการอนุรักษ์ดี เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ต้องให้ทำมาก ๆ .
อ่านประกอบ:ความเห็นผู้ปลูกสวนป่าต่อร่างพ.ร.บ.สวนป่า ฉบับแก้ไข
นักวิชาการมก. เสนอลดขั้นตอนขอใบอนุญาต หนังสือรับรองตัด-โค่นไม้ ให้ชัดในพ.ร.บ.สวนป่า
ภาพประกอบ:เว็บไซต์เดลินิวส์