- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ‘พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง’ ค้านปฏิรูปตำรวจสุดโต่ง หวั่นกระทบมั่นคงชาติ
‘พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง’ ค้านปฏิรูปตำรวจสุดโต่ง หวั่นกระทบมั่นคงชาติ
เวทีถกปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ‘ทนายวันชัย’ เผยกระจายอำนาจเกิดแน่ ชี้ทางแก้ถูกแทรกแซงการเมือง ต้องสร้างความอิสระองค์กร ‘พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง’ ค้านกระจายอำนาจสุดโต่ง หวั่นกระทบความมั่นคง ลั่นเป็นผบ.ตร.คนแรก กล้าประกาศจะไม่เห็น ตร.รับสินบนอีก
วันที่ 13 มกราคม 2558 ที่อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนา ‘การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ หัวข้อ การให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ ณ อาคารรัฐสภา 2
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องเร่งขับเคลื่อนประเด็นหลัก คือ การกระจายอำนาจไปสู่ระดับภูมิภาคและท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมา สตช.มีบุคลากรจำนวนมากเกินไป นอกจากนี้ ภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจโดยตรงควรได้รับการถ่ายโอนไปยังหน่วยงานอื่นของรัฐ การใช้อำนาจยังต้องมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญ ต้องสร้างขวัญและกำลังใจแก่ตำรวจ เพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้า และชีวิตที่ดีขึ้น
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจต้องช่วยกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอย่ามองว่า การปฏิรูปจะทำให้การเปลี่ยนแปลงแย่ลง แต่ควรหันมาช่วยตกผลึกและรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ใช้เหตุผลร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ตำรวจเป็นองค์กรใหญ่ มีความรับผิดชอบหลายส่วน ดังนั้นกระจายอำนาจได้หรือไม่
สำหรับการแต่งตั้งโยกย้าย ประธาน กมธ. ด้านกฎหมายฯ สปช. ระบุว่า ต้องทำให้เกิดการยอมรับ จะเลือกใช้หลักเกณฑ์จากอายุราชการ ผลงาน หรือความดีความชอบ ขณะที่คำครหาต่อตำรวจเกี่ยวข้องกับอบายมุขต่าง ๆ ทำให้ประชาชนรู้สึกตำรวจแต่ละโรงพักมีภาพลักษณ์เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์
นายเสรี กล่าวต่อว่า ตำรวจเป็นองค์กรในกระบวนการนิติธรรม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกลับพบค่าตอบแทนน้อย ทำให้ตำรวจเกิดการประพฤติมิชอบ หรือครึ่ง ๆ กลาง ๆ สีเทา เกิดปัญหาตามมาอีก ดังนั้นต้องสนับสนุนรายได้ที่เพียงพอ มีอุปกรณ์ทันสมัย เชื่อมั่นว่า จะทำให้ตำรวจฉุกคิดและยับยั้งชั่งใจเมื่อคิดจะกระทำความผิด โปรดอย่ามองว่าการให้รายได้เยอะจะกระตุ้นให้เกิดการทุจริต หากคิดเช่นนั้นก็ไม่ต้องปฏิรูป อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้เป็นหลักประกันได้
“ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต้องประกาศนโยบายต่อสาธารณชนให้ชัดเจนว่า ต่อไปนี้จะไม่เห็นตำรวจรีดไถประชาชนหรือรับสินบนบนท้องถนนอีก เชื่อว่าประชาชนจะเกิดความรู้สึกที่ดี ทั้งนี้ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ หากยังไม่สามารถปรับทัศนคติของประชาชนได้ จะเกิดเส้นขวางระหว่างกัน” ประธาน กมธ. ด้านกฎหมายฯ สปช. กล่าว
เช่นเดียวกับนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. กล่าวว่า สิ่งที่ กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สรุป เห็นควรให้ปฏิรูปในหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อาทิ ศาล อัยการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกว่าเดิม เช่นเดียวกับตำรวจ ซึ่งจำเป็นต้องรับฟังผู้ปฏิบัติให้มากที่สุด
โดยในที่ประชุมเบื้องต้น เห็นว่า ตำรวจถูกแทรกแซงการทำงานจากฝ่ายการเมือง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ดังนั้นต้องสร้างความอิสระในการปฏิบัติ และระบบการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นธรรม นอกจากนี้ต้องกระจายอำนาจการบริหารราชการตำรวจ ซึ่งยืนยันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยหัวใจสำคัญ คือ โรงพัก ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
“การกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแล มีอำนาจโยกย้ายถอดถอนตำรวจตามที่กฎหมายบัญญัติ คงไม่เหมือนคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ในปัจจุบัน” สมาชิก สปช. กล่าว และว่าต้องจัดโครงสร้างองค์กรตำรวจและปรับเปลี่ยนหน่วยงานให้เหมาะสม และให้มีการตัดโอนอำนาจหน้าที่ของตำรวจในงานป้องกันและปราบปราม สืบสวนสอบสวน หรือดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมาย ให้เป็นของส่วนราชการอื่นตามความเหมาะสมตามที่กฎหมายบัญญัติ
ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สนช. กล่าวว่า อยากเห็นกองบัญชาการตำรวจยกฐานะเป็นนิติบุคคล ให้ผู้บัญชาการแต่ละหน่วยรับผิดรับชอบ ซึ่งอยากเห็นการกระจายอำนาจในลักษณะนี้มากกว่าที่ปรากฏทั่วไปในข่าว แต่หากวันใดที่ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งก็สามารถเป็นไปได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ขณะนี้คงไปไหนไม่ได้ไกล ทั้งนี้ มิใช่จะให้มีระบบเหมือนในปัจจุบัน
ขณะที่ พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สตช. กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตำรวจมักตกเป็นจำเลย และได้รับการปฏิรูปมาตลอด แต่ความสำเร็จครั้งนี้จะเกิดได้ สปช.และสนช.ต้องร่วมแก้ไข โดยรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน เพื่อรับรู้ปัญหาแท้จริง เพราะคนนอกจะให้ข้อมูลอีกแบบ คนในจะให้ข้อมูลอีกแบบ
“สิ่งสำคัญต้องคำนึงในการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ ต้องปรับทัศนคติให้ได้ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานความจริง และวิธีสุดท้ายจะแก้ที่กฎหมาย” ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายฯ กล่าว
สุดท้าย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลง สตช.ต้องรับฟังความคิดเห็นจากตำรวจ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วย เพราะรู้ดีที่สุดว่า เรื่องใดเปลี่ยนได้ เรื่องใดเปลี่ยนไม่ได้ บางครั้งการลอกเลียนแบบจากอารยประเทศที่เจริญแล้ว ต้องลองย้อนดูไทยเองว่าพร้อมหรือไม่ที่จะเปลี่ยนแปลงตามอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่น ซึ่งมีระบบการพัฒนามาช้านาน ทั้งนี้ หากกระจายอำนาจแบบสุดโต่ง เมื่อเกิดปัญหาความมั่นคง บางครั้งการใช้ระบบ ‘ซิงเกิล คอมมานด์’ ก็จำเป็น
สำหรับนโยบายไม่ให้ตำรวจรับสินบน ผบ.ตร. ยืนยันเป็นคนแรกที่ประกาศต่อสังคม แต่ปัญหาดังกล่าวมิได้เกิดจากตำรวจฝ่ายเดียว ทั้งนี้ เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์หนังสือฉบับหนึ่ง โดยระบุว่า ประชาชนจ่ายสินบน ตำรวจรับสินบน เปรียบเหมือนผีเน่ากับโลงผุ เห็นดีเห็นงามเหมือนตบมือสองข้าง ตำรวจอยากจะรับ ประชาชนอยากจะจ่าย เพราะได้รับประโยชน์ ฉะนั้นแก้ไม่ได้ต่อให้พูดให้ปากฉีกถึงใบหู ไม่ฟังและไม่ทำทั้งสองฝ่าย
"ฉะนั้นผมไม่ยอมรับความผิดฝ่ายเดียว เพราะประชาชนมีส่วนผิดด้วย"