- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ไทยไร้กม.คุมจัดซื้อฯ เสี่ยงเอื้อโกง ‘ดร.เดือนเด่น’ หนุนควิกวินเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส
ไทยไร้กม.คุมจัดซื้อฯ เสี่ยงเอื้อโกง ‘ดร.เดือนเด่น’ หนุนควิกวินเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส
รายงานศึกษา UNDP พบจุดอ่อนไทยจัดซื้อจัดจ้างแยกส่วน ปกป้องผู้ประมูล เสี่ยงเอื้อคอร์รัปชัน เหตุไร้กม.บังคับใช้โดยตรง ชง 4 มาตรการ แก้ทุจริต ‘ดร.เดือนเด่น’ ระบุต้องแก้ทั้งระบบ หนุนเปิดเผยข้อมูล สร้างความโปร่งใส สร้างระบบตรวจสอบภาคปชช. รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ยันดันกม.สำเร็จในรัฐบาลประยุทธ์
วันที่ 7 มกราคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program:UNDP) กรมบัญชีกลาง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดประชุมชี้แจงร่างแนวทางการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล
Mr.Peder Blomberg Senior Procurement Adviser, UNDP Consultant นำเสนอการประเมินความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาลในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย โดยอ้างอิงตามหลักการมาตรฐานสากล ตอนหนึ่งว่า ปี 2556 ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทย โดย Transparency International อยู่อันดับที่ 102 จาก 177 ประเทศ และในปี 2557 อยู่ในอันดับที่ 85 แสดงให้เห็นไทยมีปัญหาด้านธรรมาภิบาลโดยรวม โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ทั้งนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล คือ การให้สินบน การจ่ายเงินใต้โต๊ะ การฮั้วประมูล การให้ข้อมูลลับ การแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งล้วนมีความสำคัญกับประเทศมาก โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10-20 ของจีดีพี และอาจขยับขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด สำหรับไทยนับเป็นตัวเลขปกติ
ผู้เชี่ยวชาญด้านจัดซื้อจัดจ้าง กล่าวอีกว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทยมีลักษณะแยกส่วนกันและปกป้องผู้เข้าประมูล มีการนำเสนอราคาไม่ได้มาตรฐาน และกลไกการทำงานไม่เข้มแข็งเพียงพอ จุดอ่อนเหล่านี้ เกิดจากการมีกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่ไม่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่รายละเอียดจะต้องไม่เข้มงวดเกินไป จนทำให้บั่นทอนประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ ทราบว่าขณะนี้มีความพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายดังกล่าวแล้ว
ด้าน ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors Association :IOD) กล่าวว่า การผลักดันกฎหมายโดยตรงจะช่วยให้หน่วยราชการมีระบบการทำงานเหมือนกันมากขึ้น โดยเฉพาะความรับผิดชอบที่แบ่งอย่างชัดเจนระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
สำหรับมุมมองด้านการลดความเสี่ยงคอร์รัปชันภายใต้กฎหมาย ผู้บริหาร IOD ระบุให้เน้นความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ โดยที่ผ่านมา ภาครัฐจะดำเนินงานฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อเป็นหูเป็นตา และคานอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น จะได้มีกลไกการตรวจสอบการทำงานจากบุคคลภายนอก
ดร.บัณฑิต ยังเห็นด้วยกับการให้ผู้ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างฯ ผ่านการฝึกอบรม และส่งเสริมเป็นวิชาชีพเหมือนกับอาชีพอื่น ๆ เพื่อรักษาคุณธรรมในวิชาชีพของตัวเอง จะได้ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการแต่งตั้งคณะกรรมการในการจัดซื้อจัดจ้างฯ พร้อมกันนี้ ต้องเปลี่ยนแนวคิดให้ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลมีนโยบายองค์กรชัดเจนไม่ทุจริตและต่อต้านการทุจริต มิฉะนั้นการประมูลจะไม่เป็นธรรม
ขณะที่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยด้านบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การผลักดันกฎหมายอย่างเดียวไม่ช่วยแก้ปัญหาการคอร์รัปชันจากการจัดซื้อจัดจ้างฯ อย่างมีประสิทธิภาพได้ แต่ต้องแก้ไขทั้งระบบ เนื้อหาต้องดี ไม่จุกจิก ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการสร้างความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลมากกว่า
“ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎระเบียบ แม้จะเขียนออกมาอย่างไร การบังคับใช้ก็ไม่เต็มที่ แต่หากหันมาพึ่งพาสายตาของประชาชน สื่อมวลชน และภาคส่วนต่าง ๆ จะช่วยได้” นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า จำเป็นต้องเดินหน้าโดยการนำทุกอย่างจากที่ลับมาอยู่ที่แจ้ง เปิดเผยข้อมูลการประมูลทุกอย่างในเว็บไซต์ ประชาชนจะได้ช่วยทำหน้าที่ตรวจสอบ
ดร.เดือนเด่น กล่าวอีกว่า ในอดีตนั้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีอำนาจยับยั้งการเบิกจ่ายงบประมาณได้ หากพบมีการใช้จ่ายขาดประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่สำคัญและฉมังมาก แต่อำนาจดังกล่าวกลับถูกยึดไปเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นำไปรวมไว้กับ ป.ป.ช. ดังนั้นจำเป็นต้องให้ สตง.กลับมามีอำนาจเหมือนในอดีตหรือไม่
สุดท้าย น.ส.ชุณหจิต สังข์ใหม่ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลักดัน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อให้มีข้อปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ครอบคลุมหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจะไม่ปรากฏรายละเอียดที่เข้มงวดเกินไป ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน แต่จะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ไม่สามารถระบุชัดเจนได้ แต่ยืนยันเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การศึกษาแนวทางการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีข้อเสนอที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.ด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ ควรพัฒนากฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความทันสมัย เชื่อมโยงกับกลไกที่มีการปฏิบัติแล้วในปัจจุบัน ครอบคลุมภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
2.ด้านโครงสร้างขององค์กรและศักยภาพขององค์กร เสนอให้ปรับปรุงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ สถานะของหน่วยงานกลางที่กำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้ชัดเจน เมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง และเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง
3.ด้านศักยภาพในการดำเนินงาน เสนอให้มีการเสริมสร้างมาตรฐานวิชาชีพและสร้างความน่าเชื่อถือของบุคลากรด้านการจัดซื้อจัดจ้าง
4.ด้านโครงสร้างในการควบคุมและกลไกการสร้างความซื่อตรงและความโปร่งใส โดยให้พัฒนาระบบประกันคุณภาพของหน่วยงานจัดซื้อและหน่วยงานเอกชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นผู้ค้ากับภาครัฐ และพัฒนากลไกการพิจารณาข้อร้องเรียนและเยียวยาภายใต้กฎหมายใหม่ให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ คาดว่ารายงานจะเสร็จสมบูรณ์และเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์เเนวหน้า