- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ปลุกผีโปแตชอาเซียน! เอ็นจีโอเชื่อกลุ่มทุนจ้องฮุบเหมืองอุดรฯ มากกว่า
ปลุกผีโปแตชอาเซียน! เอ็นจีโอเชื่อกลุ่มทุนจ้องฮุบเหมืองอุดรฯ มากกว่า
เอ็นจีโอชี้ปลุกผี ‘เหมืองแร่โปแตช’ จ.ชัยภูมิ ไม่คุ้มทุน เชื่อกลุ่มทุนหวังฮุบพื้นที่อุดรฯ มากกว่า แนะรัฐบาลอย่ารีบร้อนคลอดกม.แร่ฉบับใหม่ ควรรอ รธน.บังคับใช้
จากกรณีนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอแผนอนุมัติสร้างเหมืองแร่โปแตชให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปลายปี 2557 ซึ่งจะเริ่มนำร่องที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เป็นแห่งแรก โดยบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะให้กระทรวงการคลังเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน 20% และคาดว่าจะออกประทานบัตรเพื่อให้เอกชนเริ่มลงทุนได้ในปี 2558
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่าแผนดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนมีมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ พ.ศ.2545 แต่ปัญหาใหญ่ขณะนี้ คือ ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ มีแร่คุณภาพต่ำ ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องมองด้านความคุ้มค่าการลงทุนประกอบด้วย
“สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเคยมีข้อเสนอให้ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชที่นี่ก่อน เพราะเริ่มมานานแล้ว จะได้เป็นต้นแบบที่ดี โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) หรือขั้นตอนการดำเนินงาน ก่อนจะขยายโครงการไปยังพื้นที่อื่น”
หากความจริงแล้ว เลขาธิการ กป.อพช. ภาคอีสาน ระบุว่า กลุ่มทุนคาดหวังได้โครงการเหมืองโปแตชในพื้นที่ จ.อุดรธานี เพราะแร่มีคุณภาพสูงกว่ามาก และชั้นแร่ลึกเพียง 300 เมตร อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงเฉพาะ อ.บำเหน็จณรงค์ เท่านั้น ยังมีพื้นที่อื่นอีก เช่น ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครพนม
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ทรัพยากรบนดินในประเทศหมดแล้ว เหลือใต้ดินอย่างเดียว โดยเฉพาะ แร่ทองคำ และโปแตช ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องการให้มีโครงการดังกล่าวขึ้น ตั้งข้อสังเกตอาจมีความซับซ้อนมากกว่านั้น โดยเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนจากจีนหรือไม่ เพื่อแลกกับทรัพยากรบางอย่าง ดังเช่น การดำเนินกิจการรถไฟ
นายสุวิทย์ ยังกล่าวถึงกรณี รมว.อุตฯ ยืนยันจากการศึกษาดูงาน ณ ประเทศเยอรมันว่า โครงการไม่ส่งผลกระทบนั้น เป็นข้อมูลฝ่ายเดียวที่เน้นเพียงข้อดี แต่ไม่ระบุถึงข้อเสียที่กำลังเป็นปัญหา อาทิ ไม่มีวิธีการจัดการกองเกลือจำนวนมหาศาล หรือกากนิวเคลียร์ที่เก็บไว้ในชั้นโพรงใต้ดินเกิดการแพร่กระจาย
เมื่อถามถึงการผลักดันพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ เลขาธิการ กป.อพช. ภาคอีสาน กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยเกือบทั้งฉบับ โดยเฉพาะขาดเนื้อหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เเต่ส่วนใหญ่จะกีดกันมากกว่า และผลประโยชน์ที่จะตกกับคนไทยมากน้อยเพียงใด
“ผมเสนอมาโดยตลอดให้รัฐเร่งประเมินยุทธศาสตร์ทรัพยากรแร่ในประเทศก่อน เพื่อคำนวณหาปริมาณคงเหลือและระยะเวลาการใช้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏข้อมูลเหล่านี้เลย” นายสุวิทย์ กล่าว และว่า ยังไม่เคยประเมินทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่แต่ละภูมิภาค นอกจากโครงการเหมืองแร่โปแตชแล้ว ยังมีทางเลือกอื่นเพื่อการพัฒนาอีกหรือไม่
เลขาธิการ กป.อพช. ภาคอีสาน กล่าวด้วยว่า กฎหมายถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อผลประโยชน์ของประเทศ รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องรีบร้อนผลักดันในตอนนี้ แต่ควรชะลอไปก่อนจนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะบังคับใช้ หรือให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก่อน เพื่อให้ระยะเวลาในการเปิดพื้นที่ถกเถียงวงกว้างมากขึ้น เพราะหากยังเร่งดำเนินการต่อไปจะทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยอาจมีเบื้องหลังก็ได้ .
อ่านประกอบ:เปิดใบหุ้นบ.เหมืองแร่ฯ ก่อน ครม. ประยุทธ์จ่ออนุมัติแผนปลายปี 57-ขาใหญ่ธุรกิจเพียบ!
ภาพประกอบ:เดลินิวส์ออนไลน์