- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- อย่ามโน! นายกสภาฯ มก. ยันคนซีพี นั่งปธ.ศูนย์วิจัยข้าวโพด ไร้ประโยชน์ทับซ้อน
อย่ามโน! นายกสภาฯ มก. ยันคนซีพี นั่งปธ.ศูนย์วิจัยข้าวโพด ไร้ประโยชน์ทับซ้อน
นายกสภาฯ มก. แจงตั้ง ‘มนตรี คงตระกูลเทียน’ นั่งปธ.คกก.นโยบายฯ ไร่สุวรรณ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ระบุโครงการเน้นพัฒนาแหล่งการค้าหารายได้เข้าสถาบัน เลี้ยงตัวเองหลังออกนอกระบบ
จากกรณีภาคประชาสังคมคัดค้านสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่งตั้ง ‘นายมนตรี คงตระกูลเทียน’ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ดำรงตำเเหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่ไร่สุวรรณ (ศูนย์วิจัยข้าวโพดเเละข้าวฟ่างเเห่งชาติ) เพราะหวั่นจะเกิดการแปรรูปทรัพยากรของประเทศและมหาวิทยาลัยเอื้อประโยชน์ภาคเอกชน (อ่านประกอบ:เอ็นจีโอค้านสภาฯ มก. ตั้งรองปธ.ซีพี นั่งประธานฯ ศูนย์วิจัยข้าวโพด 'ไร่สุวรรณ')
ศ.ดร.นิวัติ เรืองพานิช นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า คณะกรรมการนโยบายการบริหารฯ ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานการใช้ประโยชน์ที่ดินหารายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เหมือนกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะการออกนอกระบบจำเป็นต้องมีรายได้เป็นของตนเอง ฉะนั้นจึงต้องใช้ที่ดินริมถนนในการปลูกข้าวโพดในไร่สุวรรณตั้งเป็นแหล่งการค้าแก่ชุมชน และนำรายได้เป็นของมหาวิทยาลัย ไม่ได้เข้ากระเป๋าสตางค์ใคร
ส่วนจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตหรือไม่ นายกสภาฯ มก. ระบุว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะตัดสินใจ ทั้งนี้ ต้องนำเสนอให้สภาฯ พิจารณาเห็นชอบโครงการก่อนตามขั้นตอนเสมอ แต่ทั้งหมดจะยึดหลักการต้องได้รับผลประโยชน์สูงสุด
“การตั้งคุณมนตรีเป็นประธานฯ นั้น ยืนยันไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับใครแน่นอน และศูนย์วิจัยฯ ก็ไม่มีใครไปยุ่ง อยากรู้อะไรให้มาถามผมในฐานะนายกสภาฯ มก. อย่าคิดเอง พูดเอง มโนเอง จะเกิดความเสียหายกับมหาวิทยาลัยได้” ศ.ดร.นิวัติ กล่าว
ขณะที่นายมนตรี คงตระกูลเทียน ปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ โดยระบุเพียงว่า “ขณะนี้ยังไม่มีการหารือกับสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เลย ส่วนประเด็นอื่นตนเองไม่อยู่ในสถานะให้ข้อมูลได้”
สำหรับความคืบหน้าการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันยังอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ โดยล่าสุดการเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ... นั้น ได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) เรียบร้อยเเล้ว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 เเละอยู่ในระหว่างการเสนอเข้าวาระของสภา ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อกำหนดเป็นกฎหมายต่อไป
อ่านเพิ่มเติม:การประชุมชี้แจงรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ....