- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- นักวิชาการติง กสท.มองข้ามกฎ ‘ครองสิทธิข้ามสื่อ’ กำกับทีวีดิจิตอล
นักวิชาการติง กสท.มองข้ามกฎ ‘ครองสิทธิข้ามสื่อ’ กำกับทีวีดิจิตอล
นักวิชาการนิติศาสตร์ชี้มติ กสท.สั่งทีวีดาวเทียม-เคเบิล ระงับออกอากาศช่อง 3 อนาล็อกมีความเสี่ยง ระบุหากแพ้คดีใครรับผิดชอบจอดำ ฝ่ายผู้บริโภคเชื่อจบสวยเหมือนละคร ยอมออกคู่ขนาน ‘พิรงรอง’ ติงผู้กำกับดูแลมองข้ามกฎ ‘ครองสิทธิข้ามสื่อ’ คุมทีวีดิจิตอล หวั่นล้มเหลวต้องประมูลใหม่
วันที่ 30 กันยายน 2557 ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา ‘ช่อง 3 กับ กสทช.:ประเด็นทางกฎหมายและสังคมที่มากกว่าภาวะ ‘จอดำ’ บนเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม’ ณ ห้อง 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมติ กสท.เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ให้ช่อง 3 อนาล็อก สิ้นสุดการเป็นฟรีทีวีนั้น ตามหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภครับชมโทรทัศน์พื้นฐานอย่างเป็นธรรม ดังนั้นมองว่าคำสั่งของ กสท.ให้สิ้นสภาพความเป็นฟรีทีวีน่าจะขัดกับวัตถุประสงค์ตามกฎดังกล่าว
สำหรับมติเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2557 ให้ผู้บริการโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวียุติการออกอากาศช่อง 3 อนาล็อกนั้น นักวิชาการนิติศาสตร์ ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวย่อมมีความเสี่ยง เพราะคดีที่ช่อง 3 อนาล็อกฟ้องต่อศาลปกครอง ยังไม่ถึงที่สุด ทั้งนี้ หาก กสท.ชนะก็ไม่เกิดปัญหา แต่หากแพ้ขึ้นมา ช่วงที่เกิดจอดำขึ้นใครจะรับผิดชอบ ผู้ผลิตรายการย่อมเกิดความเดือดร้อน จึงเสนอให้ควรยุติคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อน
ด้านรศ.สุธรรม อยู่ในธรรม คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึงประเด็นการกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลว่า ผู้ที่มีหน้าที่โดยทฤษฎีนั้นไม่ควรเข้าไปยุ่งตลาดที่ดีอยู่แล้ว จะยุ่งได้เฉพาะตลาดที่ทำไมได้ ทั้งนี้ หากไม่มีกฎ Must Carry ผู้บริโภคก็สามารถรับชมช่อง 3 และช่อง 7 ได้ด้วย ส่วนผู้บริโภคที่ไม่ประสงค์รับชมไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยว
“ผู้ที่ได้รับความเสียหายจริง ๆ คือ ผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ฉะนั้นหากถูกกฎ Must Carry ผู้ประกอบการจะเหลืออะไร” นักวิชาการนิติศาสตร์ กล่าว
ด้านรศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ว่า ผู้ประกอบการรายเก่าย่อมได้เปรียบทางการตลาดเสมอ ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่เกิดความยากในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ตนเองได้เปิดรับชมรายการในช่องดิจิตอล ต่างมีเนื้อหาสาระไม่แพ้กัน ทว่า ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคแบบเก่าจึงทำให้โฆษณาไม่เข้าหาช่องใหม่ และกลายเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการ ฉะนั้น กสทช.ต้องประคับประคองสถานการณ์ตรงนี้ให้ได้
“ที่ผ่านมาคนที่มาก่อนย่อมได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะมีผู้ประกอบกิจการน้อยราย ทำให้สามารถสร้างรายได้และนำไปพัฒนาคุณภาพตัวเองได้ ถือเป็นการประกอบกิจการทั่วไปและเกิดขึ้นทุกแห่ง” นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ กล่าว และว่าในระบบดิจิตอลต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาได้ โดยอยู่บนพื้นฐานกติกาที่เป็นธรรม และผู้ประกอบการรายเก่าต้องยอมเสียผลประโยชน์บ้าง แต่ด้วยมีรากฐานแข็งแรง คงไม่เสียหายมากมาย ยกเว้นอาจถูกจำกัดจากกฎกติกามากขึ้น
สำหรับประเด็นการผูกขาดตลาดนั้น รศ.นวลน้อย กล่าวว่า ต้องดูหลักการว่าใครเป็นเจ้าของ ไม่เช่นนั้นคงไม่ต้องมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกันไม่ให้คนกลุ่มเดียวครอบครองอุตสาหกรรมใดมากเกินไป ซึ่งกรณีนี้น่ากลุ้มใจเช่นกัน ส่วนที่มีการหยิบยกมาตรา 9 ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ระบุว่า ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องประกอบกิจการด้วยตนเองไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นได้ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้ใช้คำว่า ‘นิติบุคคล’ แต่ใช้คำว่า ‘ผู้อื่น’ ซึ่งผู้อื่นนั้นต้องหมายถึงคนละเครือ ไม่เช่นนั้นประกาศฉบับดังกล่าวจะไม่มีผลอะไรเลย
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มิได้บังคับให้ช่อง 3 อนาล็อก เกิดจอดำอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะความจริง กสท.กำลังบังคับให้ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ห้ามนำสัญญาณออกอากาศในระบบดังกล่าวต่างหาก ดังนั้นช่อง 3 อนาล็อก จึงสามารถออกอากาศผ่านระบบเดิมได้ ซึ่งรับชมได้ผ่านเสาอากาศหนวดกุ้งหรือก้างปลา จึงไม่ใช่ประเด็นจอดำ
ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า ต้องขอบคุณช่อง 3 อนาล็อกที่ทำเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานต่อไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าท้ายที่สุด กรณีนี้ กสทช.กับช่อง 3 อนาล็อก จะจบลงเหมือนคู่พระเอกนางเอกในละครโทรทัศน์จูบปากกัน ซึ่งนำไปสู่การออกอากาศคู่ขนาน ทั้งนี้ สังคมไทยควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลมากกว่าประเด็นจอดำ
ขณะที่ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลงานของ กสท. คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลกลายเป็นวาระสำคัญ ซึ่งบางอย่างมีความตั้งใจมากเกินไป จนขาดการวางแผนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะ ‘การครองสิทธิข้ามสื่อ’ ที่กำลังปล่อยหนอนออกมาเต็ม เพราะสิ่งเหล่านี้ได้กระทบต่อผู้ประกอบการแทบทั้งหมดในระบบดังกล่าว ด้วยล้วนต่างครองสิทธิข้ามสื่อทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ กสท.ปล่อยให้เกิดการประมูลระบบทีวีดิจิตอลโดยยังไม่ออกกฎเกณฑ์นี้ได้อย่างไร
“หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งขายดีอันดับ 1 ของประเทศ เมื่อหันมาประกอบการทีวีดิจิตอล หากมีการใช้กฎการครองสิทธิข้ามสื่อจะเกิดปัญหาขึ้นทันที เช่นเดียวกับเครือเนชั่น แต่กรณีนี้อาจจะไม่มีปัญหามาก เพราะส่วนแบ่งทางการตลาดน้อย ตลอดจนผู้ประกอบการรายอื่นก็มีสิทธิคืนเพื่อประมูลใหม่ทั้งหมด ทำให้จากกรณีนี้แทบไม่ต้องคิดถึงทางเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลชุมชนเลย” นักวิชาการสื่อมวลชน ระบุ
ภาพประกอบ:www.positioningmag.com