- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เผยแผนซ่อมใหญ่แอร์พอร์ตลิงค์ ต.ค.58 เหตุช้าไม่มีอะไหล่สำรอง
รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เผยแผนซ่อมใหญ่แอร์พอร์ตลิงค์ ต.ค.58 เหตุช้าไม่มีอะไหล่สำรอง
รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ยัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ วิ่งยังไม่เกินตามคู่มือระบุ วอนประชาชนเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัย แจงระยะทางสูงสุดที่วิ่งได้คือ 1.32 ล้านกิโลเมตร เผยซ่อมแน่ ตุลาคม 58
13 สิงหาคม 2557 พล.อ.อ.คำรบ ลียะวณิช รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดแถลงข่าวเพื่อชี้แจงถึงกรณีวาระการซ่อมบำรุงใหญ่ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ณ ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน ซ.ศูนย์วิจัย 47
พล.อ.อ. คำรบ กล่าวถึงเหตุการณ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์เกิดกลุ่มควันท่วมขบวนรถเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา สาเหตุมาจากการขัดข้องของระบบขับเคลื่อนของรถไฟทำให้ระบบเบรคฉุกเฉินทำงานขณะวิ่งเข้าถึงชานชาลาสถานีบ้านทับช้าง ทั้งนี้ทางองค์กรตระหนักดีว่าการให้บริการประชาชนโดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่องค์กรตระหนักเป็นอย่างยิ่ง และที่ผ่านมาระดับผู้บริหาร พนักงานเดินรถ เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยและมีการประชุมทุกสัปดาห์เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งพยายามหาแนวทางในการแก้ไข ทั้งนี้ทุกฝ่ายได้พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่แล้ว
พล.อ.อ.คำรบ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการซ่อมบำรุงเป็นการซ่อมตามสภาพตรวจเช็คตามเวลา ซึ่งขบวนรถทั้ง9 ขบวนจะครบกำหนดตรวจเช็คเมื่อวิ่งได้ระยะทาง 1.2 ล้านกิโลเมตร และสามารถวิ่งเกินตามคู่มือซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าของแอร์พอร์ตลิงค์ได้อีก 10% หรือประมาณ 1.32 ล้านกิโลเมตรจึงจะต้องทำการซ่อมใหญ่ (Overhaul)
"รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ยังวิ่งไม่เกินตามคู่มือ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ก็ได้มีการลดความเร็วในการวิ่งลงเพื่อความปลอดภัย พร้อมได้ประสานข้อมูลกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการจัดทำTOR ว่าจะต้องซ่อมอะไรบ้าง คือ เราไม่ได้คำนึงถึงแค่เรื่องระบบเบรกเท่านั้น แต่จะมีการตรวจเช็คทุกอย่าง ซึ่งการซ่อมใหญ่จะต้องซ่อมโดยเจ้าของบริษัทรถไฟที่เราซื้อมานั่นคือบริษัทซีเมนส์ประเทศเยอรมนี ซึ่งในขณะนี้รอทำสัญญาในการซ่อมบำรุงอยู่"
เมื่อถามว่าตามแผนแล้วจะมีการเซ็นสัญญาซ่อมตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา เหตุใดการเซ็นสัญญาซ่อมจึงเลื่อน พล.อ.อ.คำรบ กล่าวว่า สาเหตุที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาในขณะนั้นเนื่องจากพยายามหาผู้เชี่ยวชาญมาตรวจอยู่ รวมถึงรายละเอียดของTOR อาจจะมีความไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามยืนยันว่า คู่มือระบุให้ซ่อมใหญ่ที่ 1.2 ล้านกิโลเมตร ไม่ใช่ 1 ล้านกิโลเมตรตามที่เป็นข่าว ซึ่งการเซ็นสัญญาซ่อมอาจจะทำในช่วงธันวาคมปลายปีนี้
“อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ที่การดำเนินงานช้าเพราะต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง ต้องมีการประชุมเสนอบอร์ดให้เรียบร้อย เราต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามระเบียบ”
รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. กล่าวด้วยว่า ขบวนรถไฟจะเริ่มซ่อมใหญ่ในเดือนตุลาคม 2558 ภายหลังจากเซ็นสัญญาเนื่องจากต้องรออะไหล่ เพราะบริษัทซีเมนส์ก็ไม่ได้มีอะไหล่สำรองไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตามในช่วงขั้นตอนที่ต้องรอช่างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจและมาให้ความเห็นในเรื่องการซ่อมบำรุงและระบบความปลอดภัยเราจะยังคงให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง จะไม่มีการหยุดเดินรถ ทั้งนี้อาจจะแก้ปัญหาด้วยการลดความเร็วของรถไฟฟ้าลง และใช้วิธีการซ่อมบำรุงตามสถานการณ์แทน
“ปัญหาที่เกิดขึ้นรวมถึงความล่าช้าในการดำเนินการต่างๆภายในองค์กร ยอมรับว่าที่ผ่านมาเราไม่มีการวางแผนทางด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งเร็วๆนี้อาจจะต้องมีการปรับองค์กรครั้งใหญ่ทั้งในเรื่องของบุคลากรในการติดตามงาน การจัดซื้อ การติดตามงบประมาณ และจุดอ่อนของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ คือเราไม่มีอะไหล่สำรองทุกอย่าง คือมีแค่บางตัว แตกต่างกับรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟใต้ดินที่มีอะไหล่สำรองทุกอย่างมีขบวนรถหลายคันสามารถซ่อมได้ทันที และเหมาซ่อมเป็นรายปีไว้เลย”
ด้านนายธีรพล ด่านวิริยะกุล รักษาการแผนกระบบตู้รถไฟฟ้า (Rolling Stock) กล่าวถึงแผนระยะสั้นในการซ่อมบำรุงด้วยว่า เรามีอะไหล่บางส่วน เช่น ล้อหรือลูกปืน ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีการเปลี่ยนใหม่ตลอดเวลาเมื่อหมดอายุการใช้งาน และทุกครั้งที่มีนำรถไฟฟ้าเข้าซ่อมหรือเปลี่ยนล้อจะใช้เวลาในการซ่อม 3 วันต่อ 1ขบวน ดังนั้นประชาชนจึงมั่นใจได้ว่า เรามีการดูแลเรื่องระบบความปลอดภัยตลอดเวลา และการซ่อมบำรุงที่สามารถทำเองได้ ก็ทำมาโดยตลอด แต่ทั้งนี้ในการซ่อมบำรุงใหญ่จะต้องเป็นหน้าที่ของบริษัทซีเมนส์และต้องใช้ช่างของบริษัทนั้นในการดูแลเทคโนโลยีที่ซื้อเข้ามาตามสัญญาการซื้อขาย