- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- แจงละเอียด! แนวคิด ‘เค วอเตอร์’ วาง 5 เส้นทางฟลัดเวย์ฝั่งตต.-ตอ.
แจงละเอียด! แนวคิด ‘เค วอเตอร์’ วาง 5 เส้นทางฟลัดเวย์ฝั่งตต.-ตอ.
เปิดเอกสารแนวคิด 'เค วอเตอร์' ออกแบบโมดูล A5 สร้างคลองผันน้ำ งบ 1.5 แสนล้าน มี 5 เส้นทาง วางแนวขุดคลองสายใหม่ฝั่งตะวันตกเชื่อมแม่กลอง เล็งสร้างศูนย์วัฒนธรรมด้านน้ำประชาสัมพันธ์โครงการ เป็นที่พักผ่อน-สวนสาธารณะตามโมเดลเกาหลี
ภายหลังที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการแสดงนิทรรศการโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ประกอบไปด้วย 9 โมดูลหลัก ภายใต้ชื่องาน 'น้ำคือชีวิต' ตามแผนบริหารจัดการน้ำวงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ณ ชั้น 1 ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ในระหว่างวันที่ 4-12 ก.ย. 2556
โดยที่การจัดแสดงนิทรรศการดังกล่าว เป็นหนึ่งในขั้นตอนก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งได้กำหนดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนไว้ 36 จังหวัด หลังจากที่ศาลปกครองได้พิพากษาตามคำฟ้องของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนให้ปฏิบัติตามมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญที่ต้องนำ แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ก่อนที่จะดำเนินการจัดจ้างและออกแบบก่อสร้างในแต่ละโมดูล
"สำนักข่าวอิศรา" เปิดเอกสารประกอบการจัดแสดงนิทรรศการในโมดูล A5 การก่อสร้างคลองผันน้ำ หรือฟลัดเวย์ (Floodway) ที่ระบุถึงรายละเอียดแนวคิดหลัก วัตถุประสงค์โครงการ ภาพรวมการดำเนินโครงการ ที่ตั้ง เส้นทางที่ผ่าน ตลอดจนระยะเวลาที่ใช้ในโครงการ ซึ่งโมดูลนี้เป็นบริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค-วอเตอร์) ที่ได้รับการประมูลไปในงบประมาณไม่เกินกว่า 1.5 แสนล้านบาท โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี
วัตถุประสงค์โครงการ เป็นการก่อสร้างคลองผันน้ำ เพื่อป้องกันอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และคลองผันน้ำทั้งสองเส้นทางสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ 1,500 ลบ.ม./วินาที ประกอบด้วย เส้นทางตะวันตก ความจุ 1,200 ลบ.ม./วินาที เส้นทางฝั่งตะวันออก ความจุ 300 ลบ.ม./วินาที และท่าจีน คลองลัด 3 แห่ง และขุดลอกแม่น้ำ
โดยที่แผนหลักสำหรับคลองผันน้ำ หรือฟลัดเวย์ ประกอบด้วย 5 เส้นทาง ได้แก่
1.คลองผันน้ำฝั่งตะวันตก (WF) ออกแบบน้ำหลาก 1,200 ลบ.ม./วินาที ระยะทาง 281 กม.ซึ่งเป็นการขุดสร้างคลองผันน้ำสายใหม่ขึ้นมา มีถนนเชื่อมต่อโดยตรงจาก จ.นครสวรรค์ ถึง จ.กาญจนบุรี เชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง เพื่อลดผลกระทบทางสังคมแทนการการก่อสร้างคลองสายใหม่ที่เชื่อมต่อสู่อ่าวไทย โดยจะมีประตูระบายน้ำ 8 แห่ง สะพาน 70 แห่ง (รวมทางรถไฟ1) ทางน้ำเข้า 11 แห่ง ทางน้ำออก 33 แห่ง และไซฟอน 24 แห่ง
2.การปรับปรุงแม่น้ำแม่กลอง ออกแบบน้ำหลากด้วยการขุดลอกท้องน้ำเพื่อเพิ่มความจุเป็น 1,910 ลบ.ม./วินาที ระยะทาง 34 กม.ซึ่งแผนงานหลักเป็นการขุดลอกแม่น้ำแม่กลอง โดยคลองผันน้ำฝั่งตะวันตกจะถูกเชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลองที่ต้นน้ำฝั่งซ้ายของเขื่อนแม่กลอง หลังจากปรับปรุงความจุการไหลแล้ว ซึ่งแม่น้ำแม่กลองจะถูกใช้ในกรณีที่มีความสามารถในการรับน้ำไม่เกินความจุลำน้ำเท่านั้น
ทั้งนี้ จะไม่ดำเนินการในเขตพื้นที่น้ำกร่อยเข้าถึง ตั้งแต่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ไปจนถึงปากน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกตัวเพิ่มขึ้น
3.คลองผันน้ำฝั่งตะวันออก 1 (EF1) ออกแบบน้ำหลาก 300 ลบ.ม./วินาที ระยะทาง 133 กม.เป็นการขุดลอกคลองชัยนาท-ป่าสัก
4.คลองผันน้ำฝั่งตะวันออก 2 (EF2) ออกแบบน้ำหลาก 300 ลบ.ม./วินาที ระยาทาง 388 กม.เป็นการขุดลอกคลอง 13 สาย สำหรับดินที่ได้จากการขุดลอกจะใช้สำหรับการปรับปรุงหรือพัฒนากิจกรรมทางเกษตร (Agricultural Land Remodeling) และมีการจ่ายค่าเช่าที่ในระหว่างถมดิน
5.การปรับปรุงแม่น้ำท่าจีน ออกแบบน้ำหลาก 250-300 ลบ.ม./วินาที ระยะทาง 6 กม.ในการขุดคลองลัดและ 22 กม. (14 แห่ง) ในการขุดลอกแม่น้ำท่าจีน ประกอบด้วยคลองลัด 3 แห่ง ประตูระบายน้ำ 2 แห่ง (บริเวณคลองลัด)
แนวคิดหลักในการออกแบบเพื่อการก่อสร้างคลองผันน้ำ มีมาตรการป้องกันหากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนเช่นในปี 2554 จะผันน้ำจากแม่น้ำปิง ลดปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดแนวผันน้ำฝั่งตะวันตก ผันน้ำหลากออกจากพื้นที่ฝั่งตะวันตก และผันน้ำไปยังคลองชัยนาท-ป่าสัก ลดปริมาณน้ำที่เจ้าเข้าเขื่อนเจ้าพระยา
ทั้งนี้ ยังมีการประยุกต์แนวคิดการก่อสร้างทางผันน้ำให้เชื่อมโยงกับแผนการก่อสร้างถนน เชื่อมโยงกับระบบชลประทานน้ำ เพื่อการอุปโภคและบริโภค รวมถึงจัดสร้างศูนย์วัฒนธรรมทางด้านน้ำ สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการคาดว่าจะบรรเทาอุกทกภัยพื้นที่น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานคร
- เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน พื้นที่ประสบอุทกภัย จะสามารถลดพื้นที่ได้กว่า 50% และลดมูลค่าความเสียหายลงได้ 385 ล้านบาท
- เสริมเส้นทางการจราจรขนส่งจากภาคใต้-ภาคเหนือบริเวณฝั่งตะวันตกของประเทศ ความยาว 281 กม. ช่องทางการจราจร 4 ช่องทางกว้าง 23 ม.
- การใช้น้ำนอนคลอง เก็บกักน้ำ 317 ล้าน ลบ.ม. ไว้ในคลองผันน้ำฝั่งตะวันตกในช่วงปลายฤดูฝน เสริมแหล่งน้ำต้นทุนให้กับโครงการชลประทานเดิม และพื้นที่นอกเขตชลประทาน ประตูระบายน้ำ 8 แห่ง เพื่อรักษารีบน้ำในคลองผันน้ำ
สนับสนุนพื้นที่ท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในโครงการโมดูล A5 ผ่านศูนย์วัฒนธรรมทางด้านน้ำ อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่พักผ่อนและสวนสาธารณะให้แก่ชุมชนใกล้เคียง รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี โดยจะจัดสร้างบริเวณจุดตัดแม่น้ำแม่กลอง
สำหรับระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 5 ปี รวมการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study F/S) ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA, Initial Environmental Examination IEE) การชดเชยค่าเสียหายจากการเวนคืนที่ดินและอื่นๆ