- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- พณ.ยันจดสิทธิบัตร “สารสกัดกัญชา” ไม่ได้ เหตุขัด กม.
พณ.ยันจดสิทธิบัตร “สารสกัดกัญชา” ไม่ได้ เหตุขัด กม.
ก.พาณิชย์ยันจดสิทธิบัตร “สารสกัดกัญชา” ไม่ได้ เหตุขัดมาตรา 9 ยันกรมทรัพย์สินฯ ไม่มีสิทธิปฏิเสธคำร้อง
วันที่ 12 พ.ย. 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พาณิชย์) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย ว่าเป็นความเข้าใจผิดของข่าวสารที่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรตามที่ปรากฎเป็นข่าว เรื่องนี้จึงเป็นกระบวนการตรวจสอบการประดิษฐ์ ซึ่งมีเงื่อนไขทางกฎหมายมาครอบคลุมหลายประการ
"ปัจจุบันคำขอสิทธิบัตรยังอยู่ในกระบวนการ ดังนั้น เมื่อมีผู้มายื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องรับเรื่องไว้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ประกาศโฆษณาต่อไป"
ทั้งนี้ ประเด็นข้อสงสัยที่ว่า เมื่อประกาศโฆษณาแล้ว ไม่มีผู้โต้แย้ง จะทำให้ได้รับสิทธิบัตรไปทันทีหรือไม่ รมว.พาณิชย์ กล่าวเน้นย้ำว่า นี่เป็นกระบวนการตามขั้นตอนการจดสิทธิบัตร ซึ่งความจริงยังมีกระบวนการตรวจสอบต่อไปอีก จึงอยากสร้างความชัดเจนว่า ถ้าเป็นสารสกัดกัญชา ตามกฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 (1) ระบุว่า จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ. หรือ ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ดังนั้น สารสกัดกัญชาถือเป็นสารสกัดจากพืช จึงไม่ได้รับการคุ้มครอง
“ยื่นได้ แต่จดไม่ได้ ถ้าเป็นสารสกัดกัญชา เพราะขัดมาตรา 9 (1) วรรคหนึ่ง และกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถปฏิเสธการรับคำร้อง แต่เมื่อรับคำร้องแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับสิทธิบัตร เพราะยังมีกระบวนการอีกยาวนาน แต่ตามหลักการ หากมีการยื่นคำร้องของสารสกัดกัญชา ต่อให้ขั้นตอนจะเป็นอย่างไรก็ตาม ถึงเวลาคำร้องจะตกไปเองภายใน 5 ปี ถ้าเป็นสารสกัดกัญชา ส่วนมีกี่บริษัทที่ยื่นขอในครั้งนี้ ไม่ขอลงรายละเอียด แต่ยื่นขอจดตั้งแต่ปี 2553” นายสนธิรัตน์ กล่าวในที่สุด
ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรปัจจุบันว่า บริษัทยื่นขอจดสิทธิบัตรเพื่อพิจารณามา ซึ่งผ่านขั้นตอนประกาศโฆษณาเเล้ว เมื่อปี 2559 โดยกรณีที่มีผู้ไม่เห็นด้วยต้องยื่นคัดค้านคำขอภายใน 90 วัน นับเเต่วันประกาศโฆษณา หลังจากนั้น ผู้ยื่นคำขออาจจะกลับไปพัฒนา ซึ่งกรมทรัพย์สินฯ จะไม่ทำอะไรจนกว่าบริษัทจะกลับมายื่นเรื่องให้เราตรวจสอบการประดิษฐ์ ขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่จะพิจารณาตามมาตรา 9 อีกครั้ง ผ่านหรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสิทธิบัตร ซึ่งกรณีไม่ผ่านจะตกไปเองในขั้นตอนตรวจสอบการประดิษฐ์ หรือหากยื่นสารสังเคราะห์ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เป็นสูตรใหม่จริง ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรหลายข้อ ทั้งสารสกัดเเละสารสังเคราะห์